คอลัมน์โกลบอลโฟกัส: “ทหารรับจ้าง” นักฆ่าราคาถูกจากโคลอมเบีย

(AP Photo / Joseph Odelyn)

คอลัมน์โกลบอลโฟกัส: “ทหารรับจ้าง” นักฆ่าราคาถูกจากโคลอมเบีย

 

ตอนที่ “มานูเอล อันโตนิโอ กรอสโซ กัวริน” ลงจากเครื่องบินสายการบิน เอเวียงกา เที่ยวบิน 252 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติของเมือง ปุนตา คานญา แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของ สาธารณรัฐโดมินิกัน นั้น

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ไม่แม้แต่จะเหลือบมอง ชายชาวโคลอมเบียวัย 41 ปีรายนี้ซ้ำอีกครั้งด้วยซ้ำไป

ที่นี่รองรับนักท่องเที่ยวหลากหลายจากนานาประเทศเป็นจำนวนมากทุกสัปดาห์ เป้าหมายของผู้คนเหล่านี้ อยู่ที่รีสอร์ทที่พัก เพื่อสำราญกับ แสงแดด ท้องทะเลและ ทรายนุ่มของชายหาดแคริบเบียน

Advertisement

แต่ กรอสโซ ดูเหมือนมีแผนแตกต่างออกไป

กรอสโซ ใช้เวลาส่วนหนึ่งท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ ถ่ายเซลฟีกับอนุสาวรีย์ โคลัมบัส ที่สร้างขึ้นเพื่อฉลองวาระครบรอบ 500 ปีการค้นพบทวีปอเมริกา โพสท่าคู่กับ “รถกันกระสุนของโป๊ป” ซึ่งใช้เป็นรถยนต์พระที่นั่งของพระสันตปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เมื่อครั้งเสด็จเยือนโดมินิกัน

เขาเที่ยวไป รอไป รอจนกระทั่ง “ฟรานซิสโก เอลาดิโอ อูริเบ โอชัว” กับกลุ่มชาวโคลอมเบียที่แยกย้ายกันออกเดินทางจากกรุงโบโกตา เมืองหลวงของประเทศโคลัมเบีย มาพร้อมกันในบ่ายวันที่ 4 มิถุนายนอีกรวม 10 คน เดินทางมาสมทบ

Advertisement

ทั้งหมดเคลื่อนไหวต่อตามแผนที่กำหนดไว้ เดินทางข้ามชายแดนของโดมินิกันเข้าสู่ เฮติ ประเทศที่อยู่ติดต่อกัน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน

ที่ ปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ ทั้งหมดได้พบหน้าคนคุ้นเคยอีก 2 คน หนึ่งคือ “อาเลฮันโดร ริเวรา กราเซีย” อีกหนึ่งคือ “ดูแบร์นีย์ คาปาดอร์ จิรัลโด” ที่เดินทางเข้ามาในเฮติก่อนหน้า ด้วยการบินตรงจากโบโกตา มายัง ปอร์โตแปรงซ์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ทุกคนเก็บตัวเงียบอยู่ในปอร์โตแปรงซ์ราวเดือนเศษ แล้วก็ลงมือก่อการสะท้านสะเทือนไปทั้งโลก เมื่อ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยการยกกำลังพร้อมอาวุธหนักครบมือ บุกเข้าไปสังหารประธานาธิบดี โฌเวเนล มัวอิส ผู้นำเฮติ ถึงบ้านพักเมื่อ 01.00 น. ของวันนั้น

ทั้ง 13 คน คือบุคคลที่ พลเอก หลุยส์ เฟร์นันโด นาวาร์โร ผู้บัญชาการทหารบกโคลอมเบีย ออกมายืนยันว่า เป็นส่วนหนึ่งของ “อดีตทหาร” กองทัพโคลอมเบีย 17 นายที่เข้าร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ ซึ่งใช้กำลังทั้งหมดอย่างน้อย 28 คน

กรอสโซ ซึ่งเดิมเคยเป็นทหาร “หัวกะทิ” ในสังกัด “หน่วยปฏิบัติการพิเศษต่อต้านการก่อการร้ายในเขตเมือง” ของโคลอมเบีย ถูกจับกุมตัวได้ระหว่างพยายามหลบหนีหลังปฏิบัติการลอบสังหาร เช่นเดียวกับ ฟรานซิสโก อูริเบ และ อาเลฮันโดร ริเวรา

คาปาดอร์ กลายเป็นศพระหว่างที่สู้พลางหนีพลาง

“เอล ทีมโป” หนังสือพิมพ์ใหญ่ที่สุดในโคลอมเบีย พาดหัวหน้าหนึ่งในวันถัดมาว่า

“ทหารรับจ้างโคลอมเบีย: ฝึกมาอย่างดี มีพร้อม (ให้ว่าจ้างใน) ราคาถูก!”

******

นักรบรับจ้าง มีมาจากหลายประเทศก็จริง แต่ที่พบเห็นเป็นจำนวนมาก จนขึ้นหน้าขึ้นตาที่สุดในเวลานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นอดีตทหารจากกองทัพโคลอมเบียทั้งสิ้น

อดีตทหารโคลอมเบียได้รับการว่าจ้างให้นำเอาประสบการณ์การสู้รบที่เคยใช้ในประเทศบ้านเกิดไปใช้ในแนวรบที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้หลายแห่งทั่วโลก

สามารถพบอดีตทหารเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในเยเมน, อิรัก, อิสราเอล, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ อัฟกานิสถาน รับจ้างใช้ความสามารถในการฆ่าของตนให้กับนายจ้างในทุกรูปแบบ

อดัม ไอแซคสัน ผู้อำนวยการแผนกำกับดูแลด้านกลาโหมของ สำนักงานวอชิงตันว่าด้วยละตินอเมริกา (โวลา) องค์กรทางวิชาการในสหรัฐอเมริกา บอกว่า คนเหล่านี้อาจถูกว่าจ้างจากบริษัทเอกชน ซึ่งในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่เป็นบริษัทสัญชาติตะวันออกกลาง ให้ทำหน้าที่ทั้ง อารักขาบุคคล สถานที่ เรื่อยไปจนถึงการร่วมสู้รบภายใต้การบัญชาการของกองทัพบางประเทศ

“อีกส่วนหนึ่งลงเอยด้วยการกลายเป็นมือปืนให้กับขบวนการค้ายาเสพติด, เป็นกองกำลังอารักขาของเจ้าพ่อ หรือไม่ก็ลงเอยเป็นมือสังหารเหมือนเช่นในกรณีของเฮติ”

ฌอว์น แม็คฟาเต ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กับ มหาวิทยาลัยกลาโหมแห่งชาติ และทำหน้าที่นักวิชาการอาวุโสของ แอตแลนติค เคาน์ซิล องค์กรทางวิชาการในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) คือลูกค้าใหญ่รายสำคัญสำหรับอดีตทหารจากโคลอมเบีย รวมไปถึงอีกอดีตทหารบางส่วนจาก ปานามา, เอลซัลวาดอร์และชิลี ว่าจ้างอดีตทหารส่วนหนึ่งไปสู้รบกับกองกำลังกบฏฮูที ที่อิหร่านหนุนหลังอยู่ในเยเมน อีกส่วนได้รีบการว่าจ้างให้ทำหน้าที่อารักขา แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบหรือท่อลำเลียงน้ำมันเป็นอาทิ

ข้อได้เปรียบที่สำคัญของนักรบรับจ้างเหล่านี้ ที่มีเหนือกว่า หทารรับจ้างที่เคยเป็นทหารในกองทัพอย่างสหรัฐอเมริกา หรือ อังกฤษ ก็คือ ค่าตัวของอดีตทหารจากละตินอเมริกาอยู่ในระดับแค่ส่วนเสี้ยวของอดีตทหารอเมริกันหรืออังกฤษเท่านั้นเอง

แต่ในบรรดาอดีตทหารละตินอเมริกาด้วยกัน ทหารปลดประจำการจากโคลอมเบียได้รับความนิยมสูงสุด เพราะประสบการณ์ในการสู้รบเหนือกว่านั่นเอง

******

ฮอร์เก้ แมนทิลญา นักวิจัยด้านอาชญวิทยา ว่าด้วยปรากฏการณ์อาชญากรรม จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ในนครชิคาโก สหรัฐอเมริกาชี้ว่า นอกจากจะราคาถูกแล้ว ทหารรับจ้างโคลอมเบีย ยังมีอยู่ดกดื่น และที่สำคัญที่สุด มีประสบการณ์ในการสู้รบในสงครามนอกรูปแบบทุกชนิด ที่สั่งสมจากการทำสงครามกับกองกำลังค้ายาเสพติด และความขัดแย้งภายในยาวนานกว่า 60 ปี

กองทัพโคลอมเบียมีกำลังพลประจำการมากกว่า 220,000 นาย ทำให้แต่ละปีมีทหารปลดประจำการเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นไปตามระบบ ที่ต้องปลดประจำการหลังจากทำหน้าที่ในกองทัพมาครบ 20 ปี อีกส่วนหนึ่งลาออก ทั้งจากการไม่ได้เลื่อนยศเลื่อนขั้น และจากการกระทำผิดวินัยในระหว่างปฏิบัติหน้าที่

จอห์น มารูลันดา ประธานสมาคมอดีตกำลังพลทหารแห่งโคลอมเบีย ระบุว่า แต่ละปีมีทหารปลดประจำการออกมาระหว่าง 10,000-15,000 นาย กลายเป็นแหล่งที่มาอย่างดีของ “ทหารรับจ้าง” ที่แพร่ออกไปทั่วโลกในเวลานี้

เพราะคนเหล่านี้ถูกปลดประจำการออกมาทั้งที่อายุยังไม่มากนัก โดยมีบำเหน็จบำนาญหลงเหลือเพียงนิดหน่อย ในขณะที่ไม่มีองค์ความรู้อื่นใดไปทำมาหากินนอกเหนือจากการจับปืนสู้รบที่ทำมาตลอดชีวิต ทำให้จำเป็นอยู่ดีที่ต้องหันมา “แสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ” ด้วยการ “รับจ้างฆ่า”

ตัวอย่างเช่น ผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นภรรยาของ ฟรานซิสโก เอลาโด อูริเบ้ ซึ่งถูกทางการเฮติควบคุมตัวอยู่ในเวลานี้ อ้างว่า มีบริษัทแห่งหนึ่ง ว่าจ้างสามีของตนไปทำหน้าที่ “อารักขาบุคคล” ในสนนราคาค่าจ้าง 2,700 ดอลลาร์ (ราว 86,400 ลาท) ต่อเดือน

อูริเบ้ เป็นหนึ่งในกองกำลังอดีตทหารโคลอมเบียที่ถูกสอบสวนพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างปี 2002-2008 โดยหน่วยทหารดังกล่าวรวมทั้ง อูริเบ้ ถูกกล่าวหาว่า ลงมือฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์แล้วยัดเยียดข้อหาว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้าม

เพียงเพื่อหวังจะได้รับ “โบนัส” เพิ่มจากค่าหัวเท่านั้นเอง

******

ศาสตราจารย์ แม็คฟาเต ชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมทหารรับจ้าง “บูม” อย่างยิ่ง

ปี 2011 หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส เผยแพร่เรื่องราวการขนอดีตทหารโคลอมเบีย หลายร้อยนายขึ้นเครื่องบินมายังอาบูดาบี เพื่อเข้าร่วมกับ “กองพลทหารรับจ้าง” ที่อยู่ภายใต้สัญญาว่าจ้างกับบริษัทอเมริกันอย่าง “แบล็ควอเทอร์” ที่ปฏิบัติภารกิจปกป้องทรัพย์สินที่สำคัญทั้งหลายในยูเออี

ปี 2015 นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานอีกว่า อดีตทหารโคลอมเบียอีกหลายร้อย ถูกว่าจ้าง “โดยตรงจากยูเออี” ให้ปฏิบัติการสู้รบในเยเมนแทนทหารของตนเอง

ในช่วงเวลาไล่เรี่ยกันนั้น เมื่อสหรัฐอเมริกาต้องการสับเปลี่ยนกำลังทหารของตนเองในหลายประเทศย่านตะวันออกกลาง แทนที่จะส่งทหารประจำการอเมริกันไปสับเปลี่ยน กลับว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ว่าจ้างทหารรับจ้างทำหน้าที่แทน “เพราะไม่มีต้นทุนเสี่ยงทางการเมืองหากเกิดเสียชีวิตขึ้นมา”

แถมยังไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ในกรณีที่ทหารรับจ้างเหล่านี้ “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ขึ้นมาอีกด้วย

บริษัทเอกชนที่ว่าจ้างนักรบรับจ้างเหล่านี้ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ทั้งในสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เบลเยียม หรือแม้กระทั่งในเดนมาร์ก

เป็นบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ใช่ว่า ปฏิบัติการที่ถูกว่าจ้างให้ทำจะถูกต้องตามกฎหมายไปด้วยเสมอไป

กรณีลอบสังหารที่เฮติ เป็นอุทธาหรณ์ ได้เป็นอย่างดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image