เอ็นจีโอกว่า 200 องค์กร ร้องยูเอ็นคว่ำบาตร ห้ามขายค้าอาวุธให้เมียนมา

แฟ้มภาพเอเอฟพี

เอ็นจีโอกว่า 200 องค์กร ร้องยูเอ็นคว่ำบาตร ห้ามขายค้าอาวุธให้เมียนมา

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า องค์กรเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมกว่า 200 องค์กรทั่วโลก รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) เรียกร้องให้ประกาศคว่ำบาตรห้ามขายอาวุธให้กับเมียนมาเด็ดขาด เพื่อคุ้มครองพลเรือนที่ใช้การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร แต่ถูกปราบปรามกวาดล้างอย่างรุนแรง สังหารผู้ประท้วงไปหลายร้อยราย

ในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวระบุเอาไว้ว่า การห้ามทั่วโลกขายอาวุธให้กับเมียนมา ถือเป็นมาตรการขั้นต่ำที่สุดที่ยูเอ็นเอสซีจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อตอบโต้กับการใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมาที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงเวลาของการลงมติเพียงแค่ออกแถลงการณ์ได้ผ่านเลยไปแล้ว ยูเอ็นเอสซีจำเป็นต้องยกระดับฉันทามติขึ้นและมีมติในเชิงปฏิบัติการออกมาในทันที

รอยเตอร์ระบุว่า นักการทูตหลายคนให้ความเห็นตรงกันว่า ข้อเรียกร้องให้ยูเอ็นเอสซีมีมติดังกล่าวเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เพราะจีนและรัสเซีย ซึ่งเป็นชาติสมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซีที่มีสิทธิวีโต้ เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศสและอังกฤษ มักจะมีมติไม่เห็นด้วยเพื่อปกป้องเมียนมาจากมาตรการแข็งกร้าวของยูเอ็นเอสซี ก่อนหน้านี้นาย จาง จุ้น เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติของจีน เพิ่งให้ความเห็นไว้ว่า จีนไม่นิยมการใช้มาตรการแซงก์ชันเท่าใดนัก ถือเป็นทางออกสุดท้ายเท่านั้นในการแก้ไขความขัดแย้งต่างๆ

ด้านเอเอฟพีรายงานว่า ยูเอ็นเอสซี กำลังพิจารณาร่างมติของ ลิคเตนสไตน์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป, อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา และตุรกี อยู่นานหลายสัปดาห์แล้วยังไม่สามารถทำให้เกิดฉันทามติได้ เพราะในร่างของลิคเตนสไตน์ดังกล่าว มีข้อเรียกร้องให้ชาติสมาชิกยูเอ็น “ระงับการจัดหาอาวุธและกระสุนให้กับเมียนมาโดยทันที”อยู่ด้วยนั่นเอง

Advertisement

เว็บไซต์ อิรวดี รายงานในวันเดียวกันนี้ว่า พันโท ซอ กะเลอ โด โฆษกกองพลน้อยที่ 5 ของกองทัพเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นแอลเอ) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) เปิดเผยผลการสู้รบระหว่างกองพลน้อยที่ 5 กับ กองทัพเมียนมาในหลายพื้นที่ในรัฐกะเหรี่ยงระหว่างวันที่ 27 มีนาคมจนถึงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ว่า กองทัพกะเหรี่ยงสามารถสังหารทหารเมียนมาได้ถึง 194 นาย ซึ่งรวมทั้งนายทหารยศพันเอก 1 นาย ยศพันโทอีก 1 นาย โดยมีทหารเมียนมาอีก 220 นายได้รับบาดเจ็บ ส่วนกองกำลังกะเหรี่ยงเสียชีวิตไป 9 นายและได้รับบาดเจ็บ 10 นาย สามารถเข้ายึดฐานของกองพลทหารราบเบาที่ 349 ของเมียนมาในเขต ติมูตา ได้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ยึดและทำลายฐาน ตอเลตา ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน บริเวณตรงกันข้ามกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนของไทยได้ ในวันที่ 27 เมษายน

พ.ท.ซอ กะเลอ โด เปิดเผยด้วยว่าในช่วงราว 1 เดือนดังกล่าว เครื่องบินรบของกองทัพเมียนมาโจมตีพื้นที่ที่ตั้งของกองพลน้อยที่ 5 ทางอากาศรวม 27 เที่ยว ถล่มด้วยปืนใหญ่อีก 47 นัดและเกิดการปะทะกับกองกำลังกะเหรี่ยงรวมทั้งสิ้น 407 ครั้ง กองทัพเมียนมายังยิงปืนใหญ่ถล่มใส่พื้นที่ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านอีก 575 นัด ส่งผลให้ชาวบ้านเสียชีวิต 14 รายได้รับบาดเจ็บ 28 คน บ้านเรือนเสียหาย 20 หลังกับโรงเรียนอีก 2 โรง

ทั้งนี้กองทัพเมียนมายังคงเสริมกำลังทหารเข้ามาในพื้นที่สู้รบ โดยพื้นที่ซึ่งเกิดการปะทะกันหนักที่สุด ประกอบด้วยพื้นที่ พะปุน, ชเว จิน และท่าตอน เป็นเหตุให้มีผู้พลัดถิ่นอยู่ในรัฐกะเหรี่ยงราว 40,000 คน อีกราว 1,000 คนหลบหนีข้ามฝั่งสาละวินเข้ามาอยู่ภายใต้ความดูแลของทางการไทย

Advertisement

ทางด้านกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (ทีเอ็นแอลเอ) และ กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (เอ็มเอ็นดีเอเอ) ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่มรวมตัวกันขึ้น เผยกับ อิรวดี ด้วยว่า ทหารเมียนมาประสบความสูญเสียอย่างหนักจากการถูกโจมตีและปะทะกับกองกำลัง ทีเอ็นแอลเอ และ เอ็มเอ็นดีเอเอ ในพื้นที่รัฐฉานและคะฉิ่น เพื่อสนับสนุนกองกำลังของกองทัพคะฉิ่นอิสระ (เคไอเอ) ที่กำลังสู้รบกันอย่างหนักกับทหารเมียนมาในพื้นที่ดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image