ชิลีศึกษาเผยประสิทธิภาพวัคซีน ‘ซิโนแวค-ไฟเซอร์-แอสตร้าเซนเนก้า’ ในโลกจริง

REUTERS

ชิลีศึกษาเผยประสิทธิภาพวัคซีน ‘ซิโนแวค-ไฟเซอร์-แอสตร้าเซนเนก้า’ ในโลกจริง

ทางการชิลีได้เปิดเผยผลการศึกษาถึงประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อนำไปใช้ในโลกที่แท้จริง โดยเป็นการศึกษาข้อมูลจากการฉีดให้กับชาวชิลีหลายล้านคนในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนจะได้ข้อสรุปว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพ 58.5% ในการป้องกันการเจ็บป่วย ขณะที่วัคซีนของไฟเซอร์มีประสิทธิภาพ 87.7% และแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพ 68.7%

ข้อมูลดังกล่าวมาจากข้อมูล “โลกแห่งความจริง” ล่าสุดที่เผยแพร่โดยทางการชิลี เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มประชากรของชิลีที่เข้ารับวัคซีนโควิด-19 โดยชิลีถือเป็นประเทศที่เริ่มโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่เร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน ซึ่งขณะนี้ชาวชิลีได้รับวัคซีนครบแล้วกว่า 60% ของประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนโคโรนาแวคของซิโนแวค

ดร.ราฟาเอล อาเราส์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมตามเวลาท้องถิ่นว่าวัคซีนโคโรนาแวคมีประสิทธิภาพ 86% ในการป้องกันการรักษาในโรงพยาบาล มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก 89.7% และมีประสิทธิภาพ 86% ในการป้องกันการเสียชีวิตในกลุ่มประชากรระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม

ในเดือนเมษายน ผลการศึกษาเดียวกันพบว่าวัคซีนโคโรนาแวคมีประสิทธิภาพ 67% ในการป้องกันการเจ็บป่วยตามอาการ มีประสิทธิภาพในการป้องกันการรักษาในโรงพยาบาล 85% และมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเสียชีวิต 80% ซึ่งบ่งชี้ว่าความสามารถในการป้องกันอาการป่วยร้ายแรงกว่าของไวรัสนั้นดีขึ้น ขณะที่ความสามารถในการยับยั้งอาการป่วยนั้นลดลง

Advertisement

ดร.อาเราส์กล่าวว่า การลดความสามารถในการป้องกันของวัคซีนเมื่อเวลาผ่านไปเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการมาถึงและการเพิ่มขึ้นของไวรัสกลายพันธุ์ที่มีโอกาสติดเชื้อสูงขึ้น อาทิ สายพันธุ์เดลต้า

“ถ้าสายพันธุ์เดลต้าแพร่หลายมากขึ้น และวัคซีนมีการตอบสนองที่น้อยลง เราอาจสังเกตเห็นประสิทธิภาพของวัคซีนร่วงลงอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น”ดร.อาเราส์กล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้มีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ตามมา

ชิลียังได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนอื่นๆ ที่ในชิลี ประกอบด้วยวัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทคและแอสตร้าเซนเนก้าที่ทำขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน โดยดร.อาเราส์กล่าวว่า วัคซีนของไฟเซอร์มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด 87.7% มีประสิทธิภาพ 98% ในการป้องกันการเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู และมีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันการเสียชีวิต

Advertisement

ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพ 68.7% ในการป้องกันโควิด-19 มีประสิทธิภาพ 98% ในการป้องกันการรับผู้ป่วยหนัก และมีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันการเสียชีวิต

ทั้งนี้การศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ของชิลีได้ตรวจสอบเปรียบเทียบในกลุ่มของผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 โดส ได้รับวัคซีน 1 โดส และกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนเลย โดยกลุ่มตัวอย่างของประชากรที่ได้รับวัคซีนโคโรนาแวคอยู่ที่ 8.6 ล้านคน วัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค 4.5 ล้านคน และแอสตร้าเซนเนก้า 2.3 ล้านคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image