โกลบอลโฟกัส : ซุปเปอร์สเปรดเดอร์ กับเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า

AP

ซุปเปอร์สเปรดเดอร์
กับเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า

ในวันที่โลกมีวัคซีนซึ่งทรงประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อโควิด-19 เกิดขึ้น สิ่งแรกที่มนุษย์ทุกคนคำนึงถึงก็คือ ในที่สุด เราก็สามารถหวนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติอย่างที่เคยเป็นได้แล้ว

เราคิดกันว่า เมื่อฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว เราไม่จำเป็นต้องพะวักพะวงกับการต้องมีหน้ากากป้องกันติดตัวอีกต่อไป เราอยากไปดูการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินคนโปรด ละครเวทีเรื่องดัง ก็ทำได้แล้ว เราอยากไปพบหน้าค่าตาใครต่อใครที่คิดถึงมาเนิ่นนาน ก็สามารถไปเจอหน้า สวมกอดกันหายคิดถึงได้ โดยไม่ต้องห่วงกังวลใดๆ อีกแล้ว

นั่นคือความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงต่อธรรมชาติของวัคซีนและโควิด-19 ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอยู่ในหลายประเทศ ในเวลานี้ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา

 ข้อเท็จจริงประการแรกสุดที่ต้องคำนึงถึงก็คือ จนถึงขณะนี้โลกยังไม่มีวัคซีนแม้แต่ตัวเดียวที่สามารถยับยั้งโควิด-19 ได้ 100 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

ผลก็คือ แม้แต่คนที่ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ครบ 2 เข็มแล้ว ก็ยังสามารถเป็น “พาหะ” ของโรคได้ มีอีกบางส่วนที่แสดงอาการ เจ็บป่วยและเสียชีวิตขึ้นมาก็ได้เช่นเดียวกัน

ข้อเท็จจริงสำคัญประการถัดมาก็คือ ไวรัสโคโรนา โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 มีวิวัฒนาการของมันเองอยู่ตลอดเวลา พันธุกรรมของ ซาร์ส-โควี-2 เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด โดยมีเป้าหมายเพื่อดำรงการแพร่ระบาด ที่หมายถึงการมีชีวิตรอดของมันอยู่ต่อไปให้ได้นานที่สุดนั่นเอง

จาก อัลฟ่า, เบต้า, แกมม่า จนมาถึง เดลต้า ประสิทธิภาพในการแพร่ระบาดของมัน เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน

Advertisement

แล้วก็ทำให้ผู้นำ ผู้กำหนดนโยบายทางสาธารณสุขของหลายประเทศ ต้อง “เสียใจ” ที่ตัดสินใจ ผ่อนมาตรการ คลายล็อก และ เปิดให้มีกิจกรรมทางสังคมเร็วจนเกินไปอยู่ในทุกวันนี้

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ “ซุปเปอร์สเปรดเดอร์ อีเวนท์” ที่ทำให้การแพร่ระบาดกลับมาทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายประเทศ ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา เรื่อยไปถึง เนเธอแลนด์ ในทวีปยุโรป และอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีวัคซีนหรือไม่มีก็ตาม “พฤติกรรมของมนุษย์” และ “แวดวงสังคม” ของมนุษย์ คือตัวขับเคลื่อนการแพร่ระบาดที่สำคัญที่สุดนั่นเอง

 

******

 

ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรวัยผู้ใหญ่ ได้รับวัคซีนประเภทเอ็มอาร์เอ็นเอ ที่เป็นวัคซีนซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่โลกมีอยู่ในเวลานี้ ก็มีปัญหากับ ซุปเปอร์สเปรดเดอร์ อีเวนท์ ซึ่งก่อให้เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ขึ้น

ค่ายกิจกรรมของคริสตจักร ซึ่งจัดขึ้นทางตอนใต้ของรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกาเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการระบาดที่เชื่อมโยงได้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ มากกว่า 125 ราย

ในตอนกลางของรัฐอิลลินอยส์ ผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างน้อย 85 รายถูกตรวจสอบพบว่า มีส่วนเชื่อมโยงกับ “ค่ายฤดูร้อน” ที่จัดขึ้นเมื่อราวกลางเดือนมิถุนายนทั้งสิ้น

เหตุการณ์ทำนองเดียวกัน เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ เมื่อ “ดิสโก ปาร์ตี้” ที่จัดขึ้นในบันเทิงสถานแห่งหนึ่งเมื่อ 26 มิถุนายน เชื่อมโยงให้เกิดการระบาดไปสู่ผู้คนอย่างน้อย 160 คนในเวลาต่อมา

ถึงตอนนี้ ยอดติดเชื้อรายใหม่ต่อวันพุ่งขึ้นเกินกว่า 1 หมื่นราย ทำให้ มาร์ก รูทท์ นายกรัฐมนตรีต้องออกมา “ขอโทษ” ที่ตัดสินใจคลายล็อกเร็วเกินไป

ที่ ชีวาวาซิตี้ ในรัฐชีวาวา ในประเทศเม็กซิโก การประกวดนางงาน “มิส แม็กซิโก” เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ต้องปิดฉากเร็วกว่ากำหนดหลายวันมาก หลังจากที่ผู้เข้าประกวดกว่าครึ่งถูกตรวจพบ ติดเชื้อโควิด-19

นั่นคือเหตุการณ์ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ซุปเปอร์สเปรดเดอร์ อีเวนท์ ยังคงเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงในสังคมท่ามกลางการแพร่ระบาดในเวลานี้ การเกิดขึ้นของ เดลต้า แวเรียนท์ ยิ่งทำให้ภัยคุกคามนี้ใหญ่โตมากขึ้น เสี่ยงต่อการพุ่งขึ้นสูงมากอย่างรวดเร็วมากได้ในแต่ละสังคม

 เดวิด ดาวดี รองศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อประจำ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์ ยืนยันเอาไว้ว่า การแพร่ระบาดที่เพิ่มมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา จะโทษเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าอย่างเดียวไม่ได้

“มันไม่ใช่แค่เชื้อกลายพันธุ์ มันยังเป็นเพราะปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนต่อคนที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย”

เขาชี้ให้เห็นว่า ตอนนี้ ผู้คนรักษาระยะห่างน้อยลง สวมหน้ากากป้องกันน้อยลงมาก แถมยังเข้าไปอยู่ในที่ชุมนุมผู้คนหมู่มากบ่อยขึ้น และกลุ่มใหญ่ขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

 ตรงกันข้ามกับความเร็วในการฉีดวัคซีน ที่ลดน้อยถอยลงมากขึ้นและมากขึ้นตามลำดับ

 

******

 

วัคซีน โดยรวมแล้วทำหน้าที่เป็นเสมือน “กำแพง” ป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดขนานใหญ่ขึ้น แต่การบังเกิดขึ้นของเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า ที่แพร่ระบาดได้รวดเร็วอย่างยิ่ง แค่ไม่ช้าไม่นานก็พบเห็นได้ในทุกรัฐของสหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้คนอีกเกือบครึ่งประเทศ กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญมากขึ้น

“ในสหรัฐยังคงมีเครือข่ายของผู้คนซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน หรือไม่ได้รับวัคซีนเลย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดการระบาดใหญ่ขึ้นมาได้อีกครั้ง” เขาบอก ก่อนย้ำว่า

 “เรื่องนี้เป็นจริงได้ ไม่ว่าเราจะพูดถึงเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่ก็ตามที”

 โจชัว แบทสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ของ “พับลิคเฮลธ์ คอมปะนี” กิจการสตาร์ทอัพในแคลิฟอร์เนีย ที่อาศัยเทคโนโลยีในการติดตามและหาแนวทางยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ บอกว่า หนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ให้เกิดการระบาดใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งจากเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า ก็คือ การลดโอกาสการเกิด “ซุปเปอร์สเปรดเดอร์ อีเวนท์” ลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

วิธีการนั้นนอกเหนือจะทุ่มเทความพยายามฉีดวัคซีนให้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวแล้ว ยังต้องกลับมาบังคับใช้มาตรการป้องกันอื่นๆ อย่างเช่น การรักษาระยะห่าง, การสวมหน้ากาก ฯลฯ “อย่างเข้มงวด” อีกด้วย

แบทสัน ชี้ว่า การที่โควิด-19 สามารถแพร่ระบาดออกไปทั่วโลกล้วนอาศัย “ซุปเปอร์สเปรดเดอร์ อีเวนท์” ทั้งสิ้น ไม่ว่า กรณีแรกสุดที่ตลาดสดค้าสัตว์เป็นในเมืองอู่ฮั่น หรือกรณีแรกสุดในสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ที่เป็นการประชุมของบริษัทไบโอเจน ซึ่งก่อให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ เชื่อมโยงไปได้ถึง 20,000 รายในเวลาต่อมาก็ตาม

ในทางวิชาการ นักวิทยาศาสตร์เองยอมรับว่ายังไม่เข้าใจว่า ทำไม บุคคลหนึ่งถึงมีขีดความสามารถในการแพร่เชื้อให้กับคนอื่นๆ ได้มากกว่าอีกบุคคลหนึ่ง

รายงานของ ลอนดอน สคูล ออฟ ไฮยีน แอนด์ ทรอปิคอล เมดิซีน พบว่า มีคนเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อเท่านั้นซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นผู้รับผิดชอบในการแพร่เชื้อให้กับคนอีก 80 เปอร์เซ็นต์

แต่ที่ชัดเจนก็คือ ในเมื่อ พฤติกรรมของคน เป็นตัวขับเคลื่อนหลักและตัวบ่งชี้ถึงความรุนแรงของการแพร่ระบาด

 การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนย่อมลดผลลัพธ์ไม่ให้เลวร้ายถึงที่สุดได้เช่นกัน

 

******

 

แม็กซ์ ลอ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสำนักสาธารณสุขโรลลินส์ ในสังกัดมหาวิทยาลัย เอมอรี ชี้ว่า ในทางวิชาการ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดหลักๆ มีอยู่ 3 ปัจจัยด้วยกัน

หนึ่งคือ สภาวะทางชีววิทยาของไวรัส ว่าแพร่ได้อย่างไร แพร่เร็วแค่ไหน, สอง คือ ความไวในการรับเชื้อเมื่อสัมผัสกับไวรัสของประชากร และ สุดท้าย ก็คือ พฤติกรรมของประชากรเหล่านั้นว่า มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างไร เอื้อต่อการแพร่ระบาดหรือไม่

ขณะนี้ สถานการณ์ของทั้ง 3 ปัจจัยเปลี่ยนแปลงไปจาก 1 ปีที่ผ่านมาอยู่มาก

วัคซีน ทำให้คนเราลดความไวในการรับเชื้อลง ในขณะที่เดลต้า มีขีดความสามารถแพร่กระจายมากขึ้น ในขณะที่ในปัจจัยที่ 3 การเข้มงวดกวดขันเพื่อป้องกันการระบาดที่เคยใช้กัน ลดลงอย่างมาก

ถ้า เดลต้า ทำให้โควิดแข็งแรงขึ้น แต่วัคซีนก็ทำให้คนเราแข็งแรงขึ้นเช่นเดียวกัน

หลงเหลือแต่พฤติกรรมของเราเท่านั้นที่จะเป็นตัวชี้ขาดว่า การระบาดระลอกใหม่จะมีขึ้นอีกหรือไม่

 ส่วนในประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีวัคซีนเสริมความแข็งแกร่ง ก็ต้องพยายามเรียนรู้และใช้ชีวิตแบบใหม่อยู่กับโควิด-19 ให้มากที่สุดให้ได้เท่านั้นเอง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image