สกู๊ปหน้า 1 : ชัยชนะ “สายฟ้าแลบ” ของ ทาลิบัน ในอัฟกานิสถาน

สกู๊ปหน้า 1 : ชัยชนะ “สายฟ้าแลบ” ของ ทาลิบัน ในอัฟกานิสถาน

ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้างออกไปทุกทิศทุกทาง

ตั้งแต่การเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงความล้มเหลวชนิด “ขายขี้หน้า” อีกครั้งของ “อเมริกัน โมเดล” ว่าด้วยการเข้าแทรกแซงเพื่อ “ปลดปล่อย” และสร้าง “ประชาธิปไตย” ขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่ง

เรื่อยไปจนถึงการสูญเสียความน่าเชื่อถือมหาศาลของสหรัฐอเมริกาในฐานะ “หุ้นส่วน” ของชาติพันธมิตร และความจำเป็นในการต้องทบทวน ปรับเปลี่ยน จัดลำดับความสำคัญใหม่หมดในเกมทางการทูตของทั้งภูมิภาค เมื่อ “ผู้เล่น” ที่ทรงอิทธิพลในอัฟกานิสถานเปลี่ยนไปจากสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศอย่างรัสเซีย, จีน,และปากีสถาน แบบกะทันหัน

กระนั้นในทันทีที่คาบูล “แตก” สิ่งหนึ่งซึ่งนักการทหารอาชีพระดับนายพล นักวิชาการด้านความมั่นคง และผู้นำการเมืองโลกหลายคนออกมาเตือนกันก็คือ ระวังอัฟกานิสถานจะกลับไปเป็น “แดนสวรรค์ของผู้ก่อการร้าย” ที่ใช้ที่นี่เป็นฐาน ออกปฏิบัติการก่อการร้ายทั่วโลกอีกครั้ง

Advertisement

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กำชับเรื่องนี้ในการประชุม ครม.รับวิกฤตคาบูล แม้แต่คนอย่าง อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็ออกมาเรียกร้องด้วยตนเองให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น “ใช้เครื่องมือทุกอย่าง” เพื่อระงับยับยั้ง “ภัยก่อการร้ายที่คุกคามต่อทั้งโลก” จากอัฟกานิสถาน

ดูราวกับว่าการหวนกลับมาปกครองอัฟกานิสถานอีกครั้งของทาลิบัน หมายถึงอัฟกานิสถานจะกลับกลายเป็นฐานของกลุ่มก่อการร้ายอีกครั้ง “โดยอัตโนมัติ” ยังไงยังงั้น

แม้จะโชคดีที่ทาลิบันยึดถือกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) เป็น “คู่แข่ง” ไม่ใช่พันธมิตร แต่กับอัลเคด้ากลับตรงกันข้าม

Advertisement

ทาลิบันปกครองอัฟกานิสถานทั้งประเทศครั้งหลังสุด ระหว่างปี ค.ศ.1996-2001 ในห้วงเวลาดังกล่าว อัฟกานิสถานถือเป็น “รัฐนอกคอก” ที่ไม่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ มีเพียง 3 ชาติเท่านั้นที่ให้การรับรองสถานะ “รัฐ” อย่างเป็นทางการ คือ ซาอุดีอาระเบีย, ปากีสถาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ในช่วงเวลานั้น นอกจากทาลิบันจะกดขี่ข่มเหงประชาชนของตนเองอย่างเข้มงวดแล้ว ยังให้ที่พักพิง ตั้งค่ายฝึกก่อการร้ายให้กับ โอซามา บิน ลาเดน และขบวนการอัลเคด้าและเป็นที่มาของแผนการเขย่าโลกด้วยการก่อการร้ายอย่างเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งคร่าชีวิตอเมริกันไปเกือบ 3,000 คน

“นักรบ” มูจาฮิดีนของขบวนการก่อการร้ายทั่วโลกแห่แหนกันเข้ามายังอัฟกานิสถาน ประเมินกันว่ามีไม่น้อยกว่า 20,000 ราย ที่ “สำเร็จการฝึก” จากค่ายก่อการร้ายที่นั่นแล้วหวนกลับไปใช้ “ทักษะอันตราย” ที่ร่ำเรียนมา อาละวาดก่อการร้ายในทุกที่ทุกทาง ตั้งแต่มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไปจนถึงซีกโลกตะวันตก

อัฟกานิสถานกลายเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งความหวาดกลัว” ที่ขึ้นชื่อลือชาไปทั้งโลก และกลายเป็นมูลเหตุให้สหรัฐอเมริกาหยิบมาเป็นข้ออ้างในการส่งกำลังทหารบุกอัฟกานิสถาน โค่นล้มระบอบทาลิบันพ้นจากอำนาจเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา

ในการหวนกลับมามีอำนาจทั่วประเทศอีกครั้ง เบื้องต้นทาลิบันพยายามไม่น้อยในการแสดงตัวว่า “รัฐอิสลามเอมิเรตส์แห่งอัฟกานิสถาน” ที่ก่อตั้งขึ้น นอกจากจะเป็นการฟื้นฟูอำนาจรัฐขึ้นมาเพื่อความสงบ เป็นระเบียบเรียบร้อย สะสางปัญหาคอร์รัปชั่น การแก่งแย่งแตกแยกกันเองและความสูญเปล่าที่รัฐบาลอัฟกานิสถานในคาบูลเคยเป็นให้หมดจด

ทาลิบันย้ำหลายครั้งในระหว่างการเจรจาสันติภาพที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ว่าได้ “ตัดขาดความสัมพันธ์” กับอัลเคด้าไปแล้ว หากทาลิบันต้องการแสวงหาการรับรองสถานะของประเทศอย่างเป็นทางการจากนานาชาติอย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง ก็จำเป็นต้องทำเช่นนั้น

ปัญหาคือหลายฝ่ายปฏิเสธว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าว ไม่เป็นความจริง รายงานข่าวกรองตะวันตกยังคงยืนยันว่า สัมพันธ์ “ลึกซึ้ง” ระหว่างทาลิบันกับอัลเคด้ายังไม่เปลี่ยนแปลง อัลเคด้ายังคงฝังตัวอยู่ในอัฟกานิสถานอย่างมั่นคง แม้จะพยายาม “โลว์ โปรไฟล์” อย่างยิ่งก็ตามที

วันที่ “คาบูลแตก” ในห้องแชตของอัลเคด้าที่จังหวัดคูนาร์ ยังมีสมาชิกอัลเคด้าส่งข้อความแสดงความยินดีกับ “ชัยชนะประวัติศาสตร์” ของทาลิบันครั้งนี้ ในกลุ่มนักรบที่ร่วมปฏิบัติการบุกสายฟ้าแลบเมื่อไม่นานมานี้ ยังมี “นักรบต่างชาติ” ที่ไม่ใช่คนท้องถิ่นของอัฟกานิสถานรวมอยู่ด้วย

แม้แต่ในรายงานล่าสุดของสหประชาชาติก็ยังยืนยันเช่นกันว่า การตัดสัมพันธ์ที่ว่าเป็นเพียง “ข้ออ้าง” ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่แต่อย่างใด สัจจาณ โฆเฮล นักวิชาการจากเอเชียแปซิฟิก ฟาวเดชัน ให้สัมภาษณ์บีบีซีนิวส์เอาไว้ คาดการณ์ว่าในเวลานี้มีสมาชิกของอัลเคด้าอยู่ประมาณ 200-500 คน ฝังตัวอยู่ใน “คูนาร์”

คูนาร์ เป็นจังหวัดห่างไกลทางตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่เป็นป่าสนทึบ มีหุบเขาสลับกับทิวเขาน้อยใหญ่ ภูมิประเทศเอื้ออำนวย ทั้งยังอยู่ห่างไกลจากอำนาจรัฐ เหมาะกับการฝังตัว

ดร.โฆเฮลเชื่อว่า ไม่ช้าไม่นานจำนวนสมาชิก อัลเคด้าที่คูนาร์จะทวีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ชาติตะวันตกคงยากที่จะ “ควบคุม” กลุ่มก่อการร้ายในอัฟกานิสถานได้

ที่ผ่านมา ชาติตะวันตกอาศัย “สำนักงานข่าวกรองอัฟกัน” (เอ็นดีเอส) เป็นหูเป็นตาให้สามารถจัดการกับค่ายก่อการร้ายที่ฝังตัวอยู่เช่นนี้ เอ็นดีเอสมีเครือข่ายสายข่าวที่เป็นตัวบุคคลประจำอยู่มากมายในพื้นที่ “ทุรกันดาร” ที่แม้แต่อำนาจรัฐยังเข้าไม่ถึงเช่นนี้ เพื่อรายงานพฤติกรรม ที่ตั้ง สำหรับการบุกโจมตีทางอากาศของทีมปฏิบัติการจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และหน่วยปฏิบัติการรบพิเศษของกองทัพอัฟกานิสถาน

ทั้งหมดเหล่านั้นไม่มีอีกต่อไปแล้วในเวลานี้ หากปรากฏ “ค่ายฝึกก่อการร้าย” ขึ้นอีกในอัฟกานิสถาน อย่างดีที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ก็คือ การโจมตีจากระยะไกล โดยอาศัย “โดรน” หรือ “จรวดครูส” แบบเดียวกับที่เคยใช้ในการ “ล่าสังหาร” อัลเคด้า และบิน ลาเดน เมื่อปี 1998 ร่วมกันกับความพยายามในระดับนานาชาติเพื่อป้องกัน “นักรบมูจาฮิดีน” ไม่ให้ผ่านเข้าสู่อัฟกานิสถานอีกครั้ง

เอ็ดมุนด์ ฟริตตัน-บราวน์ ผู้ประสานงานของยูเอ็น ว่าด้วยการติดตามตรวจสอบ กองกำลังรัฐอิสลาม, อัลเคด้า และทาลิบัน ยืนยันกับบีบีซีว่า อัลเคด้ายังคงแทรกตัวอยู่ในขบวนการทาลิบัน ร่วมปฏิบัติการทางทหารและร่วมการฝึกอยู่อย่างแข็งขัน ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่าย ถือเป็นความสัมพันธ์ “ประวัติศาสตร์” ที่ยากเปลี่ยนแปลง

เมื่อปลายปีที่แล้ว เอ็นดีเอสเคยประกาศว่า สามารถสังหาร ฮัสซัม อับดุล อัล-ราอุฟ ชาวอียิปต์ ที่เป็นสมาชิกระดับสูงของอัลเคด้า ได้ในจังหวัดกาซนี คือหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงการ
คงอยู่ของกลุ่มก่อการร้ายนี้ในอัฟกานิสถาน ข้อสรุปของฟริตตัน-บราวน์ ก็คือ อัลเคด้าในอัฟกานิสถาน ยังคง “อยู่ดี” และ “อันตรายอย่างยิ่ง” อยู่ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image