เผยเหตุอาเซียนค้านมติสมัชชาใหญ่ยูเอ็นห้ามค้าอาวุธ หวั่นเมียนมาปิดประตูเจรจา

REUTERS/Yana Paskova/File Photo

 

เผยเหตุอาเซียนค้านมติสมัชชาใหญ่ยูเอ็นห้ามค้าอาวุธ หวั่นเมียนมาปิดประตูเจรจา

นาย นิรมัล โฆษ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ นิวเสตรท ไทม์ส ของสิงคโปร์ ประจำสหรัฐอเมริกา รายงานเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ว่า เหตุผลหลักที่ทำให้ 9 ชาติอาเซียนยกเว้นเมียนมา ส่งจดหมายถึงชาติสมาชิกสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ขอให้ตัดข้อความให้ ห้ามค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา ออกจากร่างมติของยูเอ็นจีเอที่ต้องการประนามรัฐบาลทหารเมียนมาที่ปราบปรามประชาชนซึ่งรวมตัวกันต่อต้านอย่างหนัก จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 820 รายว่า เป็นเพราะอาเซียนต้องการรักษาช่องทางติดต่อเจรจาทางการทูตกับรัฐบาลทหารเมียนมาเอาไว้ต่อไป

ทั้งนี้รอยเตอร์รายงานก่อนหน้านี้ว่า จดหมายของ 9 ชาติอาเซียน ซึ่งรวมทั้ง บรูไน ที่ทำหน้าที่ประธานอาเซียนในเวลานี้ ลงวันที่ 19 พฤษภาคม ระบุเอาไว้ด้วยว่า ร่างมติดังกล่าว จะไม่ได้รับการสนับสนุนกว้างขวางที่สุดถ้าหากยังคงอยู่ในรูปร่างปัจจุบัน โดยเฉพาะจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในเมียนมามากที่สุด

โดยระบุว่า ควรมีการเจรจาต่อเนื่องต่อไป “เพื่อให้ข้อความในร่างมตินี้เป็นที่ยอมรับได้ โดยเฉพาะจากประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งหลาย ซึ่งในเวลานี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินความพยายามที่จะแก้ไขสถานการณ์นี้อยู่” และชี้ว่า หากจะให้มติของยูเอ็นจีเอ มีส่วนในการให้ความช่วยเหลือต่อความพยายามของอาเซียน มตินี้ควรได้รับเห็นชอบจากยูเอ็นจีเอเป็นเอกฉันท์

Advertisement

ในรายงานข่าวชิ้นเดียวกัน อ้างถึงความเห็นของนาย บิลาฮารี คอสิกาน อดีตนักการทูตอาวุโสของสิงคโปร์ ที่ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวของชาติอาเซียนทั้ง 9 ชาติเป็นความเคลื่อนไหวที่มีเหตุผลดีประกอบ 3 ประการ ประการแรกก็คือ มติของยูเอ็นจีเอ ไม่มีสภาพทางกฎหมายบีบบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม ทำให้อย่างดีที่สุดแล้วก็จะถูกมองว่าเป็นเพียง “ข้อเสนอแนะ” เท่านั้น

ประการที่สอง ชาติที่เป็นผู้ขายอาวุธให้กับเมียนมาเป็นหลักมีเพียง 2 ชาติเท่านั้นคือ จีนและรัสเซีย ซึ่งไม่มีวันที่จะยุติการขายอาวุธให้กับเมียนมา ดังนั้น ถึงจะมีมติห้ามค้าอาวุธออกไปก็ไร้ประโยชน์อยู่ดี

ประการที่สาม บรูไน ซึ่งเป็นประธานอาเซียน กำลังพยายามติดต่อเพื่อให้ได้กำหนดวันในการเดินทางเยือนเมียนมา พร้อมกับเลขาธิการอาเซียนอยู่ในเวลานี้ และต้องการให้รัฐบาลทหารของเมียนมาให้ความร่วมมือด้วย ไม่ใช่เพียงแต่กำหนดเวลาที่จะให้เดินทางเยือนเท่านั้น แต่ยังต้องการความร่วมมือโดยรวมอีกหลายอย่างมากจึงจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมาเวลานี้ได้

Advertisement

“มตินี้จึงอาจถูกละเลย ไม่ใส่ใจเอาได้ แต่ในเวลาเดียวกันก็จะส่งผลทางการเมืองทำให้กองทัพเมียนมาดื้อแพ่งมากยิ่งขึ้น” นายคอสิกานระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image