สหรัฐฯ เพิ่มขีดความสามารถของไทยในการต่อสู้กับอาชญากรรมต่อสัตว์ป่า

สหรัฐฯ เพิ่มขีดความสามารถของไทยในการต่อสู้กับอาชญากรรมต่อสัตว์ป่า

สหรัฐอเมริกาสนับสนุนการประชุมวิชาการตุลาการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยแนวทางปฏิบัติที่ดีในศาลสิ่งแวดล้อมและการพิพากษาคดี ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 17-18 มิถุนายน 2564 โดยมีผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านตุลาการระดับภูมิภาคและระดับโลกหลายสิบท่านเข้าร่วมการประชุมเพื่อร่วมกันพัฒนานิติศาสตร์สิ่งแวดล้อมในภ ูมิภาค

ปัจจุบัน ไทยอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎเกณฑ์กระบวนการพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อม หลังจากการประชุมครั้งนี้ ไทยได้รับข้อมูลแนวปฏิบัติที่ดีและประสบการณ์จากประเทศอื่น ๆ เพื่อนำมาเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินคดีด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป การประชุมในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยส่งเสริมบทบาทความเป็นผู้นำด้านตุลาการระดับภูมิภาคของไทยในอาเซียนแล้ว ยังช่วยขับเคลื่อนวาระศาลสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้ไปข้างหน้าอีกด้วย

“รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการเป็นพันธมิตรร่วมกับผู้นำระดับภูมิภาคและระดับชาติทั่วทั้งอาเซียนในการยับยั้งอาชญากรรมต่อสัตว์ป่า อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และสนับสนุนหลักนิติธรรมเพื่อความมั่นคงในระดับภูมิภาค พร้อมทั้งส่งเสริมภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับรัฐบาลและศาลฎีกาของไทย เพื่อปรับปรุงกรอบกฎหมาย แบ่งปันนวัตกรรมทางกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างชาติ ตลอดจนปรับบทลงโทษสำหรับอาชญากรรมต่อสัตว์ป่าในทุกประเทศทั่วภูมิภาคให้สอดคล้องกัน” ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าว

โครงการ USAID Wildlife Asia สำนักประธานศาลฎีกา ศาลฎีกาแห่งประเทศไทย และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ด้วยความช่วยเหลือจากสถาบันวิจัยกฎหมายสิ่งแวดล้อมแห่งเอเชีย (Asian Research Institute for Environmental Law) ได้ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการนี้ขึ้น โดยในระหว่างกิจกรรม ศาลฎีกาไทยและพันธมิตรจากสหรัฐฯ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และกลุ่มตุลาการจากทั่วภูมิภาค ได้หารือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการพิจารณาตัดสินคดีด้านสิ่งแวดล้อมและศาลสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรับมือกับอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม เช่น การลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

Advertisement

การประชุมดังกล่าวถือเป็นบทสรุปของแผนงานความร่วมมือระยะเวลา 2 ปีระหว่าง USAID Wildlife Asia กับศาลฎีกาไทย และหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ เช่น UNEP เพื่อสนับสนุนตุลาการของไทยในการผลักดันความคิดริเริ่มในการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือนี้ประกอบไปด้วยการสร้างความตระหนักรู้และการสนับสนุนด้านการศึกษาทางกฎหมายอย่างต่อเนื่องแก่กลุ่มเป้าหมายในหลายระดับ เช่น การพัฒนาหลักสูตรเบื้องต้นว่าด้วยกฎหมายและธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ให้ความรู้พื้นฐานของกฎหมายสิ่งแวดล้อมและอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม เพื่อเน้นย้ำว่าอาชญากรรมต่อสัตว์ป่าถือเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม

“ปัจจุบัน เรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ 3 วิกฤตพร้อมกัน ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลภาวะ ดังนั้น งานด้านตุลาการจึงยิ่งต้องก้าวให้ทันยุคสมัยและมีความชัดเจนพอที่จะจัดการกับคดีด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่ผ่านมา ผู้พิพากษาจึงควรพยายามส่งเสริมสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการตัดสินคดีโดยคำนึงถึงการแก้ไขวิกฤตการณ์ 3 วิกฤตนี้ไปพร้อมกัน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประชาชน” อิซาเบล หลุยส์ รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ UNEP กล่าว

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ มีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคในการต่อสู้กับการลักลอบค้าสัตว์ป่า โครงการ USAID Wildlife Asia เป็นหนึ่งในความพยายามของสหรัฐฯ ในการยับยั้งอาชญากรรมต่อสัตว์ป่า ปกป้องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์จากการสูญพันธุ์ และลดความต้องการผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย

ผู้บรรยายและผู้อภิปรายในการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วยตัวแทนจากศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ของไทย ศาลที่ดินและสิ่งแวดล้อมแห่งรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ศาลฎีการัฐฮาวาย ศาลฎีกาของอินเดีย ศาลประชาชนสูงสุดของจีน ศาลฎีกาแห่งปากีสถาน กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ และผู้พิพากษาและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image