ผ่อดีดี (PODD) ความหวังใหม่ป้องกันโรคระบาดข้ามทวีป

ผ่อดีดี (PODD) ความหวังใหม่ป้องกันโรคระบาดข้ามทวีป

โรคระบาดอาจดูเป็นสถานการณ์ที่ยากที่จะป้องกันเนื่องจะเราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ด้วยความสามารถของมนุษย์ทุกปัญหาย่อมมีทางออก เมื่อรศ.น.สพ.ดร. เลิศรัก ศรีกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายปฏิพัทธ์ สุสำเภา กรรมการผู้จัดการบริษัทโอเพ่นดรีม ได้ร่วมมือกันพัฒนาแอปพลิเคชัน “ผ่อดีดี” (PODD) สำหรับเฝ้าระวังและจัดการโรคที่ชุมชนสามารถใช้งานและร่วมเป็นเจ้าของ

โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ เอกชน และชุมชน ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนมาประยุกต์เป็นระบบเฝ้าระวังโรคระบาดในคน สัตว์ และภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมให้กับทุกภาคส่วนในชุมชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การันตีด้วยรางวัลรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งจากการประกวด “เดอะทรินิตี ชาเลนจ์” ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ประจำปี 2021 พร้อมด้วยเงินรางวัลเพื่อพัฒนาโครงการ มูลค่า 1.3 ล้านปอนด์ (57.4 ล้านบาท) ทำให้สถานเอกอัตรราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษได้จัดการเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “Think Globally, Act Locally” และได้เชิญผู้ร่วมก่อตั้งโครงการผ่อดีดี ทั้งสองมาเป็นวิทยากรเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่การก่อตั้งโครงการไปจนถึงเส้นทางสู่เวทีระดับโลก โดยมีเอกอัครราชทูตพิษณุ สุวรรณะชฎ เป็นผู้ดำเนินรายการ

๐แรงบันดาลใจในการริเริ่มโครงการผ่อดีดี (PODD)

ดร.เลิศรัก- แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นในพลังของชุมชน แต่ปัจจัยหลักคือสถานการณ์ในขณะนั้นซึ่งเกิดโรคระบาดไข้หวัดนก ที่สร้างความวุ่นวายและความเสียหายในทุกมิติ นอกจากนี้กว่ารัฐบาลจะรู้ว่าเกิดโรคระบาดขึ้นก็ใช้เวลาถึง 7-8 เดือน เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ทีมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตกตะกอนความคิดได้ว่า ด้วยความรู้ทางสัตวแพทย์และระบาดวิทยาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะรับมือกับโรคระบาดแต่ต้องใช้ความร่วมมือจากชุมชนด้วย เนื่องจากโรคระบาดต่างๆเริ่มมาจากชุมชน ฉะนั้นหากเรารู้ว่าเกิดโรคระบาดได้เร็ว เราก็สามารถควบคุมการระบาดได้เร็วและจะไม่ระบาดไปที่อื่นๆ

Advertisement

นอกจากนี้ในช่วงปี 2012 โลกตะวันตกเริ่มมีความตระหนักถึงเรื่องโรคระบาดมากขึ้น จึงทำให้เกิดแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวขึ้นมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับเลือกเป็นพาร์ทเนอร์กับ United States Academic Decathlon (USAD) ซึ่งเป็นผู้จัดการแข่งขันด้านวิชาการระดับมัธยม ได้ทำโครงการสุขภาพหนึ่งเดียว ต่อมาเมื่อได้ไปเป็นวิทยากรและบรรยายเรื่องไทยหรือประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวคิดเรื่องการคิดเป็นองค์รวมและมั่นคง ได้พบกับดร.มาร์ค สโมลินสกี จาก Skoll Global Threat Fund (SGTF) ซึ่งทำหน้าที่ด้านการป้องกันโรคระบาด ในวันนั้นดร.มาร์คได้ยื่นข้อเสนอว่าถ้าหากสนใจทำงานวิจัยด้านโรคระบาดสามารถเขียนข้อเสนอของโครงการมาหาได้เลย สองปีต่อมาหลังจากได้ส่งข้อเสนอไป ทางดร.มาร์คได้ตอบกลับว่าจะสนับสนุนในการทำโครงการเพื่อสร้างวิธีการตรวจจับโรคระบาดเพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดข้ามทวีปจากสัตว์ไปสู่มนุษย์ เพื่อให้โลกมีความพร้อมในการเผชิญโรคระบาดในอนาคต

๐ทำไมต้องชื่อผ่อดีดี

ดร.เลิศรัก – ที่มาของชื่อเริ่มมาจากแนวคิดชุมชนเป็นพระเอกและความเชื่อที่ว่าชุมชนชาวเชียงใหม่จะสามารถทำได้ จึงเลือกที่จะใช้คำที่สื่อถึงคนล้านนา จนเกิดเป็นชื่อ ผ่อดีดี ซึ่งมีความหมายว่าดูดีดี ต่อมาจึงมาตั้งชื่อภาษาอังกฤษในเข้ากับชื่อภาษาไทยและยังคงคอนเซปของโครงการ คือ PODD ซึ่งย่อมาจาก Participatory One Health Digital Disease Detection ซึ่งหมายถึงระบบเฝ้าระวังสุขภาพหนึ่งเดียวของชุมชนและยังสามารถอ่านว่าผ่อดีดีได้อีกด้วย

Advertisement

๐บริษัทโอเพ่นดรีมทำอะไรและมาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้อย่างไร

คุณปฏิพัทธ์ – บริษัทโอเพ่นดรีม ตั้งขึ้นเมื่อปี 2017 หลังได้ทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งและได้เรียนรู้เรื่องธุรกิจเพื่อสังคม ทำให้รู้สึกสนใจและอยากทำงานด้านนี้ ที่ผ่านมาโอเพ่นดรีมได้ทำงานหลากหลายมากทั้งการจัดการภัยพิบัติ ทำระบบสร้างความร่วมมือออนไลน์ แต่จุดที่สร้างความเปลี่ยนแปลงคือ การได้เจอกับดร.มาร์ค ที่กำลังมองหาทีมที่ทำเทคโนโลยีที่สนใจเรื่องสังคมและสามารช่วยทำระบบเฝ้าระวังโรคไข้หวัดหมูในพื้นที่ชายแดน
เมื่อได้ลงไปช่วยงานทีมโอเพ่นดรีมก็พบว่ามีปัญหาในระบบสาธารณสุขหลายข้อ เช่น สาธารณะไม่มีส่วนร่วม ทำให้ทีมตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้สาธารณะมีส่วนร่วมกับสาธารณสุข จึงได้คิดระบบที่ชื่อว่า Six Sense ขึ้นมาเมื่อปี 2009-2010 การทำงานคือให้คนรายงานอาการป่วย และได้รับประโยชน์บางอย่าง เช่น ได้รางวัลหรือแต้ม น่าจะช่วยให้คนทั่วไปมีส่วนร่วมกับสาธารณสุขได้ เพื่อที่จะป้องกันการเกิดโรคระบาด ต่อมาช่วงปี 2012-2013 ดร.มาร์คได้ชวนให้ไปเจอดร.เลิศรัก ด้วยความเชื่อที่ว่าหากทั้งสองร่วมมือกันอาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ได้ ขณะนั้นดร.เลิศรักทำงานด้านควบคุมการแพร่ระบาดในชุมชน ส่วนโอเพ่นดรีมทำเรื่องเทคโนโลยีในระบบ Six Sense ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแอพพ์ผ่อดีดี ที่เป็นเครื่องมือเดียวที่ให้ชุมชนจัดการโรคระบาดด้วยตนเอง

๐การระบาดของโควิด-19 เป็นความท้าทายของผ่อดีดีไหม และอยากให้เล่าเรื่องการทำงาน จุดแข็ง จุดอ่อน ความท้าทาย การขับเคลื่อนโครงการให้ประสบความสำเร็จ

ดร.เลิศรัก – โควิด-19 เป็นจุดกำเนิดของเดอะทรินิตี ชาเลนจ์ โดยศาสตราจารย์ดาม แซลลี เดวีส์ มาสเตอร์ของทรินิตี คอลเลจระบุว่า โรคระบาดต้องรับมือด้วยการทำ จึงได้ชวน 42 สถาบันชั้นนำระดับโลก ร่วมกันทำโครงการนี้เพื่อหาทางรับมือกับโรคระบาด คิดว่าโครงการผ่อดีดีชนะเพราะเป็นโครงการแรกที่ทำให้แนวคิดชุมชนมีส่วนร่วมเป็นรูปธรรมออกมาใช้ได้จริง ตั้งแต่ปี 2015 ที่เริ่มเปิดแอพพ์ ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี และได้รับเสียงชื่นชมจากเวทีการประชุมและรายการวิชาการต่างๆ ต่อมาในปี 2017ได้รับรางวัลอาเซียนแล้ว ไอซีที อวอร์ด และในปี 2018 ได้นำเสนอผลการทำงานของแอพพ์ผ่อดีดีซึ่งสามารถรู้ถึงการเกิดโรคระบาดภายใน 1-2 วันและเจ้าหน้าที่ก็ลงมาจัดการโรคภายในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าเครื่องมือนี้ได้ผลจริงแน่นอน อย่างไรก็ตามจากการทำโครงการมา 4-5 ปี พบว่าบางพื้นที่ก็ประสบความสำเร็จบางพื้นที่ก็ล้มเหลวเนื่องจากคนไม่ให้ความสนใจหรือเจ้าหน้าที่รัฐไม่อยากให้รู้ว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้น

๐ผ่อดีดีคืออะไร ทำงานอย่างไร

คุณปฎิพัทธ์ – ผ่อดีดีมีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ 1.แนวคิดเรื่อง One health ที่มองว่าปัญหาสุขภาพคือทุกสิ่งเชื่อมโยงกัน 2. การใช้ความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แบบ Bottom up กล่าวคือเริ่มจากล่างสุดคือชุมชนและค่อยๆ ไล่ขึ้นไป และสุดท้ายคือการใช้เครื่องมือดิจิทัลช่วยเก็บข้อมูบแบบเรียลไทม์ได้ทุกที่ทุกเวลา

โครงการเริ่มต้นเมื่อปี 2014 โดยได้โหลดแอพพ์ให้อาสาสมัครผ่อดีดีในชุมชนซึ่งคัดเลือกโดยองค์กรส่วนท้องถิ่น และสอนเรื่องสัญญาณโรคระบาดในสัตว์เบื้องต้น เช่นไก่คอแหงนหรือวัวน้ำลายไหล เมื่อเจอสัญญาณตรงกับที่เคยถูกสอนมาก็ให้เปิดแอพพ์ถ่ายรูป ใส่พิกัดจีพีเอส เลือกชนิดสัตว์ที่ป่วย ระบุอาการและจำนวนสัตว์ที่ป่วย และอาการนี้เกิดในเล้าใกล้เคียงไหม โดยอาการเหล่านี้ที่บรรดาอาสาสมัครรายงานมา อัลกอลิทึมจะประมวลว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นโรคระบาดหรือไม่ และจะส่งคำตอบกลับไปหาอาสาสมัครที่ส่งข้อมูลมาว่าควรทำอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตามจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอีกทีว่าเป็นเหตุการณ์จริงหรือไม่ และเมื่อยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นเหตุการณ์จริงก็จะทำการส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อย่างปศุสัตว์อำเภอ

ทั้งนี้เมื่อเทียบกับระบบแบบเดิม ผ่อดีดีทำงานได้ดีกว่า เพราะในอดีตหากชาวบ้านเห็นไก่ตายก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ และเจ้าหน้าที่ก็มีกำลังคนไม่เพียงพอที่จะไปตรวจได้ทุกเล้าทุกหมู่บ้าน ฉะนั้นผ่อดีดีจึงทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวประสานงานเพื่อให้เกิดการจัดการปัญหา

๐เงินรางวัลที่ได้มาจะขยายผลโครงการผ่อดีดีอย่างไร และบทบาทของภาครัฐจะช่วยโครงการนี้อย่างไร

ดร.เลิศรัก – อยากให้มีแอพพ์ผ่อดีดีใช้ในประเทศ เพราะไทยมีบทบาทที่เป็นผู้นำในด้านสัตวแพทย์และปศุสัตว์ด้วย แต่ราชการจะขยับอย่างไร ส่วนตัวคิดว่าต้องยั่งยืนในไทยก่อน จึงจะสามารถขยายไปต่างประเทศได้ โดยผ่านช่องทางที่มีอยู่แล้วอย่างอาเซียน การที่ทรินิตีให้รางวัลเป็นเครื่องการันตีว่าเครื่องมือนี้ดีจริง
หากได้แรงหนุนจากกระทรวงเกษตรหรือกระทรวงการต่างประเทศคงสามารถจะผลักดันให้ในภูมิภาคนี้ใช้ได้ เพื่อป้องกันโรคระบาดข้ามทวีปหรือโรคระบาดในสัตว์ และเพื่อป้องกันโรคระบาดใหม่จากสัตว์ไปสู่มนุษย์ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกแน่นอนในอนาคตแน่นอน

คุณปฏิพัทธ์ – มีแนวคิดว่าที่จะสรุปกลไกความสำเร็จเพื่อแปลงเป็นเครื่องมือให้ประเทศอื่นใช้งานได้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เคยเขียนไว้ในแคมเปญหาเสียงด้วยว่าจะให้ประชาชนเป็นหูและตาในเรื่องโรคระบาด ซึ่งเหมือนกับที่ผ่อดีดีทำ สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ผ่อดีดีทำเป็นสิ่งที่สำคัญกับโลกมาก หากเราสามาถแปลงผ่อดีดีมาเป็นเครื่องมือให้ประเทศอื่นในโลกได้ใช้ได้ เราก็อาจจะป้องกันการเกิดโรคระบาดในครั้งหน้าได้

ด้านท่านทูตพิษณุให้คำมั่นว่าทางกระทรวงต่างประเทศจะช่วยกันผลักดันโครงการนี้ไปสู่ระดับโลกให้ได้ และเชื่อว่าบุคคลสำคัญในแวดวงต่างๆ ที่อยู่ในห้องสัมมนานี้จะช่วยกันผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐสนใจโครงการดีๆ และทำให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนในไทยและนำโครงการนี้ไปสู่ระดับโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image