สกู๊ปหน้า 1 : “ยาเม็ด” ต้านโควิด ความฝันยิ่งใหญ่ ลุ้นเป็นจริงเร็ววัน

สกู๊ปหน้า 1 : “ยาเม็ด” ต้านโควิด ความฝันยิ่งใหญ่ ลุ้นเป็นจริงเร็ววัน

โควิด-19 โรคระบาดใหญ่แห่งศตวรรษ ระบาดมานานปีเศษแล้ว ส่งผลให้กระบวนการพัฒนาวัคซีน ถูกยกระดับและเร่งความเร็วขึ้นสูงสุด จนเกิดวัคซีน ที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาได้จำนวนหนึ่ง

แต่ในเวลาเดียวกัน ทั่วทั้งโลก ยังไม่มี “ยา” ป้องกันหรือรักษาโควิด-19 โดยตรงเลยแม้แต่ตัวเดียว
ยาทุกตัวที่ใช้กันอยู่ในกระบวนการเยียวยาผู้ป่วยโควิดในปัจจุบันนี้ ล้วนแต่เป็นยาที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อรักษาโรคอื่นๆ แต่ถูกนำมาปรับใช้เป็นการเฉพาะหน้าเท่านั้น

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะกระบวนการพัฒนายา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาสำหรับต้านไวรัส(แอนติไวรัส) ไม่เพียงแต่ละเอียดและซับซ้อนอย่างยิ่งเท่านั้น ยังต้องอาศัยความแม่นยำสูงยิ่งด้วยอีกต่างหาก

ยิ่งตั้งเป้าให้เป็น “ยาเม็ด” สำหรับใช้กันได้ทั่วไปตามบ้าน ลดการพึ่งพาแพทย์และโรงพยาบาลลง ยิ่งต้องละเอียดและแม่นยำในระดับสูงสุด

Advertisement

อะไรบางอย่างอาจเกิดผิดพลาด บกพร่อง ที่สามารถกลายเป็นหายนะขึ้นได้ในหลายต่อหลายขั้นตอนในกระบวนการพัฒนายาต้านไวรัส ซึ่งอาจส่งผลให้ตัวยาที่ได้ “อ่อน” เกินไปในการยับยั้งไวรัสไม่ให้แพร่ หรือเป็นอันตรายต่อผู้ใช้มากจนเกินไปก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น

ทั้งยังอาจกลายเป็นยาที่ก่อให้เกิดอันตรายสูงสุดขึ้นมาได้ นั่นคือทำให้เกิดการ “ดื้อยา” เพราะไวรัส โดยเฉพาะในกลุ่มโคโรนาไวรัส วิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา

นั่นเป็นความยากของการพัฒนายารักษาโรคโดยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในขณะที่มี “การระบาดใหญ่” เกิดขึ้นเหมือนเช่นในเวลานี้หรือไม่ก็ตาม

Advertisement

แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีบริษัทหรือหน่วยงานทางการของประเทศใดให้ความสนใจในการพัฒนายารักษาโควิดดังกล่าว

รัฐบาลสหราชอาณาจักร (ยูเค) ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากจนถึงกับสั่งการให้จัดตั้ง “คณะทำงานเฉพาะกิจ” ขึ้นเพื่อค้นหาและพัฒนายารักษาโควิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันมานี่เอง

ในส่วนของบริษัทเภสัชกรรม ก็มีผู้ผลิตไม่น้อยทุ่มความสนใจให้กับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ที่มีผลลัพธ์คืบหน้ามากที่สุด จนสามารถก้าวผ่านการทดลองในห้องปฏิบัติการทดลอง การทดลองในสัตว์ จนมาถึงระดับการทดลองในคนได้ เท่าที่เปิดเผยกันมีเพียง 3 รายเท่านั้นในเวลานี้

ตัวแรกคือยาชื่อ “โมลนูพิราเวียร์” ซึ่ง เมิร์ค และ ริดจ์แบค ไบโอเธราพิวติคส์ ร่วมกันพัฒนาขึ้น จัดเป็นยาในกลุ่ม “นิวคลีโอไทด์ อนาล็อก” (Nucleotide analogues) ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการก๊อบปี้อาร์เอ็นเอของไวรัส อยู่ระหว่างการทดลองในคนระยะที่ 2 โดยมีกลุ่มอาสาสมัครเป็นกลุ่มตัวอย่างในการทดลองราว 3,000 คน

คาดกันว่าจะมีการเผยแพร่ผลการทดลองในคนระยะแรกที่ใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดย่อมในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้

ตัวที่สอง คือยาชื่อ “เอที-527” ที่พัฒนาโดย เอเทีย ฟาร์มาซูติคอลส์ โดยพัฒนาเพิ่มเติมมาจากยาต้านไวรัสที่ประสบความสำเร็จแต่เดิมของบริษัท เป็นยาในกลุ่ม “โปรตีเอส อินฮิบิเตอร์” (protease inhibitor) ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการเกิดเอ็นไซม์ ซึ่งไวรัสใช้ในการแบ่งตัว ขยายพันธุ์ ทำนองเดียวกับยาสำหรับโรคตับอักเสบ ซี

“เอที-527” อยู่ระหว่างการวางแผนการทดลองในคนในระยะที่ 3 หลังจากผลของระยะที่ 2 แสดงว่า ยาให้ผลดีต่อผู้ป่วยทั้งในและนอกโรงพยาบาล
ข้อที่น่าสังเกตสำหรับ “โมลนูพิราเวียร์” และ “เอที-527” ก็คือ ยาทั้งสองตัว ไม่ได้พัฒนาขึ้นมาเฉพาะ “ซาร์ส-โควี-2” ซึ่งเป็นไวรัสก่อโรคโควิด-19 อีกเช่นเดียวกัน

แองเจลา ราสมุสเซน นักไวรัสวิทยาจากศูนย์เพื่อความปลอดภัยและวิทยาศาสตร์สุขภาพโลก ของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ในสหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตถึงยาที่ถูกปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์เหล่านี้
เอาไว้ว่า

“บ่อยครั้ง เมื่อนำมาใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ได้ผล แม้ในทางกฤษฎีควรจะให้ผลดีเยี่ยมก็ตาม”

นั่นทำให้ยาที่อยู่ระหว่างการพัฒนา โดยใช้ชื่อรหัสว่า “พีเอฟ-07321332” ของบริษัทไฟเซอร์ ยักษ์ใหญ่ในแวดวงเภสัชกรรมของโลก กลายเป็นยาตัวแรกและตัวเดียวเท่านั้นในเวลานี้ที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับต่อต้าน “ซาร์ส-โควี-2” โดยตรง

“พีเอฟ-07321332” จัดเป็นยาในกลุ่ม “โปรติเอส อินฮิบิเตอร์” เช่นเดียวกัน ส่วนประกอบสำคัญเป็นโมเลกุลสังเคราะห์ ที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์ “3ซีแอล” หรือ “3-ไคโมทริปซิน-ไลค์ ซิสเตอีน โปรตีเอส” (3-chymotrypsin-like cysteine protease -3CL) ซึ่งเป็นโปรตีนเอ็นไซม์สำคัญที่ไวรัสสร้างขึ้นสำหรับการแบ่งตัวเพื่อแพร่พันธุ์และดำรงชีพ

หลักการทำงานของยาชนิดนี้ เป็นแบบเดียวกับหลักการทำงานของยาที่พัฒนาขึ้นมาใช้และประสบผลสำเร็จในการจัดการกับเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์นั่นเอง

องค์ประกอบทั้งหลายของ “พีเอฟ-07321332” ยังคงถูกปกปิดอยู่ในเวลานี้ แต่ ดาฟิดด์ โอเวน ผู้อำนวยการด้านเคมีภัณฑ์เพื่อการแพทย์ ของไฟเซอร์ ระบุว่า ทั้งหมดถูกสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่หมดในระหว่างที่โควิด-19 กำลังอาละวาดอย่างหนักเมื่อปีที่ผ่านมา

ปลายเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา ไฟเซอร์สามารถผลิตสารประกอบสำคัญที่เป็นตัวยานี้ขึ้นมาได้เพียง 7 มิลลิกรัม ขนาดไม่ใหญ่กว่าหยดน้ำ ปลายเดือนตุลาคม ปริมาณที่ได้เพิ่มเป็น 100 กรัม ก่อนที่จะเพิ่มเป็นกว่า 1 กิโลกรัมในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา โดยใช้ทีมวิจัยทำงานหนักร่วมกันมากถึง 210 คนเลยทีเดียว

ไฟเซอร์เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “พีเอฟ-07321332” กำลังอยู่ระหว่างการทดลองในคนในระยะที่ 1 ในสหรัฐอเมริกาและเบลเยียม จำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองระยะแรกนี้คือ 60 คน อายุระหว่าง 18-60 ปี โดยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด

เทเลกราฟ หนังสือพิมพ์รายวันในอังกฤษซึ่งได้รับเอกสารรายละเอียดว่าด้วยการทดลองในคนของไฟเซอร์มาศึกษา ระบุว่า ไฟเซอร์กำหนดใช้ระยะเวลาในการทดลองในคนทั้ง 3 ระยะเพียง 145 วัน แยกออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน

เฟสที่ 1 ของการทดลอง ออกแบบมาเพื่อดูว่าร่างกายของกลุ่มตัวอย่าง สามารถทนต่อปริมาณยาได้หรือไม่ ในกรณีที่ปริมาณยาหรือโดสเพิ่มขึ้น ทั้งจากการเพิ่มปริมาณยาขึ้นเอง หรือการเพิ่มขึ้นของตัวยาจากการใช้ร่วมกับ “บูสเตอร์” ซึ่งกำหนดไว้ว่าเป็น “ริโทนาเวียร์” ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวี, ดูว่า เมื่อให้ยาแล้วมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นหรือไม่ หรือมีปฏิกิริยาในทางลบต่อยาเกิดขึ้นหรือไม่, และกลุ่มตัวอย่าง รู้สึกอย่างไรบ้างเมื่อได้รับยา เป็นต้น

เฟสที่ 2 ทดสอบเพื่อหาผลลัพธ์ในทำนองเดียวกันนั้น เพียงแต่ยาที่ให้จะเปลี่ยนเป็นแบบ “มัลติเพิล โดส” กล่าวคือในกรณีเป็นยาเม็ดก็จะให้เพิ่มเป็นหลายเม็ด

เฟสที่ 3 ซึ่งเป็นเฟสสุดท้ายนั้น จะเป็นการทดลองยาทั้งที่เป็น “เม็ด” และ “น้ำ” รวมถึงการดูผลกระทบต่อยาที่เกิดกับอาหารที่กินเข้าไปอีกด้วย

นั่นทำให้การทดลองระยะที่ 3 มีการกำหนดรายละเอียดไว้ล่วงหน้าอย่างละเอียดยิบ รวมไปถึงอาหารที่กลุ่มตัวอย่างจะต้องกิน อาทิ อาหารเช้า ต้องมีไขมันสูงโดยต้องประกอบด้วย “ไข่ดาวทอดในเนย 2 ฟอง, เบคอน 2 ชิ้น, ขนมปังปิ้งทาเนย 2 ชิ้น, มันบด 4 ออนซ์ และนมโฮลมิลค์ 8 ออนซ์…ต้องกินทั้งหมดภายใน 20 นาที” เป็นต้น

หลังเสร็จสิ้นการทดลองระยะที่ 3 แล้ว
ไฟเซอร์กำหนดเวลาไว้อีก 28 วันสำหรับ “กลั่นกรองข้อมูลและกำหนดโดส” ของยาที่ได้จากผลการทดลองทั้งหมด

นั่นหมายความว่า หากทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี “พีเอฟ-07321332” ก็อาจสามารถยื่นขออนุมัติเพื่อใช้ยาได้ภายในปี 2564 นี้

ไมเคิล โดลสเตน ประธานเจ้าหน้าที่ทางวิทยาศาสตร์ (ซีเอสโอ) ของไฟเซอร์ บอกว่า “พีเอฟ-07321332” ถูกออกแบบมาให้เป็น “ยาสำหรับรับประทาน” ที่แพทย์สามารถสั่งจ่ายให้กับคนทั่วไปได้ทันทีที่วินิจฉัยได้แน่ชัดว่าติดเชื้อ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการดูแลอย่างต่อเนื่องในโรงพยาบาล หรือห้องผู้ป่วยวิกฤต เพราะต้องให้ยาเข้าเส้นเลือดดำนานครั้งละเป็นชั่วโมง

“เป็นยาที่กินเองได้ที่บ้านตามคำสั่งของแพทย์ ที่นอกจากจะช่วยลดภาระของโรงพยาบาลและแพทย์ลงมหาศาลแล้ว ยังทำให้การ “ล็อกดาวน์” ไม่จำเป็นอีกต่อไป” ไมเคิลระบุ

ถือเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่อย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์ “การแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด” เช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image