“แอมเนสตี้” จัดงานสัปดาห์ผู้ลี้ภัย ชวนผู้คนรู้จัก-เข้าใจ ร่วมร้องเพื่อช่วยเหลือ

DCIM100MEDIADJI_0042.JPG

วันที่ 17 กันยายน เมื่อเวลา 09.00 น. ที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดกิจกรรม “วันหยุดสุดสัปดาห์ จูงมือคนที่คุณรัก ร่วมรู้จักผู้ลี้ภัยเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสัมผัสเรื่องราว “ผู้ลี้ภัย” ซึ่งกิจกรรมนี้จัดขึ้นพร้อมกับคนทั่วโลกเนื่องในโอกาส “สัปดาห์ผู้ลี้ภัย” ของแอมเนสตี้ เพื่อมุ่งสร้างความเข้าใจและเรียกร้องประชาคมโลกให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย โดยกิจกรรมนี้จัดขึ้นในบริเวณสวนรถไฟ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่และครอบครัวมากยิ่งขึ้น ส่วนสัญลักษณ์ของงานครั้งนี้ได้ใช้บ้านเป็นสื่อแทนสิ่งที่ผู้ลี้ภัยต้องการมากที่สุดคือบ้านอันแสนอบอุ่นและปลอดภัย ที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

IMG_5361

โดยในงานมีกิจกรรม การแสดงดนตรีในสวน นิทรรศการภาพถ่ายชีวิตความผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิงชั่วคราว ภาพบุคคลระดับโลกที่เคยเป็นผู้ลี้ภัย อาทิ บ๊อบ มาเล่ ศิลปินเพลงเร็กเก้ชื่อดัง อัลเบิร์ต อัลสไตน์ นักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพที่ต้องลี้ภัยจากเยอรมนีในยุคนาซี องค์ดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณชาวทิเบต หรือยูสร่า มาร์ดินี นักกีฬาว่ายน้ำชาวซีเรียที่หนีภัยสงครามกลางเมืองก่อนร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่บราซิลในนามทีมผู้ลี้ภัย รวมถึงการชวนน้องๆ ผู้ปกครองร่วมวาดภาพบ้านตามจินตนาการของตัวเอง

IMG_5394

Advertisement

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า แอมเนสตี้เล็งเห็นว่าปัจจุบันปัญหาของผู้ลี้ภัยถือเป็นวิกฤตที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนซึ่งมีจำนวนมากขึ้น โดยในการแก้ไขปัญหานี้สามารถเริ่มได้จากคนธรรมดา ไปจนกระทั่งนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบาย หากเริ่มที่จะเปิดใจฟังปัญหาของผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้น มองผู้ลี้ภัยในอีกมุมว่าพวกเขาก็เหมือนกับเราที่ต้องการใช้ชีวิตอยู่ในที่ที่ปลอดภัยสักแห่ง มีงานทำ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราต้องมองข้ามความหวาดกลัว อคติต่างๆ ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเรากับผู้ลี้ภัย 

“การแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยต้องเป็นการแบ่งความรับผิดชอบของประชาคมโลกในการให้ความคุ้มครองเพื่อนมนุษย์ของเราให้มีสิทธิและเสรีภาพที่พวกเขาพึงจะมีตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติที่ระบุว่าการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยที่เป็นผลนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของนานาประเทศในการคุ้มครองให้ผู้ลี้ภัยปลอดภัยและมีการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร” นางปิยนุช กล่าว

IMG_5467

Advertisement

นางปิยนุช กล่าวอีกว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำที่แท้จริงร่วมกันรับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะจากประเทศที่มั่งคั่ง ให้แสดงความตั้งใจในการจัดหาที่อยู่ใหม่ให้ผู้ลี้ภัยมากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ ตลอดจนช่วยเหลือทางกฎหมายให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงความปลอดภัยด้วย ซึ่งตลอดเดือนกันยายนนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลกร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อผู้ลี้ภัยในกว่50 ประเทศ ซึ่งรูปแบบกิจกรรมมีความน่าสนใจแตกต่างกันไป เช่น การเดินขบวนต้อนรับผู้ลี้ภัยในอังกฤษ กิจกรรมแจกสติ๊กเกอร์ในเดนมาร์ก การแสดงละครในมาลี แฟลชม็อบที่สวิตเซอร์แลนด์ หรือจะเป็นงานผู้ลี้ภัยในสวนที่ชิลีซึ่งคล้ายคลึงกับงานในประเทศไทย พร้อมกับกิจกรรมบนโลกโซเชียลโดยใช้แฮชแท็ก #withrefugees หมายถึงเราอยู่กับผู้ลี้ภัย

IMG_5486

ด้านนายวันรบ วราราษฎร์ เจ้าหน้าที่องค์กร อไซลัม แอคเซส ประเทศไทย (Asylum Access Thailand) ได้กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยในขณะนี้ว่า ในส่วนของผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในไทยโดยเฉพาะเขตกรุงเทพและปริมณฑลมีจำนวนประมาณ 8,000 คนซึ่งสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) รับรู้และให้การรับรอง ส่วนใหญ่มาจากปากีสถาน และประเทศอื่นอีก 50 ประเทศรวมถึงในภูมิภาคอาเซียน โดยชาวปากีสถานที่ลี้ภัยอันเนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนา ทำให้ไม่ได้รับความปลอดภัย อีกส่วนหนึ่งคือผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายพักพิ่งชั่วคราวตามจังหวัดชายแดนไทย-เมียนมา จำนวน 9 แห่ง (รวมผู้ลี้ภัยทั้งหมด 104,627 คน) และยังมีชาติในอาเซียนเช่น เวียดนาม ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มต่างศาสนาอาศัยอยู่

นายวันรบ กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญในการแก้ไขผู้ลี้ภัยที่อยู่ในไทยคือ ไม่มีกฎหมายผู้ลี้ภัยเพราะรัฐบาลไทยยังไม่ลงนามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย จึงทำให้ไม่มีกฎหมายรองรับตรงนี้ แม้แต่ในรัฐธรรมนูญก็ไม่มีกล่าวถึง เมื่อเห็นผู้ลี้ภัยว่าไม่มีตัวตนแล้วจะเอาสิ่งใดมารับรองพวกเขา หากเข้าประเทศไทยโดยส่วนมากใช้วีซ่านักท่องเที่ยวเพื่อขอลงทะเบียนของยูเอ็นเอชซีอาร์ กับอีกส่วนเข้าโดยผิดกฎหมายโดยอาศัยนายหน้าเดินข้ามชายแดนแต่เป็นในจำนวนน้อย

ต่อคำถามที่ว่าการขึ้นสถานะผู้ลี้ภัยมีกระบวนการขั้นตอนอย่างไร นายวันรบกล่าวว่า จากที่กล่าวตอนต้น ไทยยังไม่มีกระบวนการขึ้นสถานผู้ลี้ภัย จึงเป็นหน้าที่ของยูเอ็นเอชซีอาร์ ซึ่งผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยจะต้องยื่นลงทะเบียนเพื่อสัมภาษณ์ แต่ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อย สวนทางกับจำนวนผู้ลี้ภัยที่มากขึ้น ทำให้ใช้เวลาพิจารณานานเป็นปีกว่าจะทราบผล แต่ในกรณีที่ไม่ผ่าน ไม่ได้รับการสถานะผู้ลี้ภัย พบว่ามีส่วนหนึ่งถูกจับไปอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอผลักดันกลับประเทศ จึงเป็นหน้าที่ของสถานทูตหรือองค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือในการอำนวยความสะดวกผู้คนเพื่อเดินทางกลับแต่ก็ต้องอยู่ที่คนนั้นด้วยว่าต้องการกลับหรือไม่

“ผู้ลี้ภัยจำนวนมากมีหลากหลายอาชีพ ส่วนมากเป็นครู แพทย์ ทนายความ สัตวแพทย์ ซึ่งลี้ภัยเพราะความแตกต่างที่ทำให้ไม่ปลอดภัย แม้แต่ผู้ลี้ภัยที่เป็นทหาร ตำรวจก็มี ตนเคยพบสตรีท่านหนึ่งที่มีฐานะแต่ปัจจุบันอยู่ในห้องเช่าเล็กๆก็มี โดยความเป็นอยู่ส่วนมากจะอยู่ในแถบปริมณฑลเพราะความเช่าที่พักราคาถูก มีตลาดให้ซื้ออาหาร และยังให้ความสำคัญในการส่งเสริมบุตรหลานเข้ารับการศึกษาในไทยเพราะเห็นประโยชน์เพื่อใช้ชีวิตอยู่ในไทย ทำให้สามารถพูดภาษาไทยได้ ส่วนการประกอบอาชีพในไทย ผู้ลี้ภัยส่วนมากกลายเป็นแรงงานนอกระบบ ทำงานที่ไม่มีคนเลือกเช่น พนักงานล้างรถในคาร์แคร์โดยได้ค่าแรงต่ำกว่ามาตรฐาน หากจะประกอบอาชีพอื่นก็ต้องมีเอกสารขั้นตอนอีกมาก หากเป็นการรักษาพยาบาลก็ต้องรับผิดชอบเอง สำหรับผู้ที่มีบัตรของยูเอ็นเอชซีอาร์ รพ.รัฐจะลงทะเบียนรับเป็นผู้ป่วย” นายวันรบ กล่าว

นอกจากนี้ นายวันรบกล่าวว่า ตนเรียกร้องให้รัฐบาลไทยในการจัดตั้งระบบในการคุ้มครองให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ถ้าภาครัฐมีส่วนร่วมก็จะดีขึ้น ตนเชื่อว่า รัฐรับรู้การมีตัวตนของผู้ลี้ภัย การที่อนุญาตให้องค์กรระหว่างประเทศตั้งอยู่ก็แสดงให้เห็นถึงการรับรู้การมีตัวตนของผู้ลี้ภัย เชื่อว่าอนาคตจะมีกลไกในการช่วยเหลือ แต่การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ดีที่สุดคือคนใกล้ตัว นั้นคือเพื่อนบ้านในการดูแลและให้กำลังใจ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนส่วนมากรู้สึกต่อผู้ลี้ภัยไม่ใช่เพราะอคติแต่เป็นเรื่องของปัญหาการสื่อสาร

DCIM100MEDIADJI_0033.JPG

รายงานระบุว่า ภายหลังเสร็จสิ้นวงเสวนา นักกิจกรรมของแอมเนสตี้ ได้ชวนผู้ร่วมงาน ร่วมแปรสัญลักษณ์เป็นรูปบ้านเพื่อแสดงพลังการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย เป็นการเสร็จสิ้นกิจกรรมก่อนแยกย้ายกลับบ้าน

IMG_5448

IMG_5384

DCIM100MEDIADJI_0041.JPG

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image