คุยกับโฆษกบัวแก้ว การต่างประเทศในวิกฤตโควิด และการทูตกับการแสวงหาวัคซีน

คุยกับโฆษกบัวแก้ว
การต่างประเทศในวิกฤตโควิด
และการทูตกับการแสวงหาวัคซีน

///

หมายเหตุ “มติชน”นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เล่าให้ฟังถึงการใช้ช่องทางการทูตช่วยหาวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อบรรเทาผลกระทบในไทย และการดำเนินนโยบายต่างประเทศในห้วงเวลาแห่งการแพร่ระบาดใหญ่ พร้อมตอบคำถามถึงคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบไม่สมดุล ไปจนถึงการช่วยแก้ไขปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา

///

๐กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทในการช่วยหาวัคซีนโควิด-19 อย่างไร

Advertisement

ช่วงที่ผ่านมากระทรวงทำทุกวิถีทางและเข้าหาทุกประเทศ ใช้ความสัมพันธ์ที่ดีที่เรามีกับหลายประเทศ การติดต่อกันล่วงหน้าเป็นผลให้ประเทศต่างๆ บริจาควัคซีนให้กับไทยอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน บางประเทศอย่างภูฏานก็เป็นความสัมพันธ์พิเศษ และขณะนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่อยู่ระหว่างการพูดคุยในเรื่องวัคซีน ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทุกแห่งพูดคุยเรื่องการแบ่งปันความร่วมมือเกี่ยวกับวัคซีนระหว่างกันได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการให้การสนับสนุนหรือการแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (vaccine swap) บางประเทศก็มีเทคโนโลยี นวัตกรรม ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่เขาทำอยู่ พูดได้ว่าเราเปิดทุกช่องทาง

กระทรวงตระหนักว่าเราได้รับการคาดหวังจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคม เพราะเรามีเครือข่ายทั่วโลก จึงพยายามแสดงบทบาทตรงนี้ให้ดีที่สุด เรายังใช้การทูตสนับสนุนในทุกมิติ ไม่ใช่แค่เรื่องวัคซีนเท่านั้น กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงสาธารณสุข เราก็ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดอยู่ตลอด

เราไม่อาจได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจและมิตรประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคในภารกิจที่สำคัญทั้งหมดนี้ หากมิใช่ที่ผ่านมาเราดำเนินบทบาทการทูตเชิงรุกอย่างสมดุลและสร้างสรรค์ แม้จะเป็นการทำงานท่ามกลางแรงกดดันของสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ก็ตาม

Advertisement
นรม.รับมอบวัคซีนจากสหรัฐอเมริกา

๐แต่บางคนก็มองว่ากต.ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบไม่สมดุล ซึ่งทำให้ไทยเสียประโยชน์

ยืนยันว่าการดำเนินความสัมพันธ์ของไทยกับมิตรประเทศมีความสมดุล เรามีความร่วมมือที่ใกล้ชิด มีพลวัต และมีปฏิสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องกับนานาประเทศทั่วโลกในทุกระดับและทุกด้าน ซึ่งรวมทั้งกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหภาพยุโรป (อียู) สหราชอาณาจักร และรัสเซีย เรารักษาสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทุกมิติ อันเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายการต่างประเทศไทยมาโดยตลอด การดำเนินความสัมพันธ์และผลักดันความร่วมมือที่ดีเชิงรุกและใกล้ชิดระหว่างไทยกับนานาประเทศเช่นนี้ ส่งผลให้เราได้รับการสนับสนุนจากมิตรประเทศทั่วโลกด้วยไมตรีจิตในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

ท่านรองนายกฯและรมว.กต.มีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ใกล้ชิดกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งรวมถึงมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีน รมว.กต.เกาหลีใต้ก็เพิ่งเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และเราก็เพิ่งให้การต้อนรับรองประธานาธิบดีและรมว.กต.สวิตเซอร์แลนด์ไป ในส่วนของสหรัฐ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศและเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐประจำสหประชาชาติซึ่งดูแลด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับเมียนมาก็เพิ่งเดินทางเยือนไทย มีการหารือกันอย่างใกล้ชิดเพราะสหรัฐรู้ว่าไทยมีกลไกและช่องทางที่จะช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และมีช่องทางที่จะพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ ในเมียนมา สหรัฐให้ความช่วยเหลือไทยในการต่อสู้กับโควิด-19 และส่งความช่วยเหลือผ่านไทยต่อไปยังเมียนมาด้วย กับญี่ปุ่นก็มีการหารือกันอย่างใกล้ชิดมากเช่นกัน

รองปธน.และรมว.กต.สวิตเซอร์แลนด์เยือนไทย

๐แต่ก็ยังมีคนมองว่าเราค่อนข้างให้ความสำคัญกับจีนมากกว่าชาติตะวันตก

ดูแบบเป็นกลาง การดำเนินการทางการทูตของไทยเราทำเพื่อผลประโยชน์รวมของประเทศไทยและภูมิภาค เรายังไม่เห็นว่าการดำเนินความสัมพันธ์ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีต่างๆ ของเรามีความไม่สมดุลตรงไหน หรือไทยให้ประเทศใดประเทศหนึ่งเข้ามามีบทบาทหรือมีอิทธิพลในภูมิภาคจนส่งผลกระทบต่อความสมดุลในภูมิภาคโดยรวม

เรายังทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างใกล้ชิดในความร่วมมือทั้งในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความร่วมมือหลังโควิด-19 ว่าจะฟื้นฟูกันอย่าง เชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจอย่างไร ความร่วมมือด้านดิจิทัล และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นการทำงานเพื่อมองไปข้างหน้า ซึ่งมหาอำนาจต่างๆ ที่เป็นคู่เจรจาของอาเซียนทุกประเทศก็สนใจและให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือกันในมิติเหล่านี้ ทั้งในกรอบทวิภาคีและในกรอบอาเซียน ในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน ไทยมีประสบการณ์ในการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจดีพอสมควร สามารถเกื้อหนุนความสัมพันธ์และทำให้เกิดผลทางบวกต่อภูมิภาคได้

๐การผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ข้อจำกัดของโควิด-19 เป็นปัญหามากเพียงใด

แน่นอนว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รูปแบบการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ก็เป็นโอกาสที่ประเทศต่างๆ รวมถึงไทยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการสร้างปฎิสัมพันธ์ ในสาระสำคัญยังคงมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นและความร่วมมือกันได้ สิ่งที่อ่อนด้อยไปบ้างคือความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคลซึ่งก็มีความสำคัญมาก การประชุมสำคัญที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแบบพบหน้าค่าตากันยังจำเป็นต้องมีต่อไป อย่างการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งทำให้เกิดผลความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์กับประชาชน เราจะทำให้การต่างประเทศทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างเต็มที่ภายใต้ข้อจำกัดที่มี

รมว.กต.เกาหลีใต้เยือนไทย

๐หลังมีผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเรื่องเมียนมา การแก้ไขปัญหาเมียนมาจะพัฒนาต่อไปอย่างไร

ไทยเห็นว่าอาเซียนมีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยกันในเมียนมาได้ เราพร้อมสนับสนุนภารกิจของดาโตะ เอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 2 ของบรูไนในฐานะผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนด้านสถานการณ์ในเมียนมาอย่างเต็มที่ และมุ่งหวังให้มีการเริ่มต้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนพิเศษโดยเร็วตามเจตนารมณ์ในฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียน

ท่านรองนายกฯและรมว.กต.ได้หารือทางไกลกับผู้แทนพิเศษ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม และไทยยังได้เสนอให้มีการประชุมประเทศผู้บริจาคเพื่อระดมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา (Pledging Conference to Support ASEAN’s Humanitarian Assistance to Myanmar) ซึ่งได้ประชุมกันอย่างเร่งด่วนไปเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ประชุมสามารถระดมเงินได้มากกว่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยประกาศมอบเงินสมทบ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ และพร้อมอำนวยความสะดวกการขนส่งความช่วยเหลือไปยังเมียนมาด้วย

ไทยติดตามสถานการณ์ในเมียนมาและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาเป็นเงินกว่า 25 ล้านบาท ด้วยความห่วงใยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิด เราต้องการเห็นสันติภาพ ความสงบสุข และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในเมียนมา ขณะเดียวกันไทยก็ตระหนักดีถึงความซับซ้อนของสถานการณ์ในเมียนมา ด้วยเหตุนี้ทุกย่างก้าวของเราจึงต้องรอบคอบและรอบด้าน โดยคํานึงถึงผลที่จะตามมาในทุกมิติ เพื่อให้สามารถสื่อสารได้อย่างตรงไปตรงมาให้มีการยุติความรุนแรง ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว และให้ฝ่ายต่างๆ ในเมียนมาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประชาชนเมียนมาเป็นสำคัญ

นรม.รับมอบวัคซีนโควิดจากอังกฤษ

ความช่วยเหลือรับมือโควิด-19ที่ไทยได้รับจากการประสานงานของ กต.

จีนส่งวัคซีนซิโนแวค 1 ล้านโดสให้ไทย ทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกและติดตามการจัดหาวัคซีนของบริษัทซิโนแวคและบริษัทซิโนฟาร์ม เพื่อประสานงานให้การจัดซื้อและส่งมอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ญี่ปุ่นมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1,050,000 โดสให้แก่ไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม

สหรัฐอเมริกา ผลักดันความร่วมมือเพื่อเข้าถึงวัคซีนของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนของสหรัฐ ได้แก่ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และโนวาแวกซ์อย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ทั้งในรูปแบบของการจัดซื้อ การขอรับความช่วยเหลือ และการเจรจาข้อตกลงแลกเปลี่ยนวัคซีน (vaccine swap) ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม สหรัฐได้มอบวัคซีนไฟเซอร์กว่า 1.5 ล้านโดสให้ไทย และประกาศจะบริจาควัคซีนเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้ยังในขั้นตอนการประสานงานกับ และยังมอบความช่วยเหลือไทยในการรับมือโควิด-19 อีก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สหราชอาณาจักรให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 415,000 โดสเมื่อเดือนสิงหาคม

สวิตเซอร์แลนด์มอบเครื่องช่วยหายใจ 102 เครื่อง และชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบเร็ว (Rapid Antigen Test) 1.1 ล้าน

ภูฏานแลกเปลี่ยนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล่วงหน้า 150,000 โดส ส่งมอบเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม
๐เยอรมนี กต.เจรจาขอรับมอบยา Monoclonal antibody (Casirivimab/Imdevimab) ซึ่งใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนัก จากกระทรวงสาธารณสุขประเทศเยอรมนี 1,000-2,000 ชุด

ยังอยู่ระหว่างการเจรจาความร่วมมือเพื่อการสรรหาวัคซีนจากอินเดีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง

รองนรม.และรมว.สธ.รับมอบวัคซีนโควิดจากจีน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image