วิเทศวิถี : เมียนมากับอาเซียน

REUTERS

วิเทศวิถี : เมียนมากับอาเซียน

เป็นเวลา 1 สัปดาห์หลังการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 16 เดือนที่ผู้นำอาเซียนเดินทางมาร่วมประชุมกันแบบเห็นหน้าเห็นตาผ่านพ้นไป แม้ว่าผู้นำอาเซียนจะไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมครบทุกประเทศ แต่สาระที่ได้มาจากการหารือครั้งนี้ก็ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดทั้งต่อความพยายามในการช่วยหาทางออกให้กับสถานการณ์ในเมียนมา และสำหรับอาเซียนในฐานะองค์กรความร่วมมือของอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผู้นำอาเซียนและผู้แทนพิเศษของผู้นำประเทศที่ได้รับมอบหมายให้ร่วมเดินทางไปหารือ ซึ่งรวมถึง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนพิเศษของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยกันในหลายประเด็นที่มีความสำคัญสำหรับอาเซียน ตั้งแต่ความคืบหน้าของประชาคมอาเซียนและสนับสนุนการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของบรูไน ภายใต้หัวข้อหลัก “เราห่วงใย เราเตรียมพร้อม เรารุ่งเรือง” (We care, We prepare, We prosper) การหารือเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนในการรับมือกับโควิด-19 เป็นต้น

แน่นอนว่าประเด็นที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือการหารือเกี่ยวกับเมียนมา ทั้งด้วยสถานการณ์ความรุนแรงและความสูญเสียที่้เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และยังรวมถึงการที่เวทีนี้เป็นเวทีระหว่างประเทศแรกที่ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา และประธานสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา (เอสเอซี) เดินทางมาเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองหลังก่อเหตุยึดอำนาจเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ตามด้วยเหตุการณ์มากมายและความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างที่เราทุกคนเห็นกันอยู่

การหารืออย่างไม่เป็นทางการของผู้นำอาเซียนกินเวลานานกว่าที่กำหนดไว้นานเกือบ 1 ชั่วโมง แน่นอนว่าประเด็นที่มีการพูดคุยกันอย่างมากหนีไม่พ้นสถานการณ์ในเมียนมา กระนั้นบรรยากาศในการหารือเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เป็นการพูดคุยกันเพื่อนำเสนอหนทางที่จะช่วยกันหยุดยั้งความสูญเสีย และหาทางแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ใช้โอกาสนี้เพื่อชี้แจงเหตุผลในแง่มุมของตนเอง และรับฟังสิ่งที่ผู้นำอาเซียนต้องการจะบอกกล่าว ซึ่งเกือบทั้งหมดก็เป็นท่าทีที่มีการสะท้อนกันออกมาก่อนหน้านี้

Advertisement

ที่สุดแล้วหลังการประชุมจบลง บรูไน ในฐานะประธานอาเซียนได้ออกแถลงการณ์ของประธานเพื่อสรุปสาระสำคัญที่ผู้นำอาเซียนได้หารือกัน ในประเด็นของเมียนมาซึ่งเป็นที่จับตามองของทุกฝ่าย แถลงการณ์ระบุว่าผู้นำอาเซียนได้มีการหารือกันเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดในเมียนมา และแสดงความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีรายงานผู้เสียชีวิตและมีความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ผู้นำอาเซียนรับทราบถึงบทบาทในเชิงบวกและสร้างสรรค์เพื่อที่จะสนับสนุนให้มีการหาทางออกโดยสันติวิธีเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมาและเพื่อการดำรงชีวิตของพวกเขา ดังนั้นจึงมีฉันทามติใน 5 ประเด็นซึ่งแนบท้ายกับแถลงการณ์นี้ และผู้นำอาเซียนยังได้ยินเสียงเรียกร้องเพื่อให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมดรวมถึงชาวต่างชาติ

ขณะที่ฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียนที่แนบท้ายแถลงการณ์ดังกล่าว ประกอบด้วย 1.ต้องมีการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาทันที โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างที่สุด 2.ต้องมีการหารือที่สร้างสรรค์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้น เพื่อหาทางออกโดยสันติวิธีเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน 3.ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ในการเป็นสื่อกลางของกระบวนการหารือภายใต้การช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน 4.อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมผ่านศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน (AHA Center) และ5.ผู้แทนพิเศษรวมถึงคณะผู้แทนจะเดินทางเยือนเมียนมาเพื่อพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนของไทย นายดอนได้เสนอให้อาเซียนพิจารณาจัดตั้งกลุ่ม “เพื่อนประธาน” (Friends of the Chair) เพื่อช่วยประสานงานการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในเมียนมา โดยยึดแนวทาง D4D ได้แก่ การยุติความรุนแรง (de-escalate violence) การจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (delivery of humanitarian assistance) การปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง (discharge of detainees) และการหารือ (dialogue) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเรื่องการพัฒนา (development) อย่างยั่งยืนในเมียนมา

Advertisement

ข้อเสนอของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อเสนอของประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศที่มีการเสนอแนวคิดในการตั้งคณะผู้แทนของอาเซียนที่จะเข้าไปช่วยหาทางแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมาในรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่การที่บรูไนในฐานะประธานอาเซียนจะเข้าไปเอง ให้เลขาธิการอาเซียนเป็นผู้แทนเข้าไป การตั้งกลุ่มเพื่อนประธาน ใช้รูปแบบ ASEAN Troika คือมีผู้แทนจาก 3 ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นตัวแทน ไปจนถึงการตั้งผู้แทนพิเศษ ซึ่งเป็นตัวเลือกที่บรูไนในฐานะประธานอาเซียนเห็นว่าเหมาะสมที่สุดดังที่ปรากฎในฉันทามติข้างต้น

สิ่งที่สำคัญหลังจากนี้ไปคือการผลักดันฉันทามติที่ผู้นำอาเซียนให้ความเห็นชอบไปแล้วไปสู่การปฏิบัติจริง และที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือท่าทีของทหารเมียนมาว่าจะทำตามฉันทามติที่พลเอกมิน อ่อง ลาย มาร่วมพูดคุยและรับฟังด้วยตนเองหรือไม่

เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ได้มีถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการจากฝ่ายเมียนมาโดยเอสเอซี เกี่ยวกับการประชุมของผู้นำอาเซียนโดยกำหนดเงื่อนไขว่า จะดำเนินการตามข้อเรียกร้องของอาเซียนว่าด้วยการยุติการใช้ความรุนแรง และข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์ของผู้นำอาเซียนก็ต่อเมื่อประเทศ “กลับคืนสู่เสถียรภาพ” แล้วเท่านั้น และจะพิจารณาข้อเสนอไปในทางบวก ถ้าหากอาเซียนจะเอื้ออำนวยให้ข้อเสนอเหล่านั้นเป็นไปในทางปฏิบัติได้ ขณะที่ พลจัตวา ซอ มิน ตุน โฆษกของเอสเอซี ให้สัมภาษณ์ว่า เอสเอซี “พอใจ” กับการเดินทางไปร่วมประชุมครั้งนี้ เพราะช่วยให้เอสเอซีสามารถอธิบาย “สถานการณ์ที่แท้จริง” ต่อบรรดาผู้นำอาเซียนได้

แม้จะมีความไม่พอใจสะท้อนออกมาจากชาวเมียนมาหรือกระทั่งองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ระบุว่า อาเซียนไม่เรียกร้องการฟื้นคืนประชาธิปไตยกลับสู่เมียนมา ไม่บอกให้ทหารเมียนมาเคารพผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อนที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของ นางออง ซาน ซูจี ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย ไม่ระบุถึงการปล่อยตัวซูจีและนักโทษการเมืองทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือพูดถึงการนำตัวผู้สังหารประชาชนมารับโทษ แม้กระทั่งตำหนิว่าการประชุมครั้งนี้กลับไม่ให้ผู้แทนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา ซึ่งถือเป็นผู้แทนประชาชนที่แท้จริงมาเข้าร่วมด้วย

เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ว่าการประชุมผู้นำอาเซียนจะออกมาอย่างไร ย่อมต้องมีผู้ไม่พอใจและเห็นว่ายังมีประเด็นบางอย่างที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญและต้องการให้ปรากฎอยู่ในการหารือหรือในเอกสารอะไรบางอย่าง แม้ในความจริงแล้วไม่มีใครไม่รู้ว่า สถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ไขได้ในชั่วข้ามคืน หรือจะได้ข้อยุติในการประชุมผู้นำอาเซียนเพียงครั้งเดียว แต่อย่างน้อยก็ดูเหมือนว่าหลังเสร็จสิ้นการประชุมผู้นำอาเซียน รายงานข่าวเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงในเมียนมาก็ดูจะลดน้อยลง เหตุปะทะที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา หลังกองกำลังกระเหรี่ยงบุกยึดฐานที่มั่นของกองทัพเมียนมาในพื้นที่ดังกล่าว

ผู้ที่ติดตามอาเซียนมานานย่อมจะทราบดีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมผู้นำอาเซียนคราวนี้นับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำอาเซียนมีการหารือกันอย่างจริงจังเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศสมาชิกขณะที่สถานการณ์ยังคงคุกรุ่น ก้าวข้ามหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งเป็น “วิถีปฏิบัติ” ของอาเซียนมาอย่างยาวนาน จะน้อยจะมากนี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีและเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของอาเซียนที่อยากจะช่วยให้สถานการณ์ในเมียนมาบรรเทาเบาบางลง

การประชุมผู้นำอาเซียนที่เกิดขึ้นถูกมองว่าเป็นพัฒนาการเชิงบวกจากสหภาพยุโรปและออสเตรเลียที่ได้มีการออกแถลงการณ์เพื่อสะท้อนมุมมองต่อเรื่องที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าทุกคนตระหนักดีว่าการผลักดันให้สิ่งที่หารือนำไปสู่การปฏิบัติจริงต่างหากคือสิ่งที่ทุกคนเฝ้ารอและหวังให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ของประชาชาชาวเมียนมาทั้วมวล

ในระหว่างการเดินทางมาร่วมหารือกับผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา มีรายงานว่า พลเอกมิน อ่อง ลาย ยังได้หารือกับ นางคริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติในเรื่องเมียนมานานถึง 1.20 ชม. แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายพลเอกมิน อ่อง ลาย ที่รับฟังนางบูร์เกเนอร์เป็นหลักก็ตามที

หลังจากนี้ต้องให้เวลากับบรูไนในฐานะประธานอาเซียนที่จะขับเคลื่อนให้มีความคืบหน้าในการตั้งผู้แทนพิเศษขึ้นโดยเร็ว เพื่อที่จะได้มีการดำเนินการในขั้นตอนตามฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียนต่อไป และแม้จะไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนแต่เชื่อว่าจะอย่างไรความคืบหน้าที่ทุกฝ่ายอยากเห็น ก็ควรต้องเกิดขึ้นก่อนการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่จะมีขึ้นในต้นเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image