สกู๊ปหน้า 1 : ระเบิดที่คาบูล อีก‘จุดเปลี่ยน’ ของอัฟกานิสถาน

Security personnel assist with evacuation of the people waiting outside the airport in Kabul, Afghanistan August 25, 2021 in this picture obtained from social media. Twitter/DAVID_MARTINON via REUTERS THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY. MANDATORY CREDIT. NO RESALES. NO ARCHIVES

สกู๊ปหน้า 1 : ระเบิดที่คาบูล อีก‘จุดเปลี่ยน’ ของอัฟกานิสถาน

จํานวนชาวอัฟกานิสถานที่ออกันอยู่บริเวณด้านนอกกำแพงท่าอากาศยานนานาชาติ ฮามิด คาไซ ในกรุงคาบูล เมื่อ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ทวีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งใกล้เส้นตาย 31 สิงหาคมมากขึ้นเท่าใด ผู้คนยิ่งมากขึ้น ความกระวนกระวายใจยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ทหารอเมริกันจากทีมปฏิบัติการเฉพาะกิจพิเศษเพื่อการอพยพจากอัฟกานิสถาน บริเวณ “ประตูแอบบีย์” ทางตะวันออกของท่าอากาศยาน ยังคงวุ่นวายอยู่กับการทำหน้าที่ “คัดกรอง” เบื้องต้น ไม่ได้เฉลียวใจแม้แต่น้อยว่าได้ปล่อยให้บุคคลอันตรายผู้หนึ่งผ่านเข้ามาภายในปริมณฑล

กว่าจะรู้ตัว มือระเบิดฆ่าตัวตายรายนั้นก็กระชากชนวนแผงระเบิดที่คาดติดลำตัวให้ระเบิดทำงานขึ้นแล้ว ชั่วพริบตา ระเบิดอีกลูกก็ระเบิดขึ้นตามมา คราวนี้อยู่นอกท่าอากาศยาน บริเวณใกล้กับโรงแรมบารอน แหล่งชุมนุมของคนต่างชาติ ทั้งอเมริกัน อังกฤษ และอื่นๆ ที่เตรียมอพยพกลับบ้านเกิด

ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดดังกล่าวยังไม่นิ่ง ทหารอเมริกันพลีชีวิตให้กับปฏิบัติการครั้งนี้ไป 13 นาย อีก 18 นาย ได้รับบาดเจ็บ ทั้งหมดถูกนำตัวขึ้นเครื่องบินลำเลียงของทหารพร้อมหน่วยแพทย์ทหารที่พร้อมสำหรับการผ่าตัด เดินทางออกจากคาบูลในทันที

Advertisement

บุคคลสัญชาติอังกฤษอย่างน้อย 2 ราย เสียชีวิต จำนวนชาวอัฟกันที่เสียชีวิตเพิ่มจาก 30 รายเป็นกว่า 60 รายแล้ว กลายเป็นอย่างน้อย 95 รายอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์รายหนึ่งของโรงพยาบาลวาซีร์ อัคบาร์ ข่าน บอกว่า อาจมีอัฟกันมากถึง 169 ราย เสียชีวิตจากเหตุระเบิดครั้งนี้ เป็นเหตุระเบิดที่ส่งผลสะเทือนไกลไปทั่วโลก ไล่ตั้งแต่วอชิงตัน ไปจนถึงกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี

ระเบิดที่แสดงให้เห็นถึง “ความจริงใหม่” ในอัฟกานิสถาน ที่สามารถผลักดันให้บรรดาชาติตะวันตกเข้าสู่จุดอับอีกครั้ง เหลือหนทางให้เลือกน้อยมาก

หลังเหตุการณ์ กลุ่มติดอาวุธที่เรียกตัวเองว่า “อิสลามิก สเตท โคราซาน” หรือ “ไอเอส-เค” ที่ถือเป็นกลุ่มก่อการร้ายในเครือข่ายเดียวกันกับ “กองกำลังรัฐอิสลาม” หรือ “ไอเอส” ในซีเรียและอิรัก ออกมาอ้างว่า สมาชิกของตนเป็นผู้ลงมือก่อเหตุดังกล่าว เพื่อ “ลงโทษ” อเมริกันและผู้สมคบคิด

Advertisement

“ไอเอส-เค” มีเป้าหมายทำนองเดียวกันกับไอเอส คือการสร้าง “รัฐอิสลาม” เข้มงวดขึ้นเพื่อขยายออกไปเป็นเครือข่ายรัฐอิสลามที่จะแผ่อิทธิพลออกไปครอบครองทั้งโลก “ไอเอส-เค” เชื่อว่าทาลิบันคือ “อะพอสเทต” ที่หมายถึงผู้ที่เลิก ละทิ้งอุดมการณ์มุสลิม ซึ่ง “สมควรตาย” ไม่ควรอนุญาตให้มีชีวิตอยู่ต่อไปอีกแล้ว

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดรุนแรงที่สุด แถลงด้วยใบหน้าเคร่งเครียดที่น้อยครั้งจะแสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกา ไม่มีวันลืมและไม่มีวันให้อภัยต่อผู้วางแผนอำมหิตครั้งนี้

โฆษกทำเนียบขาวขยายความเพิ่มเติมในภายหลังว่า ผู้นำสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้ใครก็ตามที่วางแผนการหนนี้มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อีกต่อไป

อีกฟากหนึ่งของโลก แองเกลา แมร์เคิลนายกรัฐมนตรีผู้ทรงอิทธิพลของเยอรมนี กล่าวอย่างยอมรับในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่า ระเบิดที่คาบูล แสดงให้เห็นชัดเจนว่า “ทาลิบันคือความเป็นจริงในอัฟกานิสถานในยามนี้” เป็นความเป็นจริงใหม่ที่ขมขื่น แต่ “เราต้องทำงานร่วมกับทาลิบัน” แมร์เคิลยืนยันอย่างนั้น

ไม่ว่าจะย่ำแย่เพียงใด แต่ทางเลือกของบรรดาชาติตะวันตกในอัฟกานิสถานหลงเหลือไม่มากนัก หนทางที่ดีที่สุดในทางเลือกที่เหลืออยู่ก็คือ แทนที่จะไล่ต้อนระบอบทาลิบันที่เพิ่งได้อำนาจด้วยการยึดครองคาบูลเมื่อ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ให้ “เข้าตาจน” ชาติตะวันตกคงต้องหันมาร่วมมือกับระบอบทาลิบันแทน

นักการทูตอาวุโสในสังกัดชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) รายหนึ่ง เปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่วันก่อนเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ประเทศอย่างปากีสถานและตุรกี พยายามเรียกร้องต่อบรรดาชาติตะวันตกทั้งหลายว่า “อย่าต้อนทาลิบันให้จนมุมเร็วนัก” ชะลอการแซงก์ชั่นรัฐบาลทาลิบันที่คาบูลไปก่อน รักษาช่องทางการติดต่อหารือ และร่วมมือกับทาลิบันเอาไว้ แม้จะน้อยนิดเพียงใดก็ตาม

เป้าหมายก็เพื่อป้องกันไม่ให้โครงสร้างความมั่นคงของอัฟกานิสถานล่มสลาย กลายเป็นประเทศไร้ขื่อแป และเป็นแหล่งบ่มเพาะกองกำลังก่อการร้ายที่สามารถคุกคามไปทั่วทั้งโลก ป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตผู้อพยพครั้งใหญ่ขึ้นซึ่งคุกคามต่อความมั่นคง ปลอดภัยของประเทศผู้รับเช่นเดียวกัน

ทาลิบันต้องการความช่วยเหลือแน่นอน สถานะทางเศรษฐกิจของอัฟกานิสถานกำลังตกอยู่ในสภาพวิกฤตสาหัส ทั้งจากการสู้รบนานปี และจากภาวะแล้งเข็ญทั่วประเทศ ชนิดทำให้ชาวอัฟกันอย่างน้อย 5.5 ล้านคน จากจำนวนประชากร 40 ล้านคน กลายสภาพเป็น “คนพลัดถิ่น” อยู่ภายในประเทศตัวเองแล้ว

ระเบิดที่สนามบินคาบูล เปลี่ยน-หรืออย่างน้อยก็ตอกย้ำความจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมต่ออัฟกานิสถานต่อไป อียูประกาศอย่างเป็นทางการว่า ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อชาวอัฟกันทั้งที่หลบหนีออกนอกประเทศ และที่ยังอยู่ในอัฟกานิสถาน เพิ่มขึ้นจากเดิม 50 ล้านยูโรเป็น 200 ล้านยูโร

สหรัฐอเมริกาเริ่มแสดงท่าทีต้องการให้การดำเนินการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่ออัฟกานิสถานคงอยู่ต่อไป แม้ยังไม่ยินยอมลดความแข็งกร้าวในการแซงก์ชั่นทาลิบันลงก็ตาม

ไรอัน ครอคเกอร์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำอัฟกานิสถาน บอกว่า การ “ล่าถอยอย่างไม่เป็นกระบวน” ของสหรัฐอเมริกาจากอัฟกานิสถาน กลายเป็น “เหตุการณ์ที่เสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงสุดโต่งทุกที่ทั่วโลก”

เหตุระเบิดที่คาบูลเป็นการ “เตือนความทรงจำ” ให้รำลึกว่า ถ้าหากอัฟกานิสถานถูกปล่อยให้ “ล่มสลาย” เพราะความไร้ประสิทธิภาพและข้อจำกัดของตนเองแล้ว มุสลิมติดอาวุธสุดโต่งเหล่านี้แหละที่จะมีที่หยัดยืน และแข็งแกร่งมากขึ้นตามลำดับ

ครอคเกอร์บอกกับซีเอ็นเอ็นเอาไว้ว่า “ที่เป็นปัญหาในตอนนี้ไม่ใช่เรื่องของการที่ทาลิบันยึดครองและเข้าควบคุมอัฟกานิสถาน ปัญหาที่แท้จริงก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า ถ้าทาลิบันไม่สามารถครอบครองและควบคุมอัฟกานิสถาน ก็ไม่มีใครควบคุมอัฟกานิสถานอีกแล้ว”

อัฟกานิสถานจะกลายเป็นพื้นที่บ่มเพาะผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงสุดโต่งแบบไม่มีวันสิ้นสุดกลุ่มรุนแรงสุดโต่งที่มีแนวคิดเดียวกันจะแห่แหนกันเข้ามาใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานที่มั่น แล้วทุกอย่างก็อาจจะวนลูปกลับไปสู่เหตุการณ์ 9/11 เหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน ที่เป็นต้นเหตุให้สหรัฐอเมริกาต้องส่งกำลังเข้ามาในอัฟกานิสถานอีกครั้ง ในระหว่างทางเลือกที่แย่ๆ สองทาง การเลือกข้างทาลิบัน ย่อมเลวร้ายน้อยกว่าทางเลือกที่ส่งเสริมการผงาดขึ้นมาครอบงำอัฟกานิสถานด้วยมือเปื้อนเลือดของไอเอส-เค อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image