หลายรัฐฝั่ง ต.ต.มะกันเจอไฟไหม้หนัก-คลื่นความร้อนถล่ม เดธวัลเลย์ 54.4 องศา

หลายรัฐฝั่ง ต.ต.มะกันเจอไฟไหม้หนัก-คลื่นความร้อนถล่ม เดธวัลเลย์ 54.4 องศา

คลื่นความร้อนที่กำลังแผ่ขยายปกคลุมพื้นที่เป็นวงกว้างในพื้นที่ทางตะวันตกของสหรัฐด้วยอุณหภูมิที่สูงทำสถิติ และยังส่งผลให้หลายรัฐต้องเผชิญกับปัญหาไฟป่าที่ซ้ำเติมสถานการณ์ให้ย่ำแย่ลงไปอีกตามมา

พนักงานดับเพลิงต้องเร่งทำงานแข่งกับเวลาท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด เพื่อหาทางควบคุมไฟป่าทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วในช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น และยังส่งผลให้ต้องมีการปิดไฮเวย์สายหลัก

ที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดในปีนี้ใกล้กับพรมแดนของรัฐเนวาดา ซึ่งเป็นผลมาจากฟ้าผ่า 2 ครั้ง ทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้นในพื้นที่ทางตอนเหนือของทะเลสาบทาโฮราว 72 กิโลเมตร และยังไม่มีทีท่าว่าจะควบคุมได้ โดยพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในระหว่างวันศุกร์และเสาร์ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่รัฐแคลิฟอร์เนียยังต้องประกาศขอความร่วมมือประชาชนให้ลดการใช้พลังงานอย่างรวดเร็วหลังจากเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในรัฐออริกอน ซึ่งทำให้สายส่งไฟฟ้าระหว่างรัฐใช้การไม่ได้ จนทำให้กระทบกับการส่งกระแสไฟฟ้ากว่า 5,500 เมกะวัตต์มายังรัฐแคลิฟอร์เนีย

Advertisement

ขณะที่กระแสลมแรงทำให้ไฟป่าในรัฐออริกอนขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว จนครอบคลุมพื้นที่ถึง 580 ตารางกิโลเมตร และเข้าใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติฟรีมอนต์-วิเนมา ซึ่งมีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอย่างหนาแน่น

ที่รัฐแอริโซนา มีรายงานว่าเครื่องบินเล็กประสบอุบัติเหตุตก ขณะกำลังบินสำรวจสภาพไฟป่าที่เกิดจากฟ้าผ่า ทำให้ลูกเรือทั้งสองคนเสียชีวิตทั้งหมด

Advertisement

นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาของสหรัฐรายงานว่าในเขตเดธวัลเลย์ของรัฐแคลิฟอร์เนีย อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นถึง 54.4 องศาเซลเซียสเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งเทียบเท่ากับอุณหภูมิที่เคยบันทึกไว้ว่าสูงที่สุดบนโลกเมื่อเดือนสิหาคม 2563 ก่อนที่จะลดความร้อนแรงลงมาเล็กน้อยในวันเสาร์อยู่ที่ 53 องศาเซลเซียส

ขณะที่ในปาล์มสปริงทางตอนใต้ ของรัฐแคลิฟอร์เนีย อุณหภูมิก็พุ่งสูงทำสถิติที่ 49 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับในลาสเวกัสที่อุณหภูมิพุ่งสูงทำสถิติสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกมาที่ 47 องศาเซลเซียส

สหรัฐต้องประกาศเตือนภัยความร้อนกับผู้คนหลายล้านคน โดยแนะนำให้ประชาชนดื่มน้ำจำนวนมากและอยู่ในอาคารที่มีแอร์หากทำได้ พร้อมกันนี้ยังมีการเปิดศูนย์ทำความเย็นภายในอาคารที่มีแอร์ เพื่อให้คนเข้าไปพักพิงและหลบหนีคลื่นความร้อนด้วย

ด้านประเทศแคนาดาก็ประกาศเตือนภัยคลื่นความร้อนในบางพื้นที่เช่นกัน โดยขอให้ประชาชนทบทวนการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และคอยเฝ้าระวังอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนอย่างใกล้ชิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image