สถานทูตสหรัฐ เปิดเอกสารข้อเท็จจริง สนับสนุนไทยสู้โควิด เผยยื่นมือช่วยแล้ว 930 ล้านบาท

สถานทูตสหรัฐ เปิดเอกสารข้อเท็จจริง ช่วยไทยสู้โควิด เผยบริจาครวมแล้ว 930 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา จากกรณีที่เว็บไซต์ทำเนียบขาวสหรัฐอเมริกา เปิดเผยเอกสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแผนกลยุทธ์การแบ่งปันวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาคมโลก โดยจะมีการแบ่งปันวัคซีนจำนวน 25 ล้านโดสแรกไปทั่วโลก ผ่านโครงการ COVAX โดยเอกสารดังกล่าวพบว่า มีประเทศไทยอยู่ในรายชื่อประเทศที่จะได้รับการแบ่งปันวัคซีนด้วย แม้ไทยจะไม่ได้เข้าร่วมโครงการ COVAX ก็ตาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานทูตสหรัฐฯ ได้เปิด เอกสารข้อเท็จจริง สหรัฐฯ สนับสนุนไทยในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ระบุว่า

รัฐบาลสหรัฐ ประกาศกรอบความร่วมมือเพื่อแบ่งปันวัคซีนจำนวน 80 ล้านโดสทั่วโลกภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ ในแผนการส่งมอบวัคซีน 25 ล้านโดสแรก จะมีวัคซีนจำนวน 7 ล้านโดสที่มอบให้กับประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย โดยเพิ่มเติมจากความช่วยเหลือมูลค่า 4,000 ล้านเหรียญที่สหรัฐ ได้ประกาศว่าจะมอบให้กับโครงการ COVAX

รัฐบาลสหรัฐมอบความช่วยเหลือให้ไทยเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 รวมมูลค่า 30 ล้านเหรียญ (หรือราว 930 ล้านบาท) โดยในจำนวนนี้เป็นการบริจาคเครื่องช่วยหายใจ หน้ากากอนามัย แว่นตานิรภัย และอุปกรณ์ป้องกันรวมมูลค่า 17.5 ล้านเหรียญให้กับแพทย์และพยาบาลไทย รวมทั้งความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยในค่ายตามแนวชายแดน

Advertisement

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐ (U.S.CDC) ได้มอบความช่วยเหลือเพิ่มเติมมูลค่า 13 ล้านเหรียญ โดยทำงานเคียงบ่าเคียงไหลกับกระทรวงสาธารณสุขของไทย

อุปทูต ไมเคิล ฮีธ เป็นตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ บริจาคเครื่องวัดออกซิเจน และอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับมูลนิธิดวงประทีป โดยครูประทีป อึ้งทรงธรรมฮาตะ แจกจ่ายให้ชาวคลองเตย

ส่งเสริมการตอบโต้โรคโควิด-19 ของไทยในทุกระดับ

การตรวจหาการติดเชื้อ : องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ตลอดจน U.S. CDC และกองทัพสหรัฐได้ช่วยเหลือรัฐบาลไทยในการเสริมสร้างศักยภาพการตรวจวินิจฉัย โดย USAID ช่วยไทยยืนยันผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกที่เดินทางมาจากต่างประเทศเมื่อเดือนมกราคม 2563

การเฝ้าระวังชายแดน : U.S. CDC พัฒนาศักยภาพโครงการเฝ้าระวังในค่ายอพยพ 9 แห่งตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในตัวอย่างส่งตรวจไปแล้วกว่า 1,500 ตัวอย่าง และตรวจพบการระบาด 3 แห่ง ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในค่ายตระหนักถึงสถานการณ์การระบาดได้โดยเร็วและป้องกันการแพร่กระจายของโรคในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูง

การรักษา : USAID สนับสนุนการให้คำปรึกษาทางออนไลน์และมอบเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เพื่อช่วยให้กลุ่มประชากรหลักที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองและเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น โดยรวมไปถึงกลุ่มผู้อพยพ

การพัฒนาวัคซีนและยา : นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารของสหรัฐกำลังร่วมมือกับภาคีชาวไทยศึกษาวิจัยวัคซีนในประเทศ เพื่อเร่งรัดความพยายามในการปกป้องคนไทยในอนาคต

การบริจาคชุด PPE : รัฐบาลสหรัฐได้บริจาคเครื่องช่วยหายใจ หน้ากากช่วยหายใจ หน้ากากอนามัย แว่นตานิรภัย และอุปกรณ์ป้องกันรวมมูลค่า 17.5 ล้านเหรียญให้กับแพทย์และพยาบาลไทย รวมทั้งมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยในค่ายตามแนวชายแดน

โครงการให้ความรู้กับผู้อพยพ : U.S. CDC และ USAID ดำเนินกิจกรรมกับชุมชนผู้อพยพ โดยให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการรักษาความสะอาดเพื่อยุติหรือลดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 แก่ผู้อพยพและประชากรกลุ่มเปราะบางจำนวนกว่า 117,601 คน

การช่วยเหลือผู้กักตัว : USAID ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อช่วยให้ประชาชนที่ต้องกักตัวอยู่ใน 69 จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทยได้รับการแจกจ่ายชุดยังชีพ 188,203 ชุด พร้อมทั้งน้ำดื่ม (มูลค่าเกือบ 4 ล้านเหรียญ) ได้โดยตรงและรวดเร็ว

การวิจัย : ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐในประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยศึกษาวิจัยโครงการการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อประเมินความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติตนในการฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรหลัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image