คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : ต้นพิสตาชิโอหายไป ที่จังหวัดเคอร์มาน

AFP

พิสตาชิโอ ถือเป็นสินค้าส่งออกใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศอิหร่าน รองก็เพียง “น้ำมัน” เท่านั้น โดยเมื่อปีที่ผ่านมา อิหร่านสามารถผลิตถั่วพิสตาชิโอได้มากถึง 250,000 ตัน

โดยเฉพาะที่จังหวัดเคอร์มาน ตอนใต้ของอิหร่าน ที่หลายๆ เมืองต่างร่ำรวยขึ้นมาได้ เพราะการขายพิสตาชิโอ

หากแต่เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านมา อุตสาหกรรมพิสตาชิโอก็ร่วงโรยไปตามเวลา อันเนื่องมาจากการไม่จำกัดการทำไร่พิสตาชิโอ และการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก ทำให้ความเสียหายบังเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมพิสตาชิโอ

ต้นพิสตาชิโอที่เคยเขียวชอุ่ม กลับกลายเป็นสีเหลือง แห้งตายกันเป็นแถว

Advertisement

ปัญหาใหญ่เกิดจาก “น้ำ” ที่นำมาใช้ในการเกษตรมากขึ้นโดยไม่มีการควบคุม บ่อน้ำถูกขุดลึกลงไปเรื่อยๆ เพราะน้ำที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ

ฮันซัน อาลี ฟิโรอูบาดี ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านอิซาบาดัด บอกว่า

“เมื่อตอนผมยังเป็นเด็ก ตอนนั้นบ่อถูกขุดลึก 6-10 เมตร แต่ตอนนี้ต้องขุดลึกลงไปถึง 150 เมตร และน้ำก็น้อยลง แถมยังเค็มมากขึ้น

Advertisement

“คนที่เคยอยู่ในหมู่บ้านเยอะๆ ตอนนี้ก็ออกไปค้าแรงงานบ้าง บ้างก็ไปเป็นคนขับรถ เชื่อเลยว่า อีกสิบปีข้างหน้า คงไม่เหลืออะไรอีกแล้ว”

ประเทศอิหร่านกำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่ 2 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือ การจัดการกับความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และอย่างที่สองคือ การพยายามทำให้เกษตรกรหยุดการปั๊มน้ำขึ้นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

ตอนนี้อิหร่านมีปั๊มน้ำที่สูบน้ำจากใต้ดินที่ผิดกฎหมายอยู่ราว 300,000 แห่ง จากทั้งหมด 750,000 แห่ง กลายเป็นปัญหาใหญ่ของอิหร่าน และนั่นคือเหตุผลที่สหประชาชาติเคยประกาศอย่างเป็นทางการเปลี่ยนสถานะอิหร่านจากประเทศที่มีสถานการณ์ด้านน้ำ “ตึงเครียด” ให้กลายเป็นประเทศที่ “ขาดแคลนน้ำ”

และกลายเป็นปัญหาที่กระทบถึงการทำไร่พิสตาชิโอ

โดยเมื่อปี ค.ศ.2013 หอการค้าอิหร่านสำรวจพบว่า แต่ละปีจังหวัดเคอร์มานมีไร่พิสตาชิโอที่ต้องกลายเป็นทะเลทรายไปมากถึง 200 ตารางกิโลเมตร

จริงๆ แล้ว ประเทศอิหร่านถือเป็นประเทศที่มีระบบชลประทานดีที่สุดในโลกในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา หากแต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป มีการใช้ปั๊มที่เป็นไฟฟ้ามากขึ้น บวกกับเหตุวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ความเข้าใจในความสำคัญของการอนุรักษ์น้ำก็น้อยลง และกลายเป็นเรื่องจำเป็นรองลงมาจากเรื่องการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งเป็นแนวคิดของผู้ที่อยู่ในยุคของการถูก “คว่ำบาตร”

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความลำบากยากเข็ญในการดูแลไร่พิสตาชิโอที่มีน้ำให้ใช้อย่างอัตคัด เกษตรกรบางคนก็หาทางช่วยเหลือตัวเองด้วยการทำระบบทดน้ำเองเพื่อควบคุมปริมาณและคุณภาพของน้ำที่จะเข้ามาหล่อเลี้ยงไร่พิสตาชิโอ

เพื่อที่จะคงมีพิสตาชิโอเป็นแหล่งหารายได้ให้ครอบครัวต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image