เอกอัครราชทูตไทยเล่า การช่วยเหลือ-ดูแลแรงงานไทย ในเหตุสู้รบอิสราเอล-กาซา (1)

เยี่ยมเยียนแรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บ

เอกอัครราชทูตไทยเล่า
การช่วยเหลือ-ดูแลแรงงานไทย
ในเหตุสู้รบอิสราเอล-กาซา (1)

///

หมายเหตุ “มติชน” – หลังเหตุยิงตอบโต้ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นเหตุให้มีแรงงานไทย 2 รายถูกลูกหลงเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บอีก 8 รายยุติลง มติชน จึงถือโอกาสพูดคุยกับ น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการดูแลช่วยเหลือแรงงานไทยขณะเกิดเหตุ และการดูแลแรงงานไทยที่ยังทำงานอยู่ในอิสราเอล พร้อมถึงคำถามที่ว่าอิสราเอลยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับแรงงานไทยหรือไม่

///

พรรณนภา จันทรารมย์

๐สถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้เป็นอย่างไร และสถานทูต (สอท.) ได้ดูแลช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลอย่างไรบ้าง

Advertisement

ขณะนี้สถานการณ์ในอิสราเอลกลับสู่สภาวะปกติ แต่ยังไม่อยู่ในสถานะที่วางใจได้ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสยังคงคุกรุ่น และพร้อมที่จะปะทุอยู่ตลอดเวลา

ปัจจุบันมีแรงงานไทยจำนวน 25,000 คนทำงานในภาคเกษตรของอิสราเอล ภายใต้ความตกลง G-to-G ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอลว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในภาคเกษตรของอิสราเอล ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 4,000 คนที่ทำงานและพักอาศัยอยู่บริเวณรัศมีไม่เกิน 50 กิโลเมตรจากพื้นที่ฉนวนกาซา
ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ สอท.ได้ดูแลช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลอย่างเต็มที่ เมื่อเริ่มเกิดเหตุการณ์ได้ประกาศเตือนคนไทยให้เพิ่มความระมัดระวัง ประชาสัมพันธ์แนวการปฏิบัติตนเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณแจ้งเตือนภัย รวมถึงได้ประสานงานกับเครือข่ายหน่วยงานที่กำกับดูแลและหัวหน้าแรงงานไทยในพื้นที่ต่างๆ เพื่อติดตามผลกระทบต่อคนไทยในพื้นที่ และเมื่อสถานการณ์มีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น สอท.ได้ประสานขอให้นายจ้างร่วมมือกับทหารและหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ย้ายแรงงานไทยที่พักอาศัยอยู่ใกล้บริเวณพรมแดนระหว่างอิสราเอลกับพื้นที่ฉนวนกาซาไม่ถึง 1 กิโลเมตร ให้ออกมาพักบริเวณใจกลางหมู่บ้านซึ่งอยู่ไกลออกมา เนื่องจากแรงงานห่วงกังวลต่อความปลอดภัยของตน

ภายหลังการรายงานเหตุคนไทยที่นิคมเกษตรกรรมโอฮาด เสียชีวิต 2 ราย และได้รับบาดเจ็บ 8 ราย หนึ่งในนั้นเป็นผู้บาดเจ็บสาหัส จากการยิงจรวดโจมตีเมื่อบ่ายวันที่ 18 พฤษภาคม สอท.และฝ่ายแรงงานได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอิสราเอลอย่างใกล้ชิดเพื่อขอรับข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ติดตามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอิสราเอลเกี่ยวกับการส่งศพคนไทยทั้งสองรายกลับมาตุภูมิ สิทธิประโยชน์และเงินชดเชยที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจะพึงได้ รวมทั้งได้ติดต่อกับผู้บาดเจ็บเพื่อสอบถามอาการและความเป็นอยู่อย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันได้ประสานให้บริษัทจัดหางานและหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ดูแลความปลอดภัยของแรงงานไทยอย่างใกล้ชิดด้วย

Advertisement
ลงพื้้นที่ดูจุดเกิดเหตุที่แรงงานไทยบาดเจ็บ-เสียชีวิต

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม สอท. ได้จัดพิธีไว้อาลัยและส่งศพ นายวีรวัฒน์ การุญบริรักษ์ และ นายสิขรินทร์ สงำรัมย์ ที่ท่าอากาศยานเบนกูเรียน โดยมีเอกอัครราชทูตฯ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล ผู้แทนท่าอากาศยานเบนกูเรียน และข้าราชการ สอท. เข้าร่วม นอกจากนี้ สอท.ยังได้อำนวยความสะดวกให้แรงงานไทยที่อยู่ในนิคมเกษตรกรรมโอฮาดจำนวน 18 คนที่ได้รับผลกระทบเดินทางกลับประเทศไทยด้วยเที่ยวบินพิเศษที่ สอท. จัดขึ้นเพื่อนำคนไทยในอิสราเอลกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ในจำนวนดังกล่าวมีแรงงานที่เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว 2 คนด้วย

๐จากที่ได้ลงพื้นที่เยี่ยมแรงงานไทยในอิสราเอลหลังเหตุการณ์สงบลง แรงงานไทยส่วนใหญ่ยังมีขวัญและกำลังใจดีหรือไม่ และพวกเขามีความห่วงกังวลในประเด็นใดบ้าง

สอท.ได้ลงพื้นที่เยี่ยมแรงงานไทยจำนวน 40 คนที่ได้รับบาดเจ็บและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์จรวดโจมตีที่โมชาฟโอฮาดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ดิฉันได้สอบถามถึงความเป็นอยู่และข้อกังวลใจต่างๆ รวมทั้งให้กำลังใจ ตอบข้อสงสัยของแรงงาน ตลอดจนเน้นย้ำข้อควรปฏิบัติในกรณีฉุกเฉิน หลังจากนั้นได้มอบสิ่งของจำเป็นเครื่องใช้ประจำวัน เสื้อผ้า และอุปกรณ์กีฬาแก่แรงงานกลุ่มดังกล่าวด้วย

แรงงานหลายคนยังมีขวัญและกำลังใจดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงแม้เหตุการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว หลายคนยังขวัญเสียกับเหตุการณ์ดังกล่าวและประสงค์จะย้ายสถานที่ทำงานไปนิคมเกษตรกรรมในพื้นที่อื่น ซึ่ง สอท.และฝ่ายแรงงานยินดีช่วยเหลือ แต่ได้ชี้แจงว่ากระบวนการย้ายงานอาจต้องใช้เวลา ซึ่งแรงงานก็รับทราบและเข้าใจ

พูดคุยและให้กำลังใจแรงงานไทย

ดิฉันยังได้มีโอกาสสำรวจพื้นที่จุดเกิดเหตุจรวดโจมตี ซึ่งเป็นบริเวณแคมป์ที่พักของแรงงานไทยที่เสียหายอย่างรุนแรงจากการระเบิดและไฟไหม้ ส่งผลให้แรงงานหลายคนที่พักอาศัยอยู่ในแคมป์ดังกล่าวต้องสูญเสียทรัพย์สินและเงินเก็บของตนทั้งหมด และได้กำชับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดูแลแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการติดตามค่าชดเชยแก่ผู้ที่สูญเสียทรัพย์สินจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย หลังจากนั้นดิฉันได้ไปเยี่ยม นายอัตรชัย ธรรมแก้ว แรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์จรวดโจมตี เพื่อปลอบขวัญและให้กำลังใจ ตลอดจนมอบอาหารและของเยี่ยมแก่นายอัตรชัย ทีมแพทย์ได้อธิบายเกี่ยวกับขั้นตอนการรักษาพร้อมย้ำว่าโรงพยาบาล Soroka มีความเชี่ยวชาญการรักษาผู้ป่วยวิกฤต และผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกระเบิดหรือจรวดโจมตี ทั้งยังได้ขอบคุณทีมแพทย์และพยาบาลที่ได้ทุ่มเทรักษานายอัตรชัยจนพ้นขีดอันตรายและมีอาการดีขึ้นตามลำดับ

วันเดียวกันดิฉันยังได้หารือกับนายกเทศมนตรีเมืองเอชโคล พร้อมทีมงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการดูแลและคุ้มครองความปลอดภัยของแรงงานภาคเกษตรของไทยในนิคมเกษตรกรรมในพื้นที่เมืองเอชโคล โดยเฉพาะระบบเตือนภัยและการติดตั้งบังเกอร์หลบภัยให้เพียงพอและทั่วถึง การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของแรงงานไทยในการหลบภัย รวมทั้งมาตรการดูแลความปลอดภัยในการทำงานเกษตรในช่วงที่มีการยิงจรวดโจมตีจากพื้นที่ฉนวนกาซา โดยนายกเทศมนตรีเห็นพ้องที่จะร่วมมือกับ สอท. เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและดูแลแรงงานไทยในพื้นที่ต่อไป

หารือนายกเทศมนตรีเมืองเอชโคล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image