ผู้แทนการค้ามะกัน จับเข่าถก ไฟเซอร์-แอสตร้าเซนเนก้า ขอระงับใช้สิทธิบัตร ปูทางชาติกำลังพัฒนาผลิตวัคซีนเอง

แฟ้มภาพรอยเตอร์

ผู้แทนการค้ามะกัน จับเข่าถก ไฟเซอร์-แอสตร้าเซนเนก้า ขอระงับใช้สิทธิบัตร ปูทางชาติกำลังพัฒนาผลิตวัคซีนเอง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา นางแคเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ได้พูดคุยผ่านระบบติดต่อทางไกลกับนายแพทย์ อัลเบิร์ต บูร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทไฟเซอร์จำกัด ผู้ร่วมพัฒนาและผลิตวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค เพื่อป้องกันโควิด-19 และ นายแพทย์ รุด ด็อบเบอร์ หัวหน้าสำนักงานธุรกิจประจำสหรัฐอเมริกาของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 อีกราย เพื่อหารือกันถึงข้อเสนอให้บริษัทผู้พัฒนาและผลิตวัคซีนที่ประสบความสำเร็จสูงในการป้องกันโควิด-19 ให้ระงับใช้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาบางส่วน เพื่อเปิดทางให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพสามารถนำสูตรวัคซีนไปผลิตเองได้

ข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่ผู้แทนของแอฟริกาใต้ และ อินเดีย เสนอต่อที่ประชุมองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เพื่อให้ดับเบิลยูทีโอ ระงับใช้บางมาตรการใน “ความตกลงว่าด้วยสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า” หรือ ทริปส์ ซึ่งจะมีการพิจารณาในวันที่ 30 เมษายนนี้ โดยที่สหรัฐอเมริกาและชาติมหาอำนาจบางประเทศแสดงท่าทีคัดค้านความเคลื่อนไหวดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม บรรดาสมาชิกสภาคองเกรสของพรรคเดโมแครตบางกลุ่ม รวมทั้งอดีตประมุขของประเทศ 60 ประเทศและผู้ที่เคยรับรางวัลโนเบล 100 คนเข้าชื่อกันเรียกร้องให้ประธานาธิบดี โจไบเดน หันมาสนับสนุนข้อเสนอระงับใช้สิทธิบางส่วนดังกล่าวนี้

ทั้งนี้แม้ว่า นางเจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า ยังไม่มีความคืบหน้าในกรณีดังกล่าว แต่การพบหารือออนไลน์ระหว่างนางไท กับ ไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้า ก็สะท้อนถึงความพยายามดำเนินการอย่างจริงจังในประเด็นนี้ หลังจากที่นางไท พบหารือกับกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุน รวมไปถึงผู้บริหารในแวดวงอุตสาหกรรมและอื่นๆ มาก่อนหน้า

Advertisement

นางไท เคยแถลงต่อที่ประชุมดับเบิลยูทีโอเมื่อต้นเดือนเมษายนนี้ว่า ช่องว่างในการเข้าถึงเวชภัณฑ์และยาระหว่างชาติพัฒนาแล้วกับชาติกำลังพัฒนานั้น “เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง” และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเสียสละ เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้

รอยเตอร์ระบุว่า ในการหารือกับดร.บูร์ลาจากไฟเซอร์ นางไทได้เน้นย้ำถึงพันธะของตนเองที่จะทำงานกับชาติสมาชิกดับเบิลยูทีโออื่นๆ ให้ร่วมมือกันตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวทั้งโลก ทั้งนี้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) เปิดเผยว่า พันธะดังกล่าวนั้นรวมถึง “การให้บทบาทต่อประเทศกำลังพัฒนามีส่วนร่วมในการแก้ไขเพื่อลดช่องว่าระหว่างการผลิตและการกระจายวัคซีน” อีกด้วย

ยูเอสทีอาร์ เปิดเผยว่า นอกจากนั้นนางไท ยังได้หารือประเด็นดังกล่าวกับดร.ด็อบเบอร์ และหยิบยกกรณีที่สหรัฐอเมริกาเตรียมส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 60 ล้านโดสให้กับประเทศที่ต้องการ รวมถึงการหารือเรื่อง การเพิ่มการผลิตวัคซีน ประเด็นด้านสุขภาพทั่วโลก และการระงับใช้สิทธิบางส่วนตามที่มีการเสนอมาอีกด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image