เมียนมา ขู่เอาจริง เตือนสื่อต่างชาติ ห้ามเรียก ‘รัฐบาลเผด็จการทหาร-สภาทหาร’

วันที่ 30 มิถุนายน Nikkei Asia รายงานว่า กระทรวงสารสนเทศของเมียนมา ได้ออกมาเตือนสื่อต่างชาติที่มักเรียกองค์กรที่ปกครองประเทศวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาของเมียนมาว่าเป็น “รัฐบาลเผด็จการทหาร” “รัฐบาลทหาร” หรือ “สภาทหาร” ทั้งนี้ หน่วยงานที่นำโดยกองทัพ ซึ่งควบคุมกระทรวงต่างๆ ของรัฐบาล เรียกว่าสภาบริหารรัฐ (SAC) มีพลเอกอาวุโส มิน ออง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธาน

ในประกาศที่ถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลทหาร ชื่อว่า Global New Light of Myanmar กระทรวงได้เน้นย้ำ สภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา หรือ SAC มีหน้าที่ควบคุมดูแลหน้าที่ต่างๆ ของรัฐให้เป็นไปตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ SAC ไม่ใช่รัฐบาลรัฐประหาร

กระทรวงระบุว่า อีกว่ามี “ผู้สื่อข่าวต่างประเทศบางคน” ที่อยู่ในเมียนมา เผยแพร่ข้อมูลเกินจริงโดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่มีตัวตนชัดเจน และมีการเผยแพร่ข่าวเท็จที่เกี่ยวข้องกับเมียนมา” จึงขอเตือนว่า “จะดำเนินการ” กับสำนักข่าวต่างประเทศ หากยังพบการใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง อ้างคำพูด และข่าวปลอมที่เกินจริง และเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ

มีรายงานว่าความพยายามดังกล่าวของรัฐบาลทหารพม่าเกิดขึ้นเพราะพยายามปรับภาพลักษณ์ในระดับโลก ผ่านการลดจำนวนการรายงานของสื่อต่างประเทศที่รายงานให้เห็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีและลดทอนความชอบธรรมของระบอบที่ปกครองเมียนมาในปัจจุบัน โดยในครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่สื่อต่างประเทศ

Advertisement

ก่อนหน้านี้ ราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ไม่นานหลังจากยึดอำนาจ รัฐบาลรัฐประหารเมียนมา ได้เคยออกมาห้ามสื่อมวลเรียกคณะยึดอำนาจว่า ‘รัฐบาลรัฐประหาร’ อ้างว่าเป็นการขัดจรรยาบรรณ

ในครั้งนั้น เว็บไซต์ฟรอนเทียร์เมียนมา เผยแพร่แถลงการณ์ของกระทรวงการสื่อสารแห่งเมียนมา ส่งถึงสมาคมสื่อเมียนมา ที่ระบุเตือนองค์กรสื่อ ห้ามไม่ให้เรียกรัฐบาลของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ที่เพิ่งก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ว่า “รัฐบาลรัฐประหาร”

แถลงการณ์ดังกล่าวที่ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เรื่อง “จรรยาบรรณการรายงานข่าวของสื่อ” โดยประเด็นสำคัญระบุว่า การเรียกรัฐบาลทหารเมียนมาว่า “รัฐบาลรัฐประหาร” นั้นเป็นการผิดจรรยาบรรณสื่อ

Advertisement

นอกจากนี้เนื้อหาในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า สื่อใดที่ไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกดำเนินคดีอาญา และจะต้องถูกถอนใบอนุญาตสื่อด้วย

แถลงการณ์อ้างกฎหมายสื่อในมาตราที่ 9 ที่ระบุถึงจรรยาบรรณสื่อเอาไว้ว่า ผู้ทำงานสื่อจะต้องปฏิบัติตามมิเช่นนั้นจะต้องเผชิญกับโทษทางอาญา

นอกจานี้ยังอ้างถึง มาตรา 8 ของ กฎหมายการพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งระบุถึงสิ่งที่ “ห้ามพิมพ์” ซึ่งประกอบไปด้วย เรื่องที่จะส่งผลกระทบกับความมั่นคงของประเทศ หลักนิติธรรม ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม และสิทธิของประชาชนทุกคน

ทั้งนี้รายงานระบุว่า แถลงการณ์ดังกล่าวสะท้อนความพยายามของรัฐบาลรัฐประหารเมียนมา ในการอ้างการทำรัฐประหารนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และเป็นรัฐบาลที่แตกต่างจาก รัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจในค.ศ.1962 และ 1988

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image