โกลบอลโฟกัส: เปิดงานวิจัย ชำแหละกองทัพเมียนมา

(ภาพ-AP)

โกลบอลโฟกัส: เปิดงานวิจัย ชำแหละกองทัพเมียนมา

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์มิซซิมา นำเอางานวิจัยทางวิชาการของ สาย ลัตต์ (Sai Latt) นักวิจัยอิสระชาวเมียนมา ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชา ภูมิศาสตร์มนุษย์ จาก มหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ ในประเทศแคนาดา มารีวิวเผยแพร่ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงที่มาของ “ธรรมชาติที่เป็นเผด็จการและโหดเหี้ยม” ของ กองทัพเมียนมา ในทัศนะของนักวิชาการผู้นี้

ผลงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย “ว่าด้วยทหารเมียนมาและความรุนแรง” (On Myanmar Soldiers & Violence) ที่ทำเป็นวิทยานิพนธ์สำเร็จการศึกษาของ สาย ลัตต์ เมื่อปี 2016 ในบทที่ 6 ที่ใช้ชื่อว่า Myanmar soldiers, internal dynamics of oppression and poverty, and violence

เดิมที สาย ลัตต์ ไม่ได้ตั้งใจจะทำวิจัยในหัวข้อนี้ แต่ยิ่งได้พูดคุยกับบรรดาชาวเมียนมาจากรัฐฉาน ที่อพยพหนีเข้ามาอยู่ในไทย มากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งก่อความฉงนให้กับเจ้าตัวมากขึ้นตามลำดับว่า เพราะเหตุใด ทหารเมียนมา โดยเฉพาะทหารในระดับล่าง (foot soldiers) ถึงได้ก่อความรุนแรงในหลายรูปแบบกับพลเรือน ตั้งแต่การกดขี่ข่มเหงไปจนถึงการปล้นสะดม อาหาร และทรัพย์สินจากประชาชนในพื้นที่อิทธิพล

สาย ลัตต์ ปฏิเสธคำอธิบายที่ว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นจาก “ความข้นแค้นในสนามรบ” ของทหาร ด้วยเหตุที่ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ เป็นปรากฏการณ์ “เรื้อรัง” และดำเนินไปอย่าง “เป็นระบบ”

Advertisement

การพูดคุย สัมภาษณ์ อดีตทหารในหลากหลายระดับและชั้นยศ ทำให้ สาย ลัตต์ เชื่อมั่นว่า ต้นเหตุของปรากฏการณ์นี้คือ “พลวัตรของอำนาจภายใน” ที่เป็นโครงสร้างของกองทัพตั้งแต่บนสุดจนถึงล่างสุด

อำนาจเด็ดขาดอำมหิตที่ถ่ายเททับถมกันลงมาตามลำดับสายบังคับบัญชาภายในของกองทัพ เมื่อประจวบกับ “ความยากจนถึงขีดสุด” ของทหารระดับล่าง ก็ทำให้ทหารเหล่า “ถ่ายเทภาระ” ดังกล่าวลงใส่ประชาชน

ที่น่าสนใจก็คือ สาย ลัตต์ ไม่ได้มองปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ในแง่ของการ “กล่าวหา” หากแต่ยืนยันว่า เป็นไปเพื่อหาหนทางแก้ปัญหา

Advertisement

เพราะเขาเชื่อว่า ตราบใดที่ยังไม่รู้ซึ้งถึงรากเหง้า ตราบนั้นไม่มีทางแก้ปัญหาได้สำเร็จลุล่วง

******

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมหน้าของกองทัพเมียนมา ที่ สาย ลัตต์ ระบุว่าเปลี่ยนจากที่เคยเป็นสถาบันเพื่อคุ้มครองประเทศชาติที่ทุกคนภาคภูมิใจให้กลายเป็นสถาบันเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งส่วนตัว เริ่มต้นเมื่อกองทัพขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง ทศวรรษ 1990-2000

ประมาณกันว่า กำลังพลของกองทัพในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มจากราว 200,000 นายเป็นกว่า 400,000 นาย กองพันที่เป็นหน่วยรบเพิ่มขึ้นจาก 168 เป็นมากกว่า 500 กองพัน

การเพิ่มกำลังดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างน้อยที่ 5 ประการต่อโฉมหน้าของกองทัพ ในทัศนะของ สาย ลัตต์

แรกสุด หน่วยรบเหล่านี้ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทัพเพียงพอ แต่ปล่อยให้รับผิดชอบในการ “หารายได้” เอง สำหรับใช้ในปฏิบัติการหรือขยายกำลัง, ฐานที่มั่นและกิจกรรมทั้งหลาย ออกไป

ที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ แต่ละหน่วยพบว่า “แหล่งรายได้สำคัญ” ย่อมหนีไม่พ้นอาชญกรรมและกิจกรรมเศรษฐกิจผิดกฎหมายทั้งหลาย

ประการที่สอง ก็คือเกิดปัญหาในระบบเกณฑ์ทหารขนานใหญ่ขึ้นตามมา ผลโดยรวมก็คือ ทหารเกณฑ์ที่ได้ถ้าไม่เป็น เด็ก, เยาวชน ก็มักเป็นผู้ใหญ่ที่มีประวัติยากจนจนหาทางออกไม่ได้ หรือไม่ก็มีประวัติใช้ความรุนแรง, เคยก่ออาชญากรรม และถูกทอดทิ้งเป็นคนจร

สาม เมื่อ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย อดีตเผด็จการทหารเมียนมาพยายามเปิดเศรษฐกิจของประเทศ นายทหารที่เป็นผู้บังคับบัญชากองพันทั้งหลาย เริ่มฉกฉวยประโยชน์ด้วยการใช้อำนาจของตนเองอย่างฉ้อฉลสร้างรายได้และความร่ำรวยให้กับตนเอง ผ่านช่องทางอย่างเช่น การออกใบอนุญาตให้ทำธุรกิจ และการค้าผิดกฎหมายตามชายแดน ทั้งหลาย

สี่ โรงเรียนเตรียมทหาร (Defense Services Academy) ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เริ่มกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะนายทหารที่แสวงหาอำนาจ, แสวงหาความมั่งคั่งและหยิ่งยะโสออกมามากขึ้นและมากขึ้น

ประการที่ 5 ซึ่งน่าจะสำคัญที่สุด สาย ลัตต์ บอกว่า รูปแบบการฝึกทหารของเมียนมานั้น จัดอยู่ในระดับ “อำมหิต” ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ ถูกออกแบบมาเพื่อปลูกฝัง “ความภักดีสมบูรณ์แบบ” และ “การเชื่อฟังโดยปราศจากข้อกังขา” ใดๆ ภายใต้กรอบคิด “เลือดเดียว, เสียงเดียว, คำสั่งเดียว” (one blood, one voice, one order)

ทหารทุกคนรวมทั้งพวกที่ถูกเกณฑ์ตั้งแต่วัยรุ่น ต้องเผชิญกับ “ความรุนแรง”, การเอารัดเอาเปรียบและความไม่เป็นธรรมหลากหลายรูปแบบจากนายทหารอาวุโส ตั้งแต่วันแรกจน “คุ้นเคย”

ประสบการณ์ร่วมของทหารใหม่เหล่านี้มีตั้งแต่ การอดอยาก, การบังคับใช้แรงงานและการกดดันต่อความอึดของร่างกายจนถึงขีดสุดในทุกๆ ด้าน ถูกควบคุมเหมือนกับการกักขัง ไม่มีการดูแลรักษาทางการแพทย์ใดๆ

ทุกคนต้องนอนในสภาพเกือบเปลือย เพื่อป้องกันการหลบหนี ถ้าเกิดเหตุต้องใช้ห้องน้ำขึ้นมาในยามค่ำคืน วิธีป้องกันปกติที่ใช้กันก็คือ การมัดรวมกัน 2-3 นาย ปล่อยไปเข้าห้องน้ำกันทั้งพวง

สภาพการฝึกหนักและสาหัสถึงขนาดเกิดการสูญเสียชีวิตบ่อยครั้งมากจากภาวะทุพโภชนาการและร่างกายถูกกระทำอย่างรุนแรง

สาย ลัตต์ เชื่อว่า ทั้ง 5 ประการนั้น หลอมรวมกันขึ้นเป็น “วัฒนธรรมทหาร” ของเมียนมา เป็นวัฒนธรรมที่แผ่ซ่านไปทุกอนู ทุกองคาพยพของกองทัพ ด้วยหลักการง่ายๆ คือ เอาใจผู้ที่อยู่เหนือกว่าและกดดันบีบคั้นผู้ที่อยู่ต่ำกว่า จนถึงที่สุด

รังสรรค์ “สปอยล์ อาร์มี” ที่นายทหารระดับสูงสามารถกดขี่ คุมเหงผู้ใต้บังคับบัญชาได้ตามใจชอบ โดยปราศจากความผิดใดๆ ขึ้นมา

******

บทสรุปของสาย ลัตต์ ก็คือ ในขณะที่ทหารผู้หนึ่งผู้ใดกระทำการรุนแรง กดขี่ข่มเหงประชาชน ตัวทหารผู้นั้นก็ตกเป็นเหยื่อของการกระทำรุนแรง กดขี่ข่มเหงไปพร้อมๆ กันอยู่ในตัว

ทั้งหมดดำเนินไปโดยอัตโนมัติ จนกลายเป็น “พลวัตรเชิงสถาบัน” ภายในกองทัพเมียนมา ที่เต็มเปี่ยมด้วยความยะโส ด้วยอำนาจในมือ และมองเห็นการกดขี่ รังแกผู้ที่อยู่ต่ำกว่า ไร้อำนาจ เป็นพฤติกรรมสามัญ

องค์ประกอบที่ก่อรูปเป็นบุคลิกของกองทัพเมียนมาในเวลานี้ สาย ลัตต์ ระบุว่า มีอยู่ 3 ประการ แรกสุดคือการใช้อำนาจลำดับการบังคับบัญชาไปเพื่อฉกฉวยผลประโยชน์ และ ฉ้อฉล

ตัวอย่างเช่นความจำเป็นในการ “หารายได้” ของแต่ละกองพัน ก่อให้เกิด “การเรียกเก็บภาษีเองตามใจ” ขึ้นในพื้นที่อิทธิพล เช่นเดียวกับการบังคับใช้แรงงาน, การตกแต่ง ปรับเปลี่ยนบัญชีการเงินของหน่วยเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน และ การรีดนาทาเร้นเอาจากทหารระดับล่างและครอบครัวที่ยากจน

ประการที่สอง คือการใช้อำนาจอย่างเผด็จการ ซึ่้งในทางหนึ่งก่อให้เกิด “การศิโรราบ” จากผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำให้บรรดานายทหารสามารถฉกฉวยประโยชน์จากทหารระดับล่างได้ตามใจชอบ

วัฒนธรรม “ห้ามมีคำถาม” แม้แต่การขอคำอธิบายต่อคำสั่ง ทำให้สำหรับทหารระดับล่างของเมียนมาแล้ว คำสั่งของผู้บังคับบัญชาจำเป็นต้อง “เชื่้อฟัง” อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกการปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม

ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ทำให้การเบียดบัง, บิดเบือนอำนาจ, กระทั่งอาจถึงขั้น ขโมย, หลอกลวง กลายเป็นรูปแบบการปฏิบัติปกติสามัญตามวัฒนธรรมนี้

สุดท้าย ก็คือบุคลิกของความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ในกองทัพ ที่ทำให้เกิด นายทหาร “ผู้มีอำนาจในมือและแสวงหาความมั่งคั่งให้กับตนเอง” ขึ้นเต็มไปหมดในทุกลำดับชั้น

ความเจ็บปวดจากประสบการณ์ที่ได้รับคำสั่งและการเรียกร้องด้วยอำนาจที่บิดเบือน ถูกปลดเปลื้อง ถ่ายทอดต่อลงมาตามลำดับชั้น ผ่านกระบวนการควานหาเงินหรือของขวัญเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บังคับบัญชา

เพื่อให้มีโอกาสได้เลื่อนขั้น เลื่อนยศ ซึ่งขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชาว่าจะทำให้ผู้บังคับบัญชา “มั่งคั่ง” ขึ้นได้มากน้อยเพียงใด

และในที่สุดก็ตกทอดลงมาสู่ประชาชนที่ไม่รู้ไม่เห็น ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับกองทัพในที่สุด

เพราะนั่นคือหนทางเอาตัวเองให้รอดไปได้ในแต่ละวันของทหารเมียนมาทุกคน

“นี่คือเรื่องราวของ การฉกฉวยเบียดบังผลประโยชน์อย่างเป็นระบบ จากระดับสูงสุดถึงระดับล่างสุด ภายใต้บริบทระบอบเผด็จการทหารและการฉกฉวยประโยชขน์โดยมิชอบจากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ” สาย ลัตต์ สรุปในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image