ทีมวิจัยยุโรปเตือนภัยเชื้อกลายพันธุ์ต้านวัคซีน มีโอกาสเกิดสูงสุดเมื่อฉีดถึง60 %

NIAID

ทีมวิจัยยุโรปเตือนภัยเชื้อกลายพันธุ์ต้านวัคซีน มีโอกาสเกิดสูงสุดเมื่อฉีดถึง 60 %

เอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาทั่วยุโรป ร่วมกันทำวิจัยโดยใช้แบบจำลอง เพื่อคาดการณ์ถึงแนวโน้มและโอกาสที่จะเกิดเชื้อกลายพันธุ์ซึ่งมีขีดความสามารถในการต่อต้านวัคซีนแพร่ระบาดขึ้น พบว่า โอกาสที่จะเกิดเชื้อกลายพันธุ์ที่ดื้อต่อวัคซีนนั้นจะเกิดขึ้นสูงสุด เมื่อมีการฉีดวัคซีนไปได้มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่ไม่มากพอที่จะก่อให้เกิด ภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ เฮิร์ดอิมมูนีตี ขึ้นได้

งานวิจัยหนนี้เป็นความพยายามเพื่อคาดการณ์ว่า ซาร์ส-โควี-2 หรือไวรัสก่อโรคโควิด-19 จะกลายพันธุ์เพื่อตอบสนองต่อการรณรงค์ฉีดวัคซีนอย่างไร ด้วยการจำลองความเป็นไปได้ที่จะเกิดเชื้อกลายพันธุ์ที่ต่อต้านวัคซีนขึ้นในประเทศที่มีประชากร 10 ล้านคนขึ้นไปในช่วงระยะเวลา 3 ปี โดยมีตัวแปรที่ใช้ในการพิจารณา ตั้งแต่ ปริมาณการฉีดวัคซีน, การกลายพันธุ์ และ อัตราการแพร่เชื้อ ซึ่งรวมถึงการแพร่ระบาดระลอกต่างๆ และการที่ปริมาณการติดเชื้อลดลงจากการล็อกดาวน์อีกด้วย

ผลจากการทำแบบจำลอง แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กับประชากรอย่างรวดเร็ว ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดเชื้อกลายพันธุ์ต้านวัคซีนเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม แบบจำลองแสดงให้เห็นว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดเชื้อกลายพันธุ์ต้านวัคซีนจะเกิดสูงสุดเมื่อสัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนมีขนาดใหญ่ แต่ไม่ใหญ่พอที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ซึ่งคล้ายๆ กับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในยุโรปส่วนใหญ่ในเวลานี้

นายไซมอน เรลลา นักวิชาการจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ออสเตรีย (ไอเอสที) ระบุว่า แบบจำลองแสดงให้เห็นว่า เมื่อประชากรราว 60 เปอร์เซ็นต์ได้รับการฉีดวัคซีน หลังจากนั้นไม่นานก็จะเกิดเชื้อโควิดที่ต้านวัคซีนขึ้น เนื่องจากเชื้อดังกล่าวนี้สามารถแพร่ออกไปได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ในขณะที่เชื้อดั้งเดิมถูกยับยั้งด้วยวัคซีน

Advertisement

นายฟีโอดอร์ คอนดราชอฟ นักวิชาการจากไอเอสที ที่เป็นหนึ่งในทีมวิจัยนี้ ระบุว่า ทีมวิจัยหวังว่าจะยังคงไม่มีเชื้อต้านวัคซีนเกิดขึ้นในระหว่างการแพร่ระบาดครั้งนี้ แต่ขอเรียกร้องให้ทุกชาติระมัดระวัง หากสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุดได้ก็จะเป็นการควบคุมวิวัฒนาการของไวรัสไปในตัว และเรียกร้องให้มีการกระจายวัคซีนให้กับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายให้เร็วที่สุดและทั่วถึงที่สุด

ทีมวิจัยระบุด้วยว่า หากปราศจากการประสานงานในระดับโลกในเรื่องนี้ เชื้อที่สามารถต้านวัคซีนอาจถูกปิดกั้นในประเทศหนึ่ง แต่ก็สามารถเกิดขึ้นในอีกประเทศหนึ่งจนได้และกลายเป็นภัยคุกคามต่อทั้งโลกในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image