คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ‘ดัชนีปัจจัยเสี่ยงวิบัติภัยโลก’

ภยันตรายเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ในทุกที่ทั่วโลก ทั้งที่เกิดจากเหตุปัจจัยธรรมชาติ และที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกัน อย่างเช่นอันตรายต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นจากเหตุขัดแย้งทางการเมือง เป็นต้น

ภยันตรายจึงคาดการณ์ไม่ได้ ทำนายแทบไม่ได้เลย นอกจากนั้นยังหาตัวชี้วัดเชิงปริมาณได้ยากอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม อันตรายในแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นในสถานที่หนึ่ง อาจลงเอยแตกต่างออกไปจากอีกสถานที่ ซึ่งกลายเป็นพิบัติภัยที่ก่อให้เกิดความสูญเสียมหาศาลทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ส่วนนี้เองที่สามารถคาดคำนวณได้ในเชิงวิชาการ สามารถหาตัวชี้วัดในเชิงปริมาณได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลบนพื้นฐานของปัจจัยแวดล้อมหลายๆ อย่างด้วยกัน ซึ่งเป็นหลักคิดในการจัดทำ “เวิร์ลด์ ริสก์ รีพอร์ต” และ “เวิร์ลด์ ริสก์ อินเด็กซ์” ควบคู่กันไปทุกปีจากทีมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ของ สถาบันเพื่อสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงมนุษย์ ของมหาวิทยาลัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นยู-อีเอชเอส) ในประเทศญี่ปุ่น กับ บุนด์นิส เอนท์วิค ฮิลฟท์ (บีดีเอช-องค์การพันธมิตรเพื่องานพัฒนา) แห่งเยอรมนี นับตั้งแต่ปี 2011 เรื่อยมา

Advertisement

การศึกษาวิจัยซึ่งนำไปสู่การจัดทำดัชนีชี้วัดความเสี่ยงที่จะเกิดวิบัติภัยขึ้นนี้ทำขึ้นใน 117 ประเทศ ที่มีข้อมูลเพียงพอต่อการประมวลและวิเคราะห์สำหรับนำมาจัดทำเป็นตัวชี้วัดในเชิงปริมาณได้ แล้วเปรียบเทียบความเสี่ยงดังกล่าวเข้าด้วยกันเพื่อเรียงลำดับความเสี่ยงจากมากไปหาน้อย โดยลำดับ 1 คือ ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดวิบัติภัยขึ้นในขณะที่ลำดับที่ 117 เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด

องค์ประกอบซึ่งนำมาใช้วัดความเสี่ยงดังกล่าว มองได้จาก 2 ด้าน ด้านหนึ่งตัวต้นเหตุของวิบัติภัย อาทิ แผ่นดินไหว, สึนามิ, พายุถล่ม, น้ำท่วม, ภูเขาไฟระเบิด ในอีกด้านหนึ่งนั้นเป็นการพิจารณาจากความเป็นจริงที่ว่า หากเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นแล้ว ประชาชนในพื้นที่นั้นๆ มีความ “เปราะบาง” ต่อเหตุวิบัติภัยดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน

ความเปราะบาง อ่อนไหวต่อวิบัติภัยธรรมชาติในกรณีนี้ ตรวจวัดได้ในสองทางด้วยกัน หนึ่งคือ ขีดความสามารถของสังคมในการรองรับภัยพิบัติ กับระดับของการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น

Advertisement

นั่นคือที่มาของดัชนีปัจจัยเสี่ยงวิบัติภัยโลก หรือ ดับเบิลยูอาร์ไอ ซึ่งข้อมูลประจำปี 2016 นี้เพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อปลายเดือนสิงหาคมนี้

เหตุผลที่ต้องนำองค์ประกอบทั้งสองมาพินิจพิเคราะห์ร่วมกัน เนื่องจากองค์ประกอบอย่างที่สอง คือความเปราะบางของผู้คนในสังคมต่ออันตรายในระดับวินาศภัยนั้น สามารถสร้างความแตกต่าง ทำให้พิบัติภัยประการหนึ่งประการใดกลายเป็นมหาวิบัติภัยที่ก่อให้เกิดความสูญเสียมากมายมหาศาลได้ โดยเฉพาะในแง่ของชีวิตคน ในทันทีที่เกิดเหตุขึ้น

มีตัวอย่างมากมายที่สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงข้อนี้ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับเหตุแผ่นดินไหว 2 ครั้ง เมื่อปี 2010 ที่ผ่านมาเป็นอุทาหรณ์ที่ดีที่สุดในการทำความเข้าใจประเด็นนี้

วันที่ 12 มกราคมปีนั้น เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ตามมาตราริกเตอร์ ที่ความลึก 13 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของประเทศเฮติไปทางตะวันตกเพียง 25 กิโลเมตร ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กันยายน แผ่นดินไหวขนาด 7.1 ตามมาตราริกเตอร์ เขย่าพื้นที่ใกล้เมืองดาร์ฟีลด์ ห่างจากนครไครสท์เชิร์ช เพียง 40 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไป 10 กิโลเมตร

แผ่นดินไหวทั้งสองเหตุการณ์มีข้อชวนสังเกตเปรียบเทียบได้ว่า ระดับความรุนแรงพอๆ กัน ความลึกใกล้เคียงกัน เกิดใกล้ตัวเมืองใหญ่เช่นเดียวกัน แต่ที่แตกต่างกันอย่างใหญ่หลวงก็คือ เหตุการณ์ที่เฮติ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100,000 คน และอาจถึง 200,000 คน ในการประเมินของบางหน่วยงาน

แต่ในนิวซีแลนด์ ไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่เพียงรายเดียว ที่ได้รับความเสียหายในเหตุแผ่นดินไหวครั้งนั้นมีเพียงอาคารบ้านเรือนเท่านั้นเอง

ข้อเท็จจริงดังกล่าวนำไปสู่กฎที่น่าพรั่นพรึงของธรรมชาติที่พูดกันในทำนองที่ว่า หายนภัยมักจู่โจมใส่ประเทศยากจนเสมอ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงก็คือ ภัยธรรมชาติที่รุนแรงไม่สามารถเลือกสรรได้ว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศหนึ่งประเทศใด เพียงแต่ว่าพายุไต้ฝุ่น, น้ำท่วมใหญ่ หรือภาวะแล้งจัด มักกลายเป็นภัยพิบัติในระดับมหาวินาศภัยได้เสมอในพื้นที่ที่ขาดความพร้อมในการรับมือ ไม่มีทั้งเงินและอุปกรณ์เพียงพอต่อการแก้ไขหรือบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดขึ้น

ทำให้บรรดาพลเรือนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีศักยภาพเพียงพอต่อการปกป้องตัวเองจากอันตรายที่ตนเผชิญอยู่ได้

ความเสี่ยงที่จะเกิดวินาศภัยขึ้นในปี 2016 นี้ยังคงอยู่ในระดับสูง ข้อมูลของคณะทำงานแสดงให้เห็นว่านับตั้งแต่ปี 1980 เรื่อยมา จำนวนของเหตุการณ์ที่ได้รับการจัดอยู่ในระดับหายนภัยทั่วโลกเพิ่มจำนวนมากขึ้น “อย่างมีนัยสำคัญ” แม้ว่าจะมีแนวโน้มในทางที่จะลดลงนับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา แต่สถิติของปีที่แล้วก็ยังแสดงให้เห็นว่าอันตรายต่อชีวิตของเหตุการณ์เหล่านี้ยังจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนอยู่ต่อไป

ในปี 2015 สหประชาชาติมีรายงานเหตุวินาศภัยมากถึง 346 ครั้ง ในเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากถึง 22,000 คน มีผู้ได้รับผลกระทบในทางหนึ่งทางใดหรือหลายๆ ทางสูงถึง 100 ล้านคน มูลค่าความเสียหายในทางเศรษฐกิจถึง 66,500 ล้านดอลลาร์

นอกเหนือจากเหตุวิบัติภัยจากธรรมชาติแล้ว หน่วยงานเพื่อการบรรเทาทุกข์ของสหประชาชาติยังจำเป็นต้องรับมือกับภัยพิบัติใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง อย่างเช่นใน ซีเรีย อิรัก ซูดาน อัฟกนิสถาน และเยเมน ที่ถือเป็นความท้าทายในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างออกไปจากภารกิจบรรเทาทุกข์จากเหตุพิบัติภัยธรรมชาติ เพราะไม่เพียงต้องคำนึงถึงเส้นทางการลำเลียงสัมภาระบรรเทาทุกข์ในระยะยาวเท่านั้นยังจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อย่างเช่น ทำอย่างไรถึงจะเข้าถึงผู้ที่เผชิญหน้ากับความอดอยากเพราะภัยสงคราม เรื่อยไปจนถึงความจำเป็นที่ต้องรักษาความปลอดภัยให้กับตนเองอีกด้วย

ในเวลาเดียวกัน การพัฒนาระบบบรรเทาทุกข์เพียงอย่างเดียว ไม่พอเพียงสำหรับการรับมือกับภาวะพิบัติภัยธรรมชาติที่นับวันจะรุนแรงสุดโต่งมากยิ่งขึ้น การจัดทำดัชนีความเสี่ยงครั้งนี้ ที่เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมของสังคม การเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือและการปรับตัวของสังคมในท้องถิ่นเพื่อรับมือกับภัยพิบัติเหล่านี้จึงเป็นความจำเป็น และเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ

ในทางหนึ่งผู้ที่รับผิดชอบของประเทศนั้นก็ควรตระหนักในข้อเท็จจริงเหล่านี้และควรดำเนินการเท่าที่สามารถจะทำได้เพื่อลดความเสี่ยงลง

เพิ่มโอกาสรอดให้กับผู้คนที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของตัวเองในกรณีที่เกิดวิบัติภัยขึ้นมา

ประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ระดับบนสุดของดัชนีรายชื่อประเทศทั้ง 117 ประเทศส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เป็น “เกาะ” ในมหาสมุทรแปซิฟิก ประเทศอย่าง วานูอาตู (อันดับ 1) และตองกา (2) รวมทั้งฟิลิปปินส์ (3) ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่ว่า ประเทศทั้งสองอยู่ในอาณาบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และสึนามิ ขึ้นบ่อย ทั้งยังเป็นพื้นที่ก่อตัวของพายุไต้ฝุ่นกำลังแรง ที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและแผ่นดินถล่มขึ้นอีกด้วยเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะประเทศเหล่านี้ขาดความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติเหล่านี้อย่างมากอีกด้วย

มีข้อมูลมากมายที่แสดงให้เห็นว่าประเทศเหล่านี้ “เปราะบาง” มากน้อยแค่ไหนต่อภัยพิบัติ อาทิ ปริมาณของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติจากธรรมชาติ เส้นทางคมนาคมขนส่งเปราะบางขนาดไหน เคหสถานและเส้นทางในการลำเลียงสัมภาระบรรเทาทุกข์และศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจ เรื่อยไปจนถึงปริมาณอาหารสำรอง โครงการประกันสุขภาพ โครงการหลักประกันทางสังคม สถานการณ์ทางการเมือง ระดับการศึกษา การค้นคว้าวิจัย และระบบการเตือนภัยล่วงหน้า

อันดับการเสี่ยงภัยของประเทศอย่าง “ญี่ปุ่น” (อันดับ 17) น่าสนใจอย่างมาก ญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน และจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่เสี่ยงต่อการเกิดหายนภัยธรรมชาติสูงสุดของโลก อันดับของญี่ปุ่นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่า ประเทศนี้ต้องเผชิญภัยธรรมชาติรุนแรงมากมายขนาดไหน เนื่องจากคณะทำงานพบว่าญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่เตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นประเทศที่เผชิญกับภัยธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งสึนามิ แผ่นดินไหว ไต้ฝุ่น ภูเขาไฟระเบิด ทั้งหมดนี้ล้วนเคยเกิดขึ้นกับญี่ปุ่นมาแล้วทั้งสิ้นเมื่อไม่นานนี่เอง

เนเธอร์แลนด์เป็นชาติอุตสาหกรรม “ร่ำรวย” อีกชาติที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่อันดับ 48 เพราะพื้นที่เกือบทั้งประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และภาวะโลกร้อนที่ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นภัยคุกคามสำคัญของประเทศนี้ ประเทศอย่าง ชิลี (อันดับ 22) และเซอร์เบีย (อันดับ 68) ก็ถือว่ามีความเสี่ยงสูง แม้จะเป็นชาติที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองไม่น้อยเช่นเดียวกัน

คณะทำงานเชื่อว่าประเทศต่างๆ เหล่านี้ จะประสบปัญหายุ่งยากมากเป็นพิเศษในกรณีที่เกิดวิบัติภัยธรรมชาติขึ้นในประเทศ

ประเทศไทยถูกจัดอันดับความเสี่ยงภัยอยู่ในระดับต่ำ (อันดับ 89) ทั้งๆ ที่โอกาสเผชิญภัยพิบัติของไทยอยู่ในระดับปานกลางก็ตาม สืบเนื่องจากความเปราะบางต่อภัยพิบัติของสังคมไทยมีน้อย แต่ความสามารถในการปรับตัวรับกับภัยพิบัติและโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับภัยภิบัติของเราจัดอยู่ในสภาพดี

อันที่จริง ในรายงานชิ้นนี้ชี้ว่า ภาวะน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมา ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการปรับตัวและรับมือกับวิบัติภัยธรรมชาติ เหตุอุทกภัยดังกล่าวนั้นกระทบต่อสนามบินที่กลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมไปด้วย แต่ไทยแสดงให้เห็นว่า ยังคงมีวิธีการอื่นๆ และเส้นทางอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากในการเข้าถึงผู้ประสบภัยและให้ความช่วยเหลือ นอกเหนือจากการใช้เครื่องบิน

กรณีความยืดหยุ่นของสาธารณูปโภคพื้นฐานดังกล่าว ถูกเน้นให้ความสำคัญเอาไว้มากในรายงานฉบับใหม่นี้ เนื่องจากหน่วยงานบรรเทาทุกข์ทั้งหลายเผชิญปัญหาท้าทายหนักมากในการให้ความช่วยเหลือต่อชาวเนปาล เมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นในปี 2015

ในกรณีของเนปาล ไม่เพียงสนามบินนานาชาติจะมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ยังมีขนาดเล็กจนไม่สามารถรองรับการลำเลียงของบรรเทาทุกข์เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัย ในเวลาเดียวกับที่โครงข่ายถนนก็แคบเล็กและส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย หรือถูกปิดกั้นด้วยซากปรักหักพัง ทำให้ความช่วยเหลือไม่สามารถไปถึงจุดที่ต้องการในเวลาที่ต้องการได้

จำนวนโรงพยาบาลและที่ตั้งของโรงพยาบาลก็ถูกนำมาพิจารณาร่วมด้วยเช่นกัน มีโรงพยาบาลอยู่มากน้อยแค่ไหน เข้าถึงได้หรือไม่ เช่นเดียวกับกรณีของพลังงานไฟฟ้าและเครือข่ายโทรคมนาคม ว่าสามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้หรือไม่และอย่างไรอีกด้วย

อุทาหรณ์ที่สำคัญในกรณีนี้ก็คือ ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา เมื่อเผชิญหน้ากับพายุเฮอริเคนแซนดี้ แล้วระบบไฟฟ้าได้รับความเสียหาย และส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกระบวนการบรรเทาทุกข์ในครั้งนั้น

รายงานฉบับนี้ชี้ว่า ประเทศในอเมริกาใต้แทบทุกประเทศ ขาดแคลนความสามารถในการตอบสนองต่อวินาศภัย

ในภาคพื้นแอฟริกา มีเพียงประเทศอย่าง แอฟริกาใต้, โมร็อกโก, กานา และนามิเบียเท่านั้นที่มีการเตรียมการรับมือวินาศภัยธรรมชาติอยู่บ้างเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image