Local to Global : วิสัยทัศน์อีสาน บัวแก้วสร้างสะพานเชื่อมไทยสู่โลก

Local to Global : วิสัยทัศน์อีสาน
บัวแก้วสร้างสะพานเชื่อมไทยสู่โลก

เมื่อไม่นานมานี้กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เพิ่งจัดงาน Local to Global : Visions of Isan ซึ่งมีความน่าสนใจอย่างยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่แนวคิดในการจัดงานดังกล่าว ซึ่ง นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจฯ ให้คำจำกัดความว่า “นี่ไม่ใช่การจัดงานแสดงสินค้า แต่เป็นการเอาศักยภาพมาชนกับโอกาส” ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การบินไทย และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

อธิบดีเชิดชายกล่าวว่า ภาคอีสานมีศักยภาพอยู่มากมาย มีประชากร 1 ใน 3 ของประเทศไทย มีพื้นที่ใหญ่กว่าสิงคโปร์ 200 เท่า มีทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งการเรียนรู้ ความเจริญ กล่าวได้ว่ามีขนาดใหญ่เท่ากับพื้นที่ของประเทศประเทศหนึ่ง แต่รายได้ประชากรต่อหัวรวมถึงจีดีพียังน้อยมาก คิดเป็นแค่ร้อยละ 10 ของประเทศ โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยว เราประเมินว่าช่วงโควิด-19 ธุรกิจท้องถิ่นได้รับผลกระทบมาก ทั้งที่จริงธุรกิจท้องถิ่นของไทยมีศักยภาพมาก โดยเฉพาะในด้านนวัตกรรม หรือสินค้าชุมชนที่มีเรื่องราวน่าสนใจ

วิสัยทัศน์อีสาน (Visions of Isan) คือวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่จะเชื่อมโยงศักยภาพของอีสาน โดยใช้ outlet ของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อสร้างสะพานความคิดที่เป็นของท้องถิ่น (local)ไปสู่ระดับโลก (global) เพื่อเพิ่มรายได้ใน 3 เสา ได้แก่ 1.ท่องเที่ยว 2.การค้าขาย ทั้งในระดับ SME Micro หรือ Startup สินค้าและบริการ 3.ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม สินค้าที่ใช้งานวิจัยพัฒนา ทั้งในระดับ startup และธุรกิจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ และช่องทางในการเข้าสู่ตลาดสากล ให้ท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์จากช่องทางต่างๆ ที่กระทรวงการต่างประเทศมีเพื่อเชื่อมออกไปสู่เวทีโลก

ภายในงานมีการจัดสัมมนาแบบ hybrid ที่น่าสนใจขึ้นถึง 3 เวที ซึ่งเป็นการพูดคุยในห้องเสวนาและถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์สู่สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ทั่วโลก ภายใต้แนวคิด Local to MFA and Team Thailand โดยมีวิทยากรทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ผู้แทนสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ได้ให้มุมมองการติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการจากอีสานที่น่าสนใจมากมาย

Advertisement

การเสวนาช่วงที่ 1 ในหัวข้อ “อีสานก้าวหน้า ทูตพาไปสากล” ซึ่งเน้นไปที่นโยบายภาครัฐรวมถึงข้อมูลแนวโน้มตลาดต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจรากฐานสู่สากล นายชุตินทร คงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า โควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนให้เราทบทวนสิ่งที่ทำมาและหันมาสนใจด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้น ไทยต้องปรับการตลาดแบบเดิมที่เน้นขายแต่ความเป็นไทย มาเป็นเรื่องรวใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืน คุณภาพชีวิต การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งการใช้มิติดิจิทัลเพื่อขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงตลาดและปรับผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของตลาดผู้บริโภคมากขึ้น เราต้องยกระดับคุณภาพและหาจุดเด่นให้ผลิตภัณฑ์ไทยที่ทำให้โดดเด่นออกมาจากผลิตภัณฑ์จากประเทศอื่น และขยายช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางดิจิทัล และเร่งขยายตลาดผ่านการทำความตกลงเขตการค้าเสรี

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยร่วมติดอาวุธให้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพสู่ตลาดโลก โดยเชื่อมกำลังซื้อกับเอกลักษณ์ภาคอีสาน เพิ่มขีดความสามารถ SMEs ส่งเสริมให้ผลิตสินค้าตามความต้องการตลาด และมีการนำเสนอสินค้ามีคุณภาพในต่างประเทศ ทั้งนี้เห็นว่าภาคอีสานมีจุดขายมากมาย ทั้งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเป็นมิตรของผู้คน ค่าครองชีพถูก อาหารอีสานและข้าวหอมมะลิอร่อย มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติต่ำ และเป็นจุดเชื่อมต่อที่ช่วยเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและตลาดจีน มีโครงการรถไฟความเร็วสูง มีเส้นทางเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและยังมีความพร้อมของสนามบินนานาชาติ

Advertisement

รองปลัดนิรัตน์กล่าวว่า เราสามารถส่งเสริมภาคอีสานได้ในหลายแนวทาง ตั้งแต่การส่งเสริมให้อาหารอีสานเป็นครัวที่มีคุณภาพของโลก การพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าทอ ส่งเสริมเรื่องสมุนไพรเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์รองรับการเชื่อมต่อ ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเลือก และส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติมองภาคอีสานเป็นจุดเชื่อมต่อด้านของความเชื่อมโยงในภูมิภาค พร้อมเสนอให้ส่งเสริมการใช้อี-คอมเมิร์ช และพัฒนาทักษะการทำตลาดออนไลน์ โดยเฉพาะสำหรับ SMEs และมุ่งผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์เรื่องการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ชี้ช่องทางให้ผู้ประกอบการและภาคเอกชนไทยทำความเข้าใจและพัฒนาด้านการตลาดในอังกฤษและในยุโรปที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงด้วยผลของโควิด-19 ได้แก่ ตลาดที่เปลี่ยนไปเป็นระบบออนไลน์สมบูรณ์แบบ พิจารณาวิธีการประชาสัมพันธ์ผลผลิตอย่างชาญฉลาดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าไทยโดยอาศัยการสร้างเรื่องเล่าที่น่าเชื่อถือ (“story to tell”) และพิสูจน์ได้ ศึกษาเงื่อนไขใหม่ของตลาดที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบซื้อขายและรสนิยมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ปรับปรุงการทำฉลากและบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับรสนิยมของตลาดและพฤติกรรมของผู้ซื้อ ที่ให้ความสำคัญและใส่ใจกับเรื่องการลดโลกร้อน การลดมลพิษ การลดขยะที่ไม่จำเป็น มีขนาดและปริมาณที่พอเหมาะสำหรับระบบการค้าออนไลน์ ข้อมูลด้านโภชนาการ คุณประโยชน์ต่อสุขภาพ ฯลฯ ตลอดจนให้ความสนใจกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูง อาทิ โปรตีนและอาหารเสริมจากพืช (plant-based protein) อาหารสำหรับกลุ่มผู้บริโภคชาววีแกน (ไม่บริโภคเนื้อสัตว์อย่างเคร่งครัด) อาหารอัจฉริยะ(superfood/smartfood) ซึ่งสถานทูตและทีมประเทศไทยในสหราชอาณาจักรพร้อมช่วยอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลและคำแนะนำในพื้นที่แก่ผู้ประกอบการที่สนใจเสมอ

การเสวนาในช่วงที่ 2 หัวข้อ “อีสานครบเครื่อง มุ่งหน้าสู่สากล” ได้พูดถึงบทบาทและเครื่องมือของหน่วยงานที่มีภารกิจสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยผู้เสวนาได้เน้นว่า หลังโควิด-19 ผู้ประกอบการ SMEs ต้องมีกลยุทธ์ในการปรับตัว โดยต้องสร้างความแตกต่างในการนำเสนอสินค้าแก่ลูกค้า ซึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางที่แพร่หลาย สะดวก และกำลังเติบโตอย่างมากในปัจจุบัน การค้าแบบอี-คอมเมิร์ซที่จะขยายฐานจำนวนลูกค้าทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิผล และเป็นโอกาสในการส่งออกที่ดี เนื่องจากวัฒนธรรมอีสานนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและโดดเด่นอย่างมาก ทั้งด้านอาหาร สื่อและความบันเทิง รวมถึงการทอผ้า

เมื่อผนวกกับแนวโน้มของคนรุ่นใหม่ในการนำความรู้ ความสามารถกลับไปพัฒนาชุมชนท้องถิ่นแล้ว ภูมิภาคอีสานจึงเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสในการเติบโตด้านการส่งออกสูง โดยเฉพาะสินค้าด้านการเกษตรกรรมที่สร้างสรรค์ และเป็นที่ต้องการจากตลาดโลกเนื่องจากแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ โดยสามารถแสวงหาความร่วมมือและความสนับสนุนจากองค์กรที่สามารถเป็นสะพานเพื่อเชื่อมอีสานไปยังตลาดสากลทั้งในเรื่องการตลาด แหล่งเงินลงทุน และการส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และบริษัท บีแอลไอ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของอาลีบาบาในประเทศไทย

การเสวนาในช่วงที่ 3 คือหัวข้อ “อีสานทีเด็ด เจาะตลาดสากล” เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจในภาคอีสานมานำเสนอประสบการณ์ และแสดงศักยภาพที่จะออกสู่ตลาดโลกและเป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ ประกอบด้วย น.ส.รุจิรา ล่านสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฅนค้นแมลง ผู้ก่อตั้ง บริษัท Siam Tech Farm ที่ได้ปรับใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าในการประกอบธุรกิจจากจิ้งหรีดแปรรูปและโปรตีนจากจิ้งหรีด ภาคบริการด้านการท่องเที่ยวจาก นายสมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบ.โลเคิลอไลค์ จำกัด สตาร์ทอัพกับการสร้างการท่องเที่ยวท้องถิ่นแบบยั่งยืน และ นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย บ. ขอนแก่นพัฒนาเมือง ที่พัฒนาเมืองและระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นอย่างรอบด้านกับขอนแก่นสมาร์ทซิตี้

ขณะที่ในช่วงเย็นมีการจัดงานเลี้ยงรับรองที่มีการแสดงศักยภาพที่น่าสนใจของหลายจังหวัดในภาคอีสาน ประกอบด้วย ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร และหนองคาย โดยมีคณะทูตต่างประเทศมาร่วมรับรู้ถึงศักยภาพของอีสาน ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างดี

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า งานนี้เป็นเพียงครั้งแรกของการจัดงานภายใต้แนวคิด “Local to Global” ที่จะเชื่อมธุรกิจท้องถิ่นไทยไปสู่ตลาดโลก ซึ่งหวังว่าจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ก่อผลสำเร็จทั้งในด้านการค้า การลงทุน การประกอบธุรกิจ นวัตกรรม แลละการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image