ผลวิจัยมะกันชี้ ‘โควิด’ แพร่ในสหรัฐก่อน ‘อู่ฮั่น’

AFP

ผลวิจัยมะกันชี้ “โควิด” แพร่ในสหรัฐก่อน “อู่ฮั่น”

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ในสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลวิจัยโดยการตรวจหาแอนติบอดีในตัวอย่างเลือดของคนอเมริกัน 24,000 ตัวอย่าง พบ 9 ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการเกิดแอนติบอดีเพื่อต่อต้านเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมปี 2020 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโรคระบาดร้ายแรงนี้แพร่อยู่ในบางส่วนของสหรัฐอเมริกาในเดือนธันวาคม 2019 ก่อนหน้าที่จะมีการยืนยันผู้ป่วยรายแรกในเมืองอู่ฮั่น มณฑลเหอเป่ย์ ของจีนเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2020 นานหลายสัปดาห์

ผลวิจัยดังกล่าวระบุว่า แอนติบอดีแรกสุดที่พบในตัวอย่างที่ตรวจสอบทั้งหมด มาจากตัวอย่างเลือดที่มีผู้บริจาคเก็บไว้ที่รัฐอิลลินอยส์และรัฐแมสซาชูเสตต์ ซึ่งอยู่นอกพื้นที่เกิดการระบาดรุนแรงอย่างนครซีแอตเติลและมหานครนิวยอร์ก ซึ่งเชื่อกันก่อนหน้านี้ว่าเป็นจุดที่เชื้อโควิด-19 เริ่มเข้ามาในสหรัฐอเมริกา

แอนติบอดีที่ตรวจพบเรียกว่า อิมมูโนโกลบูลิน จี (Immunoglobulin G หรือ IgG) ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งความสามารถในการฝังตัวเข้าไปในเซลล์ของมนุษย์ และจะไม่เกิดขึ้นในร่างกายหากไม่ได้รับเชื้อโควิด-19 เข้ามานานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเจ้าของ 2 ตัวอย่างเลือดดังกล่าว ซึ่งเข้ามาตรวจหาเชื้อและบริจาคตัวอย่างเลือดในวันที่ 7 มกราคม และวันที่ 8 มกราคม 2020 ต้องได้รับเชื้อโควิด-19 ก่อนหน้านั้นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรืออาจก่อนหน้านั้นนานหลายสัปดาห์

รองศาสตราจารย์ เครี อัลธอฟฟ์ นักวิชาการด้านระบาดวิทยาประจำสำนักธารณสุขจอห์น ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก ของมหาวิทยาลัย ผู้เขียนรายงานผลวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า ทีมวิจัยพยายามหาทางลดความเป็นไปได้ที่จะเกิดความผิดพลาดขึ้นด้วยการทำเซโรโลจี เทสต์ หรือการตรวจสอบโดยการใช้เซรุ่มเพื่อหาแอนติบอดีแยกจากกัน 2 ครั้ง มองหาแอนติบอดีที่เข้าไปจับกับส่วนที่แตกต่างกัน 2 ส่วนของตัวไวรัส และแม้ว่าแอนติบอดีดังกล่าวอาจเกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสตัวอื่นได้ แต่มีโอกาสน้อยมาก ค่าความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้อยู่ที่ระดับ 1 ใน 100,000 เท่านั้น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การวิจัยนี้ก็ยังมีข้อจำกัดเพราะพบแอนติบอดีในตัวอย่างจำนวนน้อยเกินไปเพียง 9 ตัวอย่าง ซึ่งทำให้โอกาสที่จะเกิดผิดพลาดทางกรรมวิธีเกิดขึ้นได้ นอกจากนั้นยังไม่รู้ว่าตัวอย่างติดเชื้อในท้องถิ่นหรือติดจากการเดินทาง ซึ่งหวังว่าจะมีการวิจัยเพื่อหาคำตอบกรณีนี้ต่อไป

ผลงานวิจัยนี้ยังสอดคล้องกับงานวิจัยของศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐอเมริกาเผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ได้ข้อสรุปทำนองเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image