โกลบอลโฟกัส : สงครามกลางเมืองที่เมียนมา

AP

โกลบอลโฟกัส : สงครามกลางเมืองที่เมียนมา

สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกของไทยทรุดตัวลงเร็วและรุนแรงกว่าที่หลายคนคาดคิด หลังการรัฐประหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ชั่วระยะเวลาเพียง 3 เดือนเศษเท่านั้น ไม่เพียงเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเจรจาต่อรองเพื่อสันติภาพไม่เคยปรากฏขึ้นเท่านั้น เหตุปัจจัยทุกอย่างกำลังบ่งชี้มากขึ้นทุกทีไปในทิศทางตรงกันข้ามว่า สงครามกลางเมืองกำลังจะเกิดขึ้นที่เมียนมา
ชาร์ลส์ เพทรี อดีตผู้ช่วยเลขาธิการ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น), อดีตผู้ประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ประจำเมียนมา เขียนบทความแสดงความคิดเห็นเอาไว้ใน ดิ อิรวดี เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ชี้ให้เห็นว่า มิน อ่อง ลาย คิดผิดและคำนวณพลาดเพียงใด ในการตัดสินใจก่อรัฐประหารครั้งนี้
การใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ เคยประสบความสำเร็จมาด้วยดีในเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นเมื่อครั้ง พล.อ. เน วิน ในปี 1962 หรือ เมื่อปี 1988, ต้นทศวรรษ 1990 หรือแม้กระทั่งเมื่อปี 2007 เมื่อขบวนการสงฆ์ลุกฮือขึ้นชูธงนำในการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่ในครั้่งนี้
เหตุผลของเพทรีก็คือ พื้นฐานของสังคมเมียนมาทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง ประชาชน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับเสรีภาพและประชาธิปไตยหลังการเปิดประเทศเมื่อปี 2011 ไม่ยินยอมสูญเสียอิสระเสรีที่ว่านี้ไปอีกแล้ว
การต่อต้านการรัฐประหารเกิดขึ้นกว้างขวางอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การชุมนุมประท้วง ขบวนการอารยะขัดขืนเพื่อแสดงการต่อต้าน ไม่ยอมรับอำนาจเบ็ดเสร็จของทหาร แพร่หลายออกไปทั่้วประเทศ
ส่งผลให้ มิน อ่อง ลาย กระทำผิดซ้ำสอง นั่นคือ ระดมกำลังกวาดล้างขบวนการต่อต้านอย่างรุนแรง อำมหิต ราวกับไม่ใช่ผู้คนร่วมชาติเดียวกัน
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ การรวมตัวกันจับอาวุธ ลุกฮือขึ้นต่อสู้กับกองทัพเมียนมาอย่างเป็นทางการ ในหลายพื้นที่หลายภูมิภาค คนหนุ่มสาวจำนวนมากเดินทางสู่ราวป่า จับอาวุธ ฝึกยุทธวิธีทางทหาร
เพื่อตอบโต้การปราบปรามอย่างรุนแรงด้วยความรุนแรง

เหตุการณ์ที่ โมนยวา, มยิงจาน ในภูมิภาคมัณฑเลย์และที่ มินดัต ในรัฐชิน คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการต่อต้านอำนาจรัฐทหารด้วยอาวุธที่ว่านี้
“เพราะความรุนแรงที่กระทำใส่ผู้ประท้วงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนจำนวนมากเต็มใจที่จะหันเข้าพึ่งพาความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเดวิด แมททีสัน ผู้ที่คร่ำหวอดอยู่กับเมียนมามานานถึง 20 ปี ให้สัมภาษณ์ แกรนท์ เปค แห่งเอพีไว้เมื่อเร็วๆ นี้
“เราได้เห็นสัญญาณส่อถึงสถานการณ์ที่ว่านั้นกันแล้วในตอนนี้ ไม่แน่นักหากได้รับการฝึกที่ถูกต้อง มีผู้นำที่ถูกต้อง และมีทรัพยากรที่เหมาะสม สิ่งที่เมียนมาจะเผชิญนับแต่นี้ต่อไปก็คือ การสู้รบภายในในเขตเมืองที่รุนแรง ทำลายล้างซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กันในหลายๆ เมืองใหญ่ของประเทศ”
มิเชล บาเชเลท ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ บอกไว้ทำนองเดียวกันเมื่อราวเดือนเศษที่ผ่านมา
“สถานการณ์ในเมียนมาเหมือนภาพสะท้อนของเหตุการณ์ในซีเรียเมื่อปี 2011” เธอบอก “ที่นั่นก็เหมือนกัน การประท้วงอย่างสันติถูกตอบโต้ ปราบปรามด้วยความรุนแรง โหดเหี้ยมแบบไร้เหตผลและไม่มีความจำเป็นโดยกำลังทหารที่เหนือกว่า การกดขี่ ปราบปรามประชาชนของตนเองอย่างอำมหิตส่งผลให้คนส่วนหนึ่งจับอาวุธขึ้นสู้ ตามมาด้วยเหตุการณ์รุนแรงขยายวงกว้างออกไปอย่างรวดเร็วทั่วทั้งประเทศ”
การลอบวางระเบิดในพื้นที่เขตเมือง ถี่ยิบมากขึ้นเรื่อยๆ การลงมือโจมตีต่อฐานที่มั่นของกองทัพอากาศในเขตเมืองต่อเนื่องกัน 2 จุดด้วยจรวดและระเบิด รวมทั้งการจัดตั้ง “กองกำลังป้องกันประชาชน” (พีดีเอฟ) และ กองกำลังป้องกันมาตุภูมิชิน (ซีดีเอฟ) คือตัวอย่างรูปธรรมของสถานการณ์สงครามกลางเมืองที่ยิ่งนานวันยิ่งชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
สภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการลุกฮือขึ้นจับอาวุธสู้ของชาวเมียนมาก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า ก่อนหน้ารัฐประหาร ภายในเมียนมาเองมีกองกำลังติดอาวุธในรูปแบบต่างๆ ของชนกลุ่มน้อยอยู่ไม่น้อยกว่า 20 กลุ่ม
สองกลุ่ม ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธที่ใหญ่ที่สุด มีประสบการณ์การทำศึกสงครามกับกองทัพเมียนมามายาวนานที่สุดอย่าง กองกำลังคะฉิ่นอิสระ (เคไอเอ) ในรัฐคะฉิ่น และ กองทัพปลดแอกแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) กำลังเปิดศึกเต็มรูปแบบกับกองทัพเมียนมาอยู่ในเวลานี้
เคเอ็นยู ยึดและทำลายค่ายทหารสำคัญของกองทัพเมียนมาในรัฐกะเหรี่ยงไป 2 ค่าย ในเดือนมีนาคมหนึ่งและปลายเมษายนที่ผ่านมาอีกหนึ่ง ส่วนเคไอเอ ได้รับการประสานกำลังจากกองกำลังพลเรือนติดอาวุธภายในเขตเมือง ปฏิบัติการโจมตีต่อฐานที่ตั้งทั้งของตำรวจและทหารในรัฐคะฉิ่น ประสบความสำเร็จถึงขั้นยิงทำลายเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเมียนมาตกเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
เคเอ็นยู ยังเป็นสถานที่ฝึกอบรม กองกำลังที่จะแปรสภาพเป็น “กองทัพประชาชนแห่งสหพันธรัฐ” ในอนาคต เพื่อก่อสงครามจรยุทธ์ในเขตเมืองอีกด้วย
นี่เป็นสงครามกลางเมืองรูปแบบใหม่ มีแนวรบที่กว้างขวาง แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับสงครามกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่กองทัพเมียนมาเคยพบพานมา

ในห้วงเวลาเดียวกันนั้นเศรษฐกิจทั้งระบบของเมียนมา ก็จวนเจียนจะล่มสลายอยู่รอมร่อ การนำเข้า-ส่งออก มีปัญหา การท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วที่สุดของเมียนมาในช่วงปีเศษที่ผ่านมา มลายหายไปพร้อมๆ กับการรัฐประหาร ธนาคารกลางปฏิเสธการถอนเงินรับประกันเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ โดยไม่ให้เหตุผล
ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์เอง ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก เพราะมีแต่คนแห่กันมาถอนเงิน ไม่มีใครนำเงินมาฝาก ธนาคาร 4 แห่งที่เป็นของรัฐ ทั้งประสบปัญหาสภาพคล่องและประสบปัญหาขาดแคลนเจ้าหน้าที่ จากการแสดงอารยะขัดขืน ปฏิเสธที่จะร่วมงานและทำงานภายใต้คำสั่งของรัฐบาลทหาร
ฤดูกาลเพาะปลูกใหม่กำลังจะมาถึงในเมียนมา แต่ไม่มีการกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตรเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา เพื่อไปซื้อหาเมล็ดพันธุ์ เครื่องไม้เครื่องมือและปุ๋ยสำหรับเกษตรกรรม
คาดหมายกันว่าผลผลิตทางการเกษตรของเมียนมาจากฤดูกาลเพาะปลูกใหม่นี้จะลดต่ำลงอย่างมโหฬาร
เงินจ๊าตอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลา 3 เดือนเศษที่ผ่านมาลดลงมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับมูลค่าก่อน 1 กมภาพันธ์ ในขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคถีบตัวสูงขึ้นไปตามภาวะขาดแคลน เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์แล้วในเวลานี้
ฟิตช์ โซลูชั่น บริษัทวิจัยด้านการเงินระบุไว้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ว่า เศรษฐกิจของเมียนมาในปีนี้ คาดว่าจะหดตัวลงมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์
ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ ผู้เชี่ยวชาญอิสระ อดีตเจ้าหน้าที่ยูเอ็นประจำเมียนมา บอกว่า โดยภาพรวมแล้วสถานการณ์ในเมียนมามีแนวโน้มเป็นไปได้เพียง 3 ทาง หนึ่งนั้น กองทัพประสบความสำเร็จอีกครั้งในการบังคับใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของตนทั่วประเทศ อีกหนึ่งก็คือ ความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลทหารในเนปยีดอของฝ่ายต่อต้าน ไม่เช่นนั้นแล้วก็ตกอยู่ในสภาพตรงกลางระหว่างสองหนทางที่ว่านั้น นั่นคือ กลายเป็นสงครามกลางเมืองยืดเยื้อยาวนาน
ฮอร์ซีย์ ระบุว่า สถานการณ์สมมุติทางที่สาม จะก่อให้เกิดหายนะอย่างใหญ่หลวงขึ้นกับเมียนมา
การสู้รบจะไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะพื้นที่แนวชายแดนเหมือนก่อนหน้านี้ แต่จะเกิดขึ้นแม้กระทั่งในใจกลางของเมืองใหญ่ อย่างย่างกุ้ง และเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ
รัฐบาลทหาร ตกอยู่ในสภาพยึดอำนาจได้
แต่ปกครองไม่ได้ ไม่สามารถให้บริการภาครัฐได้เหมือนปกติ องคาพยพของรัฐไม่สามารถขับเคลื่อนทุกอย่างได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ การศึกษา ความมั่นคงด้านอาหาร ฯลฯ เศรษฐกิจจ่อมจมลงสู่หายนะลึกลงไปเรื่อยๆ
เมื่อเศรษฐกิจในระบบไม่ทำงาน เศรษฐกิจนอกระบบที่ผิดกฎหมาย ย่อมเบ่งบาน
ตัวอย่างเช่น โรงงานยาบ้าในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ จะกลับมาบูมอีกครั้ง องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งฝังตัวอยู่ในเมียนมามาระยะหนึ่ง จะยิ่งแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น แสวงหาผลประโยชน์จากสถานการณ์วิกฤตให้ได้มากที่สุด
ซึ่งไม่เพียงเป็นภัยคุกคามต่อเมียนมาเท่านั้น แต่ยังเดือดร้อนถึงไทยและเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคทั้งหมดอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image