สกู๊ปหน้า 1 : ‘เจน Z’เมียนมา เข้าป่าจับปืน รบเพื่อเสรีภาพ

‘เจน Z’เมียนมา เข้าป่าจับปืน รบเพื่อเสรีภาพ

การยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาที่นำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ สอนบทเรียนสำคัญที่สุดบทหนึ่งให้กับสังคมเมียนมาโดยรวม นั่นคือ การปรองดองกับกองทัพกลายเป็นเป้าหมายทางการเมืองที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลอีกต่อไป

เช่นเดียวกับการสยบยอม ต่ออำนาจทหารก็ไม่มีวันก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีอีกแล้ว เพราะนี่ไม่ใช่การยึดอำนาจครั้งแรก ไม่ใช่การลุกฮือขึ้นมาต่อต้านทั่วประเทศเป็นครั้งแรก และไม่ใช่เป็นครั้งแรกเช่นกันที่ทหารเมียนมาอาศัยการเข่นฆ่าสังหารเป็นเครื่องมือทั้งเพื่อสร้างความหวั่นกลัวและกดดันให้ยอมสยบ

บทเรียนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในเหตุการณ์ “ลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยปี 1988” ก็ดี หรือเมื่อครั้งเกิดขบวนการ “สงฆ์ปฏิวัติ” เมื่อปี 2007 ก็ดี สอนให้ชาวเมียนมาตระหนักว่า ผู้ที่สูญเสีย ถูกเอารัดเอาเปรียบ เหยียบย่ำไว้ใต้ฝ่าเท้าอยู่ตลอดเวลา ก็คือ บรรดาพลเรือนทั้งหลายเท่านั้น ถ้าไม่สู้ในครั้งนี้ ก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับความคับแค้นตลอดไปเท่านั้นเอง

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมผู้ประท้วงหญิงชายชาวเมียนมาถึงได้องอาจกล้าหาญนัก ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าการเดินขบวนประท้วงทุกครั้ง ก็เหมือนกับการสุ่มเดินเข้าหาความตาย และเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมถึงไม่มีใครประหลาดใจนัก ที่เกิดกระบวนการจัดตั้ง “กองทัพประชาชน” ขึ้นภายในช่วงเวลาเพียง 2-3 เดือน ของการชุมนุมประท้วง เมื่อหนุ่มเหน้าสาวสวยจากตัวเมือง หันหน้าสู่ป่า จับปืนฝึกอาวุธ เพราะเชื่อว่าหนทางเดียวที่ดีที่สุดในเวลานี้ก็คือต่อสู้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับกองทัพเท่านั้น

Advertisement

มอน มอน ผู้ก่อตั้งกองกำลังที่เรียกตัวเองว่า “ยูไนเต็ด ดีเฟนซ์ ฟอร์ซ” (ยูดีเอฟ) บอกว่า ผู้ที่เข้าร่วมในการฝึกอาวุธ ฝึกยุทธวิธีสู้รบ จำนวนราว 250 คน ในเวลานี้ ก็คือบรรดาผู้ที่เคยอยู่ในขบวนการประท้วงทั้งหลายนั่นเอง สถานที่ฝึกคือในราวป่า ในพื้นที่อิทธิพลของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) องค์กรตัวแทนชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเอง แยกรัฐกะเหรี่ยงเป็นอิสระจากเมียนมามานานนับศตวรรษ

“เรามาที่นี่เพื่อฝึกวิชาการทางทหารเป็นเวลา 3 เดือน เป้าหมายของทั้งหมดตรงกันนั่นคือ จับอาวุธปฏิวัติ” เธอบอก “ส่วนใหญ่อายุยังแค่ 20 เศษๆ เป็นนักศึกษาด้วยกันทั้งนั้น มีผู้ใหญ่อยู่บ้าง อายุ 35 ปี 40 ปี แต่ส่วนมากแล้วเป็นเด็กเจนแซด”

คนหนุ่มสาวเหล่านี้เคยเป็นหน่วยหน้ากล้าตายอยู่หัวขบวนประท้วงในเมือง มีโล่ทำเองจากถังน้ำ และปืนลมทำเองจากท่อเอสลอนเท่านั้นเป็นอาวุธ “ลูกชายคนโตของฉันคือ 1 ใน 15 คนแรกที่ตัดสินใจลงฝึกหนนี้”

Advertisement

คนหนุ่มสาวเหล่านี้คือบรรดาผู้ที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์ประท้วงแบบนองเลือดในเมืองมาก่อน แต่ศึกษาและซึมซาบเรื่องราวทั้งหมดอันเป็นที่มาของอิสระเสรีที่พวกตนได้ลิ้มลองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามาเป็นอย่างดี ความคับแค้นคับข้องใจที่ได้เห็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ถูกเข่นฆ่าอย่างทารุณราวกับผักปลาต่อหน้าต่อตาจึงสูงมากเป็นพิเศษ

อย่างเช่น ชเว มิน นักศึกษาแพทยศาสตร์ วัย 24 จากมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งย่างกุ้ง ที่เล่าถึงวิธีการ “สลายการชุมนุม” ของทหารเมียนมาเอาไว้ว่า นอกจากกระหน่ำยิงแบบไม่เลือกแล้ว “พวกนั้นยังใช้ระเบิดมือ บางคนยังถึงกับใช้อาร์พีจีในการจัดการกวาดล้างพวกเรา”

เหตุการณ์ที่หนักหนาสาหัสที่สุดในความคิดของชเว มิน เกิดขึ้นเมื่อ 29 มีนาคม ที่ดากอนใต้เมืองลูกของย่างกุ้ง วันนั้นวันเดียวผู้ประท้วงที่นี่ล้มตายราวใบไม้ร่วง 30 ราย หลังจากกระสอบทรายและสิ่งกีดขวางของผู้ประท้วงถูกทหารลงมือทำลายด้วยระเบิด ในขณะที่ข่าวการไล่ล่า จับกุม ทารุณกรรม อุ้มผู้ประท้วงไปฆ่าเกิดขึ้นถี่ยิบ อีกสองวันหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารเมียนมา ฆ่าผู้ประท้วงทั่วประเทศไป วันเดียว 114 ราย ความอดทนของชเว มิน ขาดผึง

“พวกนั้นยิงสุ่มไม่เลือกหน้า ยิงเพื่อฆ่าเหมือนเป็นศัตรูกันมาแต่ไหนแต่ไร” เขาเล่า และว่า “พวกเราสติหลุดไปตามๆ กัน ทั้งโกรธ ทั้งหงุดหงิด เราจับพวกนั้นได้คนนึง รุมกันทุบตีกระทืบจนตาย เพราะขาดสติ” ต้นเดือนเมษายน ชเว มิน ออกเดินทางหลบๆ ซ่อนๆ มุ่งหน้าสู่ราวป่าชายแดนติดต่อกับประเทศไทย เข้าร่วมฝึกทหาร “ผมเหลือทางเลือกไม่มากนัก แค่เลือกเอาว่าจะถูกฆ่าหรือจะลงมือฆ่า”

ปะโด มาน มาน โฆษกของกองพลน้อยกองกำลังเคเอ็นยู ในพื้นที่บอกว่า เมื่อตอนที่ “อาสาสมัคร” เหล่านี้มาถึง เคเอ็นยูกำลังเริ่มต้นฝึก “ทหารใหม่” ในสังกัดของตนเองให้คุ้นเคยกับยุทธการแบบ “จรยุทธ์” อยู่พอดี

มอน มอน บอกว่า การฝึกทั้งหมดกินเวลานาน 3 เดือน หลังจากนั้นผู้ที่ผ่านการฝึกเหล่านี้จะถูกส่งกลับไปยัง “เซฟเฮาส์” และเริ่มต้นปฏิบัติการต่อต้านกองกำลังทหารเมียนมา “10 วันแรกเราฝึกพื้นฐานเบื้องต้นมากๆ ให้พวกเขาได้รู้ว่าจะประกอบกำลังกันอย่างไร จะสลายกำลังด้วยวิธีไหน ทั้ง 10 อนุญาตให้ยิงปืนได้แค่ 3 นัด เท่านั้น” การฝึกยิงปืนจะมีมาหลังจากนั้น “ราวเดือนครึ่ง เป็นการฝึกหนัก ทั้งยิงปืนและฝึกการใช้ระเบิด” มอน มอน บอก

คณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งรัฐ (ซีอาร์พีเอช)กลุ่ม ส.ส.พรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ที่ถูกขับพ้นสภาพเพราะรัฐประหาร ที่รวมตัวกันก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนประกาศจัดตั้งรัฐบาล “เงา” ขึ้นในเดือนเมษายน เจรจากับกองทัพชนกลุ่มน้อยต่างๆ เพื่อร่วมกันจัดตั้ง “กองทัพ” ของตนเองขึ้นต่อต้านกำลังทหารของกองทัพเมียนมา “ตัตมะดอ” กองทัพร่วมที่ว่านั้นยังอาจต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย

ไส ตุน ออง ลวิน นักวิเคราะห์กิจการชาติพันธุ์ สังกัดสถาบันปยีดองซู ในย่างกุ้ง เชื่อว่าอย่างน้อยเอ็นแอลดีต้องขจัดความเคลือบแคลง ในการไม่รักษาคำพูดต่อกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายให้ได้ก่อน แต่ในเวลานี้ กองกำลังติดอาวุธย่อมๆ ที่มีชุมชนเป็นพื้นฐาน มีการก่อตั้งขึ้นมากมาย ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วเมียนมา “ทุกคนต้องทำทุกอย่าง เท่าที่สามารถทำได้ เพื่อป้องกันตัวเอง ทุกคนรู้ภาระหน้าที่ดี” เขาบอก

ที่รัฐกะเหรี่ยง มอน มอน หัวหน้าสตรีผู้ก่อตั้งหน่วยรบยูเอฟดี ยืนยันว่าพวกเขาฝึกหนักมาก ไม่ใช่เพื่อพรรคไหนหรือเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการฝึกเพื่อต่อสู้กับระบบ ระบอบการปกครองของทหารโดยรวม ขณะที่เธอพูด คนหนุ่มสาวราว 120 คน กำลังวิ่งออกกำลังเป็นจังหวะตามการนำของครูผู้ฝึก

“พวกคุณกำลังทำอะไร?” ผู้ฝึกตะโกนเสียงดัง “เรากำลังฝึก” “ฝึกทำไม?”-“เพื่อสู้” “สู้เพื่อใคร”-“สู้เพื่อประชาชน” เสียงตะโกนตอบดังก้องจากราวป่ารัฐกะเหรี่ยง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image