หัวอกเดียวกัน! ชี้ไทย-อินโด เล็งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หวั่นลดความเชื่อมั่นซิโนแวค
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ประเทศไทยและอินโดนีเซียกำลังพิจารณาที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มกระตุ้น ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ฉีดวัคซีนของซิโนแวคครบโดสไปแล้ว ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้อาจลดความเชื่อมั่นของผู้คนที่มีต่อวัคซีนชนิดนี้ของจีนที่เป็นวัคซีนหลักในการฉีดให้กับประชาชนในประเทศได้
รอยเตอร์รายงานว่า บางประเทศอย่างตุรกีและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคไปก่อนแล้ว ท่ามกลางความกังวลว่าวัคซีนซิโนแวคอาจไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญความท้าทายมากกว่านั้น ที่หลายประเทศในภูมิภาคนี้พึ่งพาวัคซีนจีนเป็นหลัก เนื่องจากวัคซีนต้านโควิดของบริษัทตะวันตกนั้นมีไม่เพียงพอ ขณะที่ประเทศในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ยังมีอัตราการฉีดวัคซีนไม่ถึง 10% ของประชากร นอกจากนี้ยังเผชิญกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า รวมถึงการติดเชื้อโควิดในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งๆ ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดสแล้วก็ตาม
“มีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว แต่ยังมีอาการป่วยปานกลางและรุนแรง หรือไม่ก็เสียชีวิต” นายสลาเม็ต บูดิอาร์โต รองหัวหน้าสมาคมการแพทย์อินโดนีเซีย กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภาอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา
อินโดนีเซียได้ฉีดวัคซีนซิโนแวคให้กับบุคลากรทางการแพทย์แล้วจำนวนหลายล้านคน และในจำนวนนี้มีหลายพันคนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19
เมลกี ลากา เลนา รองประธานคณะกรรมาธิการกำกับดูแลด้านสาธารณสุข ของรัฐสภาอินโดนีเซีย กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่บุคลากรทางการแพทย์จะต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันพวกเขาจากผลกระทบที่เลวร้ายและน่ากังวลจากเชื้อกลายพันธุ์ใหม่
ด้านสิตี นาเดีย ทาร์มิซี เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย กล่าวว่า กำลังรอฟังคำแนะนำจากคณะที่ปรึกษาด้านภูมิคุ้มกันและองค์การอาหารและยา (บีพีโอเอ็ม) ของอินโดนีเซียเกี่ยวกับการใช้วัคซีนเข็มกระตุ้น
ขณะที่บางข้อมูลของการใช้งานจริงชี้ว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพในการป้องกันผู้ป่วยโควิด-19 จากการต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการป่วยรุนแรง ทว่าก็ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันสายพันธุ์เดลต้าที่พบครั้งแรกในอินเดีย
รอยเตอร์รายงานถึงกรณีของไทยว่า ไทยที่คาดว่าจะได้รับวัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทค จำนวน 1.5 ล้านโดสจากสหรัฐภายในเดือนกรกฎาคมนี้นั้น มีแผนที่จะใช้วัคซีนดังกล่าวในการฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ราว 700,000 คนที่ส่วนใหญ่ได้ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดสแล้ว
นพ.อุดม คชินทร รองประธานคณะที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวถึงแผนการฉีดว่าได้มุ่งเพิ่มภูมิคุ้มกัน ขณะที่เชื้อเดลต้าได้ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดส แล้วติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่ง นพ.อุดมกล่าวด้วยว่า อย่าลดค่าวัคซีนซิโนแวค แม้เรารู้ว่าประสิทธิภาพต่ำกว่า แต่วัคซีนนี้ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนักและการเสียชีวิตลงได้
นายดิ๊กกี้ บูดิแมน นักระบาดวิทยาจากมหากริฟฟิธของออสเตรเลีย กล่าวให้ความเห็นถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นว่า จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในวัคซีนอย่างแน่นอน ไม่ใช่ว่าวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ แต่ประสิทธิภาพที่เคยมีจะลดลงหลังจาก 6 เดือน นั่นเป็นการคาดการณ์ของตน โดยนายบูดิแมนยังแนะให้ภาครัฐฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นการแก้ปัญหาและให้สื่อสารปัญหานี้กับประชาชน
ด้านแพทย์ในอินโดนีเซียยอมรับว่าวัคซีนซิโนแวคอาจไม่ได้เป็นวัคซีนที่ดีที่สุดในตลาด แต่เป็นวัคซีนที่พวกเขามีอยู่ในตอนนี้ ซึ่งดีกว่าที่ไม่มีอะไรเลย
รอยเตอร์ชี้ว่าความกังขาที่มีต่อประสิทธิภาพของวัคซีนจีนจะคุกคามทำลายสิ่งที่จีนเรียกว่า “การทูตวัคซีน” ที่จีนแสวงหาการแผ่ขยายอิทธิพลทางการทูตของจีนไปทั่วโลก โดยจีนได้ส่งมอบวัคซีนต้านโควิด-19 ไปให้ประเทศต่างๆ หลายล้านโดสแล้ว