125 ปีชาตกาล “พระองค์วรรณฯ” กับ”มรดกภูมิปัญญา”การทูตไทย (จบ)

งานเสวนา “มรดกทางภูมิปัญญาการทูตไทยของพระองค์วรรณฯ” ที่สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศจัดขึ้น ถือเป็นงานที่รวบรวมผู้ที่ถือเป็น “บรมครู” ด้านการต่างประเทศของไทยหลายท่านไว้ในเวทีเดียวกัน เริ่มต้นด้วย “เกร็ดการทำงานของพระองค์วรรณจากความทรงจำของท่านแผน” ที่ ท่านแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นผู้ที่เคยทำงานร่วมกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้มาบอกเล่าให้ฟังด้วยตนเองว่า ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสด็จในกรมฯให้แนวทางในการทำงานเกี่ยวกับการทำบันทึกผู้บริหารไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ แบ่งเป็น 3 หัวข้อใหญ่ 1.ข้อเท็จจริง 2.ประเด็น และ 3.หนทางปฏิบัติหรือข้อเสนอแนะ ถ้ามีรายละเอียดใดๆ ให้ทำเป็นเอกสารแนบ ที่สำคัญที่สุดที่จะต้องดูคืออะไรเป็นประเด็น เพราะถ้าประเด็นผิด ข้อเสนอแนะก็ผิดหมด

ประการต่อมา ท่านประสงค์ที่จะทรงสั่งสอนด้วย โดยบอกว่าหนังสือที่จะให้อธิบดีเสนอรัฐมนตรีนั้นให้ตั้งผู้แทนมาไม่ต้องมาเสนอเอง จุดประสงค์คือท่านอยากจะฝึกคน เวลาเอาบันทึกไปเสนอ พระองค์จะชอบให้ถามคำถาม ท่านทรงพระกรุณาและมีพระเมตตามาก ชอบที่จะอบรมสั่งสอน การที่ทรงให้ตั้งผู้แทนมาก็เป็นการสร้างความคุ้นเคยกับข้าราชการและอยากจะสอนงานเด็กด้วยพระองค์เอง

ด้าน ท่านอรุณ ภาณุพงศ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและอดีต รมช.การต่างประเทศ เล่าว่า แม้จะไม่มีโอกาสได้ทำงานกับพระองค์วรรณฯโดยตรง แต่ก็ได้สัมผัสผลงานและพระปรีชาสามารถ ความรู้และความเชี่ยวชาญของท่านซึ่งถือเป็นผู้มีคุณูปการต่อวิชาชีพทางการทูต เดิมท่านอรุณทำงานอยู่ที่กรมโฆษณาการ กองบัญชาการกองทัพไทย และกรมข่าวทหารบก ตามลำดับ ก่อนที่จะมาสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศ

ท่านอรุณมองว่ากระทรวงการต่างประเทศและกองทัพต่างก็เป็นนักรบเพื่อประเทศชาติเหมือนกัน ที่ต่างคือกองทัพเป็นนักรบที่ใช้อาวุธเพื่อประเทศชาติ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศก็มีจิตวิญญาณของความเป็นบัวแก้วที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงกลาโหมเป็นเสมือนเหรียญเดียวกัน คือ

Advertisement

ด้านหนึ่งถืออาวุธ อีกด้านหนึ่งใช้สงครามปัญญา ท่านเคยอ่านเจอคำสอนของเสด็จในกรมฯว่า นักการทูตที่ดีคือคนที่สื่อแนวคิดในเรื่องผลประโยชน์และเกียรติภูมิของประเทศชาติออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ เสด็จในกรมฯท่านทรงเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง


แผน วรรณเมธี

ขณะที่ ท่านเตช บุนนาค อดีต รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า เสด็จในกรมฯเป็นทั้งเจ้านายของคุณปู่และคุณพ่อของท่าน ซึ่งต่างก็เป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเหมือนกัน จึงรู้สึกว่ามีความผูกพัน เคารพรักท่านเป็นพิเศษ เมื่อเข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศในต้นปี 2512 เสด็จในกรมฯยังทำงานด้านการต่างประเทศอยู่ในฐานะเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานด้านการต่างประเทศ ท่านจึงถือเป็นรุ่นที่ 3 ในครอบครัวที่ได้รับใช้เสด็จในกรมฯ

Advertisement

ท่านเตชกล่าวว่า หากพูดถึงมรดกภูมิปัญญาของพระองค์ท่านเกี่ยวกับการต่างประเทศของไทย เราต้องเห็นว่าทุกอย่างที่เสด็จในกรมฯทรงทำจะมีความสมดุลและความเป็นกลางเสมอ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของการต่างประเทศของไทย ในปี 2559 นี้ สิ่งหนึ่งที่เราควรฉลองกันคือเป็นปีที่ครบรอบ 60 ปีที่เสด็จในกรมฯทรงดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ซึ่งปี 2499 ต่อเนื่องไปถึง 2500 เป็นปีที่สำคัญมาก เพราะว่าเป็นปีที่อาจจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นได้ เพราะ 2499 เป็นปีที่มีวิกฤต สหภาพโซเวียตบุกฮังการี ในขณะเดียวกัน ฝรั่งเศส อังกฤษ และอิสราเอลโจมตีอียิปต์ สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนั้น เสด็จในกรมฯในฐานะประธานสมัชชาท่านได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ทั้งโลกอยู่ในความสงบได้

ท่านเตชกล่าวอีกว่า พระองค์ท่านมีอิทธิพลต่อการต่างประเทศของไทยอย่างสูงมากตั้งแต่ 2460-2514 เอกลักษณ์ของพระองค์ท่านคือท่านได้ทั้งซ้ายและขวา คือมีความสมดุลเป็นเอกลักษณ์ เมื่อปี 2484 พระองค์เป็นหัวหน้าคณะของไทยในการเจรจาอนุสัญญาสันติภาพไทย-ฝรั่งเศสที่กรุงโตเกียว เราได้ดินแดนกลับคืนมาจากฝรั่งเศส ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ชี้ว่ารัฐบาลไทยมีความมั่นใจในพระองค์ท่าน ฉะนั้นในปี 2488 พระองค์ท่านก็เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยที่เจรจา Treaty of Washington ในการคืนดินแดนที่ได้มาเมื่อปี 2484 กลับไปให้ฝรั่งเศสและอังกฤษ เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติ เนื่องจากไทยได้

ดินแดนกลับมาเพราะเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เราก็ต้องคืนดินแดนเหล่านั้นกลับไป สิ่งที่เราได้กลับคืนมาคือ การที่ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามน้อยลงและได้เข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ นี่คือการสามารถเข้าได้ทั้งสองฝ่ายซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระองค์ท่าน เป็นเอกลักษณ์ “การทูตไทย” ซึ่งเราก็สามารถรักษามาได้จนถึงทุกวันนี้

พระองค์ยังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปประชุมที่มะนิลา และบรรลุข้อตกลง Manila Pact นำไปสู่การก่อตั้ง SEATO (Southeast Asia Treaty Organization) ทั้งยังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปประชุมที่บันดุง และได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้เขียนรายงานหรือ rapporteur ทั้งหมดที่บันดุง รวมทั้งปฏิญญาบันดุงซึ่งนำไปสู่กระบวนการจัดตั้งองค์การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด หรือ Non-alliance Movement แต่ที่สุดไทยเราก็ไม่ได้เข้าไปร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้ง เพราะเรามาร่วมก่อตั้ง SEATO แทน ในการประชุมที่บันดุง พระองค์ท่านก็ได้พบกับนายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล และจากการพบกันครั้งนั้นทำให้อีก

20 ปีต่อมาก็มีการปรับความความสัมพันธ์ให้เป็นปกติระหว่างไทยกับจีน ฉะนั้น พระองค์ท่านก็มีส่วนในการวางพื้นฐานความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนด้วย

เสด็จในกรมฯท่านรับสั่งเกี่ยวกับการเป็นนักการทูตไว้ว่า ถ้าจะเป็นนักการทูตที่ดี ก็ต้องรู้จักใช้เชาวน์และความแนบเนียน เชาวน์นั้นไม่ต้องอธิบาย แต่ความแนบเนียนนั้นหมายความว่าการเข้าคนได้สนิท ในการที่เราจะเข้าคนได้สนิทนี้ เราก็จะต้องผูกมิตรกับเขา จะต้องรู้จักนิสัยใจคอของเพื่อนมนุษย์ จะต้องพิจารณาดูว่า ถ้าเราเป็นเขา เราจะรู้สึกอย่างไรบ้าง เป็นต้น วุฒิที่สำคัญที่สุดของทูตคือ เชาวน์และความแนบเนียน เข้าคนได้สนิทกับทั้งจรรโลงใจ

ใฝ่บำเพ็ญประโยชน์ สนองคุณชาติบ้านเมือง ข้อเตือนใจในลักษณะที่ทูตจะอบรมตนเองให้มีสมรรถภาพก็คือ มีปัญญาหนึ่ง ฉลาดพูดหนึ่ง เป็นนักปราชญ์หนึ่ง สุขุมในการสังเกตจิตใจของผู้อื่นหนึ่ง กล่าวถ้อยคำเป็นหลักฐานหนึ่ง ผู้นี้ควรเป็นทูต

ขณะที่ ท่านกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า ประเพณีที่ถือเป็นแนวปฏิบัติของเสด็จในกรมฯที่ได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาคือการพูดคุยกันระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อยในลักษณะที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า in service training เพื่อจะได้มีโอกาสเรียนโดยตรงกับท่านผู้ใหญ่ ซึ่งตนก็เติบโตมาในลักษณะนี้ มีปัญหาอะไรผู้ใหญ่ก็จะรับฟัง และจะบอกว่าใจเย็นๆ ดูเหรียญสองด้าน เป็นการสะท้อนว่าทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมมีขาวมีดำ หลายครั้งเด็กและบรรดาอธิบดีต่างๆ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมพูดกับเด็กโดยตรง การที่เรียกเด็กเข้ามาก็เพื่อที่จะให้เขาได้แสดงความสามารถและเราก็จะมีโอกาสช่วยสอนด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรกระทำและสำคัญยิ่ง เพราะงานของกระทรวงการต่างประเทศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อีกทั้งการที่ต้องไปประจำการอยู่ในต่างประเทศทำให้เราไม่ได้มีเวลาคุยกันบ่อย

ตอนที่เข้ามากระทรวงพร้อมกับท่านเตช แม้เสด็จในกรมฯจะไปเป็นรองนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่เหมือนพระองค์วรรณฯ ท่านยังอยู่กับเราตลอดเวลา พวกเราที่เข้ามากระทรวงใหม่ๆ มีทั้งแรงดลใจและแรงปรารถนาที่อยากจะเก่งเหมือนท่าน อยากจะมีความเป็นเลิศ มีความเป็นมืออาชีพทางการทูต เพราะความสามารถของท่านนั้นเป็นความมหัศจรรย์ จะมีคนไทยกี่คน จะมีเชื้อพระวงศ์สักกี่คนเป็นพลตรี เป็นเอกอัครราชทูต เป็นรัฐมนตรี เป็นรองนายกฯ

เป็นอธิการบดี เป็นนายกสมาคมและมูลนิธิโน่นนี่ เป็นนักคิดนักเขียน เป็นนักประวัติศาสตร์ เป็นนักภาษา เครื่องราชฯและสายสะพายก็ได้รับมากมาย ที่สำคัญที่สุดคือมันสะท้อนถึงการอุทิศชีวิต อุทิศทุกลมหายใจ สติปัญญาเพื่อประเทศชาติ

ผมคิดว่าไม่มีใครที่จะรักชาติและอุทิศชีวิตให้กับประเทศชาติเท่ากับพระองค์วรรณฯ ในความหลากหลายของการทำงาน ประสบการณ์ ความสำเร็จมากมาย การอุทิศชีวิตให้กับประเทศชาติ หรือ to serve นี้เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง และไม่ว่าจะเป็นหมวกอันใด เมื่อรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่แล้วก็จะทำสุดความสามารถ ทำเพื่อความเป็นเลิศเท่านั้น ทุ่มกำลังใจ ชีวิตทั้งหมดให้ดีที่สุด ให้ได้ผลให้มากที่สุด นั่นคือข้อที่หนึ่ง ประการที่สองคือ ความสามารถ ความมีเมตตาที่จะแบ่งปันซึ่งประสบการณ์และองค์ความรู้อย่างไม่หยุดไม่นิ่งหรือ to share ท่านใช้ความรู้ที่เรียนมาเพื่อจรรโลงสังคมและให้กับสังคม

และอันที่ 3 คือ to teach อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับการให้ทานทางวิชาการ การสอนข้าราชการชั้นผู้น้อย ในสุนทรพจน์ของพระองค์วรรณฯจะให้เหตุและผล ไม่ได้กล่าวลอยๆ ไปอย่างนั้น มีที่ไปที่มา บทความที่ดีมากอันหนึ่งซึ่งเสด็จในกรมฯได้อธิบายไว้แจ่มแจ้ง คือบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย และสามารถโยงไปยังความเชื่อถือแบบโบร่ำโบราณของไทย ตามประเพณี ตามหลักพุทธ ว่าใครมีตำแหน่งหน้าที่ตั้งแต่พระมหากษัตริย์นั้น ต้อง serve ต้องให้และทุกสิ่งทุกอย่างต้องทำด้วยธรรมะเป็นตัวกำกับพระองค์วรรณฯแสดงให้เห็นหลายครั้งถึง impartiality ความไม่เอนเอียง และความเพียรพยายามที่จะหาข้อยุติ การแก้ปัญหาที่สำคัญๆ ของโลกของประเทศไทยนั้นให้ใช้สติปัญญา ใช้ความรู้ ใช้ความเพียร ความชำนิชำนาญ แต่ผมว่าที่สำคัญที่สุดคือการอุทิศ dedication ต่อการงาน dedication ต่อการเป็นมืออาชีพ ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะทรงแตะงานใดๆ

มันจะมีผลงานออกมา และมันก็เป็นมรดก เป็น legacy ให้กับคนพวกเรารุ่นหลังทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image