ทริปส์กับวัคซีนโควิด ข้อถกเถียงแห่งศตวรรษ!

ภาพเอพี

ทริปส์กับวัคซีนโควิด ข้อถกเถียงแห่งศตวรรษ!

เหตุการณ์การแพร่ระบาดขั้นวิกฤตที่เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย ทำให้การถกเถียงที่ดุเดือด แหลมคม ซึ่งดำเนินไปอย่างเงียบๆ อยู่หลังฉากมาแล้วอย่างน้อย 10 ครั้งในหมู่ชาติสมาชิกขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) กลายเป็นประเด็นโต้แย้งกันในที่สาธารณะ บนหน้าหนังสือพิมพ์ ในพื้นที่สื่อหลากหลายประเภท อย่างเปิดเผยกันในเวลานี้

สถานการณ์ที่อินเดีย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากสาเหตุใด จากน้ำมือของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี้ หรือไม่ก็ตามที ผู้เชี่ยวชาญทุกคนเห็นตรงกันว่า สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ หากสามารถจัดการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้เร็วพอ และมากพอ

สภาพการเสียชีวิตของผู้คนวันละเป็นพันๆ คน ง่ายดายราวใบไม้ปลิดร่วงจากขั้ว จะไม่เกิดขึ้นหากอินเดีย ไม่เกิดขาดแคลนวัคซีนขึ้น

Advertisement

เกิดขึ้นทั้งๆ ที่เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย คือโรงงานผลิตวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดของโลก

แก่นของการถกเถียงที่เกิดขึ้นที่ ดับเบิลยูทีโอ อยู่ตรงที่ ข้อเสนอซึ่งร่วมกันจัดทำขึ้นของ 2 ประเทศคือ แอฟริกาใต้และอินเดีย เสนอให้ ชาติสมาชิกในดับเบิลยูทีโอ ทั้ง 164 ชาติ ร่วมกันระงับใช้ข้อกำหนดการค้าโลกตาม “ความตกลงว่าด้วยคุณลักษณะของสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า” เรียกกันง่ายๆ ว่า “ทริปส์” เป็นการชั่วคราว ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ วัคซีน, ยา, และ เวชภัณฑ์ (ชุดพีพีอี, ชุดตรวจหาเชื้อ, เครื่องช่วยหายใจ ฯลฯ) เฉพาะในช่วงของการระบาดใหญ่ของโควิด-19

การระงับใช้ข้อกำหนดตามทริปส์ที่เสนอมานั้น ครอบคลุมทั้ง “การออกแบบอุตสาหกรรม, ลิขสิทธิ์, และข้อกำหนดว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลที่ไม่เปิดเผย” ทั้งหมด โดยจะระงับใช้ไปจนกว่า “จะมีการฉีดวัคซีนแพร่หลายในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก และ ประชากรส่วนใหญ่ของโลกเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นแล้ว”

Advertisement

เป้าหมายของข้อเสนอดังกล่าวตรงไปตรงมาและชัดเจนมาก กล่าวคือ เพื่อเอื้อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จากประเทศพัฒนาแล้วไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาได้ง่ายขึ้น อำนวยให้ชาติพัฒนาที่รายได้น้อย สามารถร่วมอยู่ในกระบวนการผลิต วัคซีนก็ดี ยาก็ดี รวมไปถึงเวชภัณฑ์ทั้งหลายได้โดยไม่ต้องพะวักพะวงกับคดีความฟ้องร้อง ช่วยเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้ได้ผลผลิตที่จำเป็นเพิ่มขึ้นจนมากพอ และเร็วพอต่อการรับมือกับโรคระบาดใหญ่หนนี้

การถกกันที่เข้มข้นและตึงเครียดว่าด้วยเรื่องนี้ภายใต้การเป็นเจ้าภาพของดับเบิลยูทีโอ มีขึ้นมาแล้ว 10 ครั้งในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา…ไม่มีอะไรคืบหน้า

ความสำเร็จที่เร็วจนน่าทึ่งของการพัฒนาวัคซีนจากผู้ผลิตอย่าง ไฟเซอร์/ไบออนเท็ค, โมเดอร์นา, แอสตร้าเซนเนก้า เรื่อยมาจนถึง จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

ยิ่งทำให้ประเด็นที่ถกกันร้อนแทบลุกเป็นไฟ

ในนัดที่ถกกันเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ที่หนุนหลังข้อเสนอดังกล่าวเต็มที่ กระตุ้นด้วยคำถามที่โยนให้ทุกฝ่ายไปคิด

“ถ้าไม่ทำตอนนี้แล้วจะทำกันตอนไหน?”

เอ็นโกซี โอคอนโจ-ไอเวียลา ผู้อำนวยการดับเบิลยูทีโอ ตรงไปตรงมายิ่งกว่า เธอออกมาเรียกร้องเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาให้ทุกประเทศเร่งถก “แผน” เรื่องนี้กันโดยเร็ว

“ทั้งโลกกำลังจับตามอง แล้วคนก็ตายลงทุกวัน”

******

แน่นอนบรรดาประเทศมั่งคั่ง ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี อาทิ ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร (ยูเค), สหภาพยุโรป (อียู) รวมทั้งประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอียู อย่างเยอรมนี, ชาติสมาชิกเขตเศรษฐกิจยุโรป (อีซี) อย่าง สวิตเซอร์แลนด์ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ว่านี้

บางประเทศถึงกับไม่ยอมเข้าร่วมในการเจรจาด้วยซ้ำไป

เหตุผลหลักที่ทุกประเทศอ้างในการปฏิเสธคำขอดังกล่าวนี้ก็คือ การระงับใช้ทริปส์ แม้จะเป็นการชั่วคราว แต่สามารถส่งผลกระทบบั่นทอนนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ในอนาคต นักลงทุนเอกชนจะเมิน ไม่ลงทุนเพื่อการค้นคว้าวิจัยในอุตสาหกรรมนี้อีกต่อไป

ถัดมา เป็นเรื่องของ “ขีดความสามารถ” ของบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ที่ไม่มีทั้งบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือในระดับสูงมากพอที่จะรองรับความ “ใหม่” และ “ละเอียดอ่อน” สำหรับการผลิตให้ได้ผลงานในระดับเดียวกันกับที่ผลิตในประเทศพัฒนาแล้ว การ “เซ็ตอัพ” ทั้งหมดขึ้นมาใหม่อาจจำเป็นต้องใช้เวลานานเป็นปี

ข้อเสนอของแอฟริกาใต้และอินเดีย จึงไม่ได้ช่วยเพิ่มปริมาณของผลิตภัณฑ์อย่าง วัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือ ยารักษาโควิดขึ้นได้มากพออย่างที่ต้องการแต่อย่างใด

ล็อบบี้ยิสต์ของอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ระดับโลก อ้างว่า ดับเบิลยูทีโอ มีทางออกในเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้ว เพราะมีข้อกำหนดให้ผู้พัฒนายาหรือวัคซีนต้นแบบ ตกลงกันแบบสองฝ่ายกับผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อการผลิตยาหรือวัคซีนสามัญ ขึ้นเองภายใต้ข้อตกลงร่วมดังกล่าว

ตัวอย่างเช่น กรณีของสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ที่ผลิตวัคซีนที่ได้ต้นแบบจาก แอสตร้าเซนเนก้า แต่ใช้ชื่อสามัญว่า “โควิชีลด์” เป็นต้น

ฟังดู ดูเหมือนเป็นเหตุเป็นผลน่าเห็นใจ แต่ข้อโต้แย้งจากฟากฝ่ายที่เห็นด้วยและรณรงค์สนับสนุนข้อเสนอนี้ ก็มีเหตุมีผลเช่นกัน และน่าเห็นใจยิ่งกว่า

เพราะผู้คนทั่วโลกตายลงวันละนับหมื่นคนอยู่ในเวลานี้

******

ฝ่ายหนุนชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า การพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโควิด-19 ที่เป็นไปได้ในเวลานี้นั้น เป็นเพราะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ที่มาจากภาษีอากรของประชาชน ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ บวกกับเงินสนับสนุนจากองค์กรไม่แสวงกำไรอีกมหาศาล

รายงานของ เดอะ แลนเซท ระบุว่า 5 บริษัทใหญ่ที่พัฒนาวัคซีนได้ประสบผลสำเร็จ ได้รับเงินทุนจากกลุ่มพันธมิตรเพื่อนวัตกรรมในการรับมือการแพร่ระบาด (ซีอีพีไอ หรือ เซปิ)และรัฐบาลอเมริกันรายละไม่น้อยกว่า 950 ล้านดอลลาร์ถึง 2,100 ล้านดอลลาร์

การผ่อนปรนหรือระงับข้อกำหนดในทริปส์ จะส่งผลให้ชาติกำลังพัฒนาลงทุนเพื่อการนี้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มียาและเวชภัณฑ์ในราคาถูกเพียงพอในยามที่จำเป็นต้องใช้

นวัตกรรมและความก้าวหน้าของวิทยาการในด้านนี้ก็จะไม่สะดุดชะงักมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้พัฒนาได้รับเงินทุนสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนที่ไม่แสวงกำไรเมื่อมีกรณีนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นชัดเจน

ในส่วนของความสามารถในการผลิตก็เช่นเดียวกัน ผู้สนับสนุนข้อเสนอชี้ให้เห็นว่า ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา นอกเหนือจากจะมีสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ซึ่งได้ชื่้อว่าเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ยังมีเครือข่ายการผลิตที่เรียกว่า “เครือข่ายผู้ผลิตวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา” หรือ “ดีซีวีเอ็มเอ็น” ประกอบด้วยชาติสมาชิกถึง 41 ประเทศรวมทั้งสถาบันเซรุ่ม การปลดล็อกลิขสิทธิ์ จะช่วยให้เครือข่ายนี้สามารถผลิตวัคซีนเพื่อโลกได้เพิ่มขึ้นมหาศาล

สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย เป็นอุทธาหรณ์ที่ดีเช่นเดียวกันที่แสดงให้เห็นว่า การตกลงกับบริษัทโดยตรงแบบทวิภาคีนั้น มีข้อผูกมัดจำกัดเพียงใด

ไม่เช่นนั้น อินเดีย คงไม่ตกอยู่ในสภาพ “ขาดแคลนวัคซีน” เหมือนที่เป็นอยู่

น่าสนใจที่ ความเคลื่อนไหวล่าสุด ที่สหรัฐอเมริกา “กลับลำ” หันมาสนับสนุนข้อเสนอของอินเดียและแอฟริกาใต้ ช่วยลดแรงต้านลงได้มาก

แต่ภายใต้ระบบของดับเบิลยูทีโอ ที่ต้องให้ทุกประเทศมีมติเป็นเอกฉันท์ไปในทางเดียวกันจึงสามารถดำเนินการได้ ทำให้เห็นได้ชัดว่า ความสำเร็จในเรื่องนี้ยังอยู่ห่างไกลไม่น้อย

หรือต้องรอให้เกิดโศกนาฏกรรมแห่งใหม่ขึ้นซ้ำรอยอินเดียอีกครั้ง ถึงจะตกลงกันได้?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image