โวยศาลเมียนมามัดมือชก”ซูจี” ส่งคดีพรวดถึงศาลฎีกา ไม่มีทนาย

Reuters/File Photo

โวยศาลเมียนมามัดมือชก”ซูจี” ส่งคดีพรวดถึงศาลฎีกา ไม่มีทนาย

รอยเตอร์ รายงานเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน นายขิ่น หม่อง ซอ ทนายความของนางออง ซาน ซู จี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ และรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลที่ถูกกองทัพรัฐประหารไปเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เปิดเผยด้วยความวิตกกังวลว่า คดีว่าด้วยการเปิดเผยความลับทางการ ซึ่งถือเป็นข้อกล่าวหาที่หนักและสำคัญที่สุดซึ่งรัฐบาลทหารชุดใหม่ตั้งข้อกล่าวหานางซู จี พร้อมพวกรวม 4 คน ซึ่งรวมทั้ง นาย ฌอว์น เทอร์เนลล์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจชาวออสเตรเลีย ถูกศาลฎีกาประกาศให้มีการไต่สวนคดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ โดยที่ไม่ยอมให้จำเลยทั้ง 4 มีโอกาสได้ติดต่อหรือแต่งตั้งทนายความแต่อย่างใด

นายขิ่น หม่อง ซอ ระบุว่า ในประกาศวันไต่สวนคดีของศาลฎีกาดังกล่าว ระบุไว้เพียงว่า จำเลยทั้ง 4 จะทำหน้าที่ต่อสู้คดีด้วยตัวเองเท่านั้น

“พวกเรากังวลกันว่า จำเลยทั้งหมดไม่มีโอกาสที่จะมีตัวแทนต่อสู้คดีตามกฎหมายได้ และเชื่อว่าการพิจารณาคดีคงไม่ได้ดำเนินไปอย่างโปร่งใสแน่นอน” ทนายความของนางซูจีระบุ โดยกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในกรณีปกติทั่วไป จำเลยจะต้องได้รับการติดต่อเพื่อแจ้งให้ทราบเป็นการล่วงหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถติดต่อหาทนายความตัวแทนได้ก่อนที่จะมีการประกาศกำหนดการดำเนินคดี

นอกจากนั้น นายขิ่น หม่อง ซอ ยังระบุด้วยว่า ศาลยังไม่ได้ให้คำอธิบายใดๆ ด้วยว่า ทำไมคดีที่นางซู จี และพวกถูกกล่าวหาว่าเปิดเผยความลับของทางการครั้งนี้ ถึงถูกส่งขึ้นดำเนินคดีในศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุด โดยไม่ผ่านศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามปกติ ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลฎีกาถือเป็นสิ้นสุด จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาแต่อย่างใด

Advertisement

ในเวลาเดียวกัน การดำเนินการทางการทูตเพื่อหาทางออกกรณีเมียนมาก็เริ่มเข้มข้นขึ้นอีกครั้ง หลังจากนาย เอรีวาน เปฮิน ยูโซฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 2 ของบรูไน และ นาย ลิม จ็อก โฮย เลขาธิการอาเซียน เดินทางถึงกรุงเนปยีดอ เมื่อตอนดึกของคืนวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีกำหนดหารืออย่างเป็นทางการพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่เป็นผู้นำก่อรัฐประหารในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นเอเอฟพีรายงานว่า นายปีเตอร์ เมาเรอร์ ประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี) ได้พบหารือกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ซึ่ง นายเมาเรอร์ ชี้แจงให้ทราบว่า ชาวเมียนมาจำนวนมากต้องการความช่วยเหลือและการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน และได้หยิบยกประเด็นการใช้อาวุธในปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง พร้อมกับขอให้มีการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ดีขึ้นในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง รวมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่กาชาดสากลสามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกคุมขังรวมถึงนางออง ซาน ซูจีด้วยได้อีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image