“ระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์” โดย “มิสเตอร์ คิม”

เกาหลีเหนือฉลองปีใหม่ไม่เหมือนใครอื่น ในขณะที่ทั่วโลกจุดพลุ จุดดอกไม้ไฟ เฉลิมฉลองการมาถึงของปีลิง ′คิม จองอึน′ ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือกลับสั่งให้จุดระเบิดนิวเคลียร์เป็นการเฉลิมฉลองไปเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา เป็นการเขย่าขวัญสั่นประสาทประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงไปในตัว

อันที่จริง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้วที่เกาหลีเหนือทดลองระเบิดนิวเคลียร์ หลังจากที่เคยสร้างความแตกตื่นไปทั่วโลกเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ปี 2006 แล้วก็ทดลองต่ออีก 2 ครั้ง คือ 25 พฤษภาคม 2009 กับ 12 กุมภาพันธ์ 2013 ความตกอกตกใจค่อยๆ น้อยลงตามลำดับ มีแต่ความกังวลที่ทวีขึ้นมาแทน ด้วยความที่ว่า เกาหลีเหนือ ได้ชื่อว่าเป็นชาติที่ “คาดเดาไม่ได้” มากที่สุดในโลกนั่นเอง

แต่พอเกิดการทดลองครั้งหลังสุดความตกใจกลับยกระดับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เหตุผลก็เพราะว่า คราวนี้

“มิสเตอร์คิม” ของเราอ้างหน้าตาเฉยว่า ที่ทดลองไม่ใช่ระเบิดนิวเคลียร์ธรรมดา แต่เป็นไฮโดรเจนบอมบ์ หรือเอช-บอมบ์ ซึ่งเรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “ระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์”

Advertisement

หลายๆ ประเทศ ทั้งใกล้และไกล รวมถึงหน่วยงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับการดำเนินความพยายามห้ามการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ และลดกำลังอาวุธชนิดนี้ลง ปั่นป่วนกันไปทั่วเพื่อหาหนทาง “ยืนยัน” ให้ได้ว่า ข้อกล่าวอ้างที่ว่านั้น เป็นจริงหรือเท็จ

การยืนยันที่ว่านี้มีความสำคัญไม่น้อย ด้วยเหตุผลสองประการครับ อย่างแรกก็คือ ถ้าการทดลองที่คุณคิม แกอ้างว่า “ประสบความสำเร็จ” ครั้งนี้เป็น เอช-บอมบ์ หรือเทอร์โมนิวเคลียร์จริง ก็เท่ากับเป็นจุดสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุดหน้าระดับ “ก้าวกระโดด” ในทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ไม่เหมือนกับเทคโนโลยีแบบเดิมๆ ที่ใช้ทำระเบิดนิวเคลียร์ที่ทดลองกันไปก่อนหน้านี้

ซึ่งนั่นนำไปสู่เหตุผลประการถัดมาที่ว่า ถ้าเป็นเทอร์โมนิวเคลียร์จริง ก็จะยิ่งเพิ่ม “อานุภาพทำลายล้าง” ให้กับประเทศที่ “คาดเดาไม่ได้” อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า “อันพรีดิคเทเบิล” ประเทศนี้ขึ้นอีกมหาศาลมาก

Advertisement

จะเข้าใจเหตุผลทั้งสองอย่างลึกซึ้ง ต้องทำความรู้จักก่อนครับว่า นิวเคลียร์ทั่วไปกับเทอร์โมนิวเคลียร์นั้นต่างกันตรงไหน อย่างไร

ระเบิดนิวเคลียร์ (ที่คิดกันขึ้นมาทำไมก็ไม่รู้) ซึ่งมีกันอยู่ในครอบครองในบรรดาประเทศ “ที่มีศักยภาพนิวเคลียร์” ในเวลานี้มีอยู่ 3-4 แบบด้วยกันครับ

(ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว มีแค่แบบเดียวก็ทำลายทั้งโลกได้เหลือแหล่แล้ว) ผมพยายามใช้ภาษาง่ายๆ อธิบายทำความเข้าใจกันไปทีละแบบก็แล้วกัน

แบบแรกที่มีมากที่สุด แล้วก็เป็นพื้นฐานของอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหลาย คือระเบิดนิวเคลียร์จากปฏิกิริยาฟิสชั่น ที่สหรัฐอเมริกาไปหย่อนใส่ญี่ปุ่นก็เป็นชนิดนี้ ที่เกาหลีเหนือทดลองมาก่อนหน้านี้ 3 ครั้งก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน

ระเบิดนิวเคลียร์ฟิสชั่น หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่าระเบิดนิวเคลียร์ มีหลักการทำงานง่ายๆ คือเริ่มต้นจากการจุดระเบิดธรรมดาๆ เพื่อสร้างแรงอัดให้นิวตรอนที่อยู่ในระบบวิ่งเข้าชนกับนิวเคลียสของธาตุหนัก (อย่างเช่น ยูเรเนียม 235 หรือพลูโตเนียม 239 เป็นต้น) ให้แตกตัวออก การแตกตัวของนิวเคลียสธาตุหนักที่ว่านี้ นอกจากจะปลดปล่อยกันมันตรังสีและพลังงานออกมาแล้ว ยังทำให้เกิดนิวตรอนอิสระขึ้นอีก 2-3 ตัว เจ้านิวตรอนใหม่นี้ก็จะวิ่งชนนิวเคลียสของธาตุหนักไปเรื่อยๆ ก่อให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า “ปฏิกิริยาลูกโซ่” พลังงานที่เกิดขึ้นก็จะมากมายมหาศาลนั่นเอง

ระเบิดนิวเคลียร์แบบที่สอง ก็คือ ระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์นี่แหละครับ บางคนเรียกกันว่า “ทู สเตจ บอมบ์” เพราะขั้นตอนการระเบิดที่เป็นการทำลายล้างนั้นเกิดขึ้น 2 ขั้นตอนด้วยกัน แต่อานุภาพหลักของมันเกิดขึ้นจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น คือการทำให้นิวเคลียสของธาตุเบา 2 ชนิด (มักเป็นไฮโดรเจนกับฮีเลียม ซึ่งทำให้มันถูกเรียกว่าเป็นระเบิดไฮโดรเจน) หลอมรวมเข้าด้วยกันกลายเป็นนิวเคลียสใหม่ที่หนักกว่า เป็นลูกโซ่ไปเรื่อยๆ การรวมตัวกันหรือการฟิวชั่นนี้จะปลดปล่อยพลังงานออกมามากกว่าปฏิกิริยาฟิสชั่นมากมายเลยทีเดียว

แต่การทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชั่นนั้นต้องใช้ความร้อนและแรงดันสูงมาก(ว่ากันว่าเป็นความร้อนระดับเดียวกับบริเวณผิวดวงอาทิตย์เลยทีเดียว) ซึ่งทำให้เราเรียกระเบิดนิวเคลียร์ชนิดนี้ว่า เทอร์โมนิวเคลียร์ วิธีการที่จะทำให้เกิดความร้อนสูงและแรงดันมากๆ ที่ว่านั้นก็คือ จุดระเบิดนิวเคลียร์ฟิสชั่นขึ้นก่อนเป็นลำดับแรกนั่นเอง

ปัญหาในเชิงเทคนิคที่ทำให้ระเบิดชนิดนี้สร้างยากก็คือทำอย่างไรถึงจะทำให้หัวระเบิดที่เก็บไฮโดรเจนอยู่รอการเกิดปฏิกิริยาฟิวชั่นนั้น สามารถทนแรงระเบิดจากปฏิกิริยาฟิสชั่นได้

มีคนพิเรนบางคนหาทางลัดครับ เอาไอโซโทบของไฮโดรเจนบางอย่าง อาทิ ดิวเทอเรีย กับ ทริเทียม ไปล้อมไว้รอบแกนระเบิดฟิสชั่น เพื่อให้เมื่อเกิดปฏิกิริยาฟิสชั่นขึ้นแล้วจะเกิดปฏิกิริยาฟิวชั่นหรือการหลอมรวมนิวเคลียส (ดิวเทอเรียม กับ ทริเทียม เมื่อหลอมรวมกันจะกลายเป็น ฮีเลียม) ขึ้นตามมา เพิ่มอานุภาพระเบิดได้มากขึ้น (แต่ไม่มากเท่ากับระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร์) กลายเป็นระเบิดฟิสชั่นแบบลูกผสมขึ้นมาเป็นแบบที่ 3

บางคนเรียกระเบิดแบบที่ 3 นี้ว่า “บูสต์ ฟิสชั่น บอมบ์” ครับ

สุดท้าย เคยมีคนไร้สติบางคนคิดระเบิดนิวเคลียร์แบบ “ทรี สเตจ บอมบ์” ขึ้นมาครับ คือจากระเบิดฟิสชั่น ไปทำให้เกิดระเบิดฟิวชั่นขึ้นแล้วไปทำให้เกิดระเบิดฟิสชั่นขึ้นอีกรอบ

ระเบิดนี้ถูกตั้งชื่อว่า ซาร์ บอมบา แรงระเบิดเท่ากับ 50 เมกะตัน

ประมาณว่า แค่ลูกเดียวก็เตียนโล่งไปเกือบครึ่งโลกแล้วละครับ!

กลับมาที่สิ่งซึ่ง “มิสเตอร์คิม” ของเราอวดอานุภาพไว้ ผมกำลังจะบอกว่า ถ้าเป็น “เทอร์โมนิวเคลียร์” จริงก็แสดงว่า วิทยาการทางด้านนี้ของเกาหลีเหนือก้าวขึ้นสู่ระดับ “แถวหน้า” ของโลกแล้วละครับ แล้วก็ยิ่งทำให้ความกังวลเรื่อง “ความเอาแน่เอานอนไม่ได้” ของคุณคิม กลายเป็นเรื่องน่าวิตกมากยิ่งขึ้นหลายเท่าตัว

ด้วยเหตุผลง่ายๆ ครับ เทอร์โมนิวเคลียร์ กับ ระเบิดนิวเคลียร์ทั่วไป ในขนาดที่ครือๆ กันนั้น เทอร์โมนิวเคลียร์มีอานุภาพทำลายล้างร้ายแรงกว่า 1 พันเท่าตัว!

ปัญหาคือ ไม่ค่อยมีใครเชื่อลมปาก “มิสเตอร์คิม” แกเท่าใดนัก ไม่เพียงแค่คนที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามเท่านั้นที่ไม่เชื่อ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทดลองนิวเคลียร์ที่พยายามหาทาง “แบน” การทดลองทั้งโลกอยู่ในเวลานี้ก็ไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่นัก

คนเหล่านี้ใช้อะไรเป็นหลักฐาน?

คำตอบคือใช้การวัดแรงสั่นสะเทือนของแผ่นเปลือกโลกนั่นแหละครับเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการ”ยืนยัน” ข้อเท็จจริงหนนี้ จริงๆ แล้วเขามีสถานีตรวจจับการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ (ใต้ดิน) อยู่ทั่วโลกครับ ใกล้ๆ เราก็มีทั้งในจีน เกาหลีใต้ รัสเซีย แล้วก็ญี่ปุ่น

จริงๆ แล้วแค่ไม่ถึงนาทีหลังการทดลอง เครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนที่มูต้านเจียงเมืองของจีนใกล้กับชายแดนเกาหลีเหนือก็แสดงความผิดปกติให้เห็น

ข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นว่าเกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ใต้ดิน “ไม่ลึกนัก” แรงสะเทือนจากการทดลองวัดได้ 4.8 ตามมาตราริกเตอร์ ถือว่าเล็กกว่าเมื่อครั้งที่เกาหลีเหนือทดลองครั้งหลังสุดในปี 2013 ด้วยซ้ำไป เพราะตอนนั้นวัดได้ถึง 4.9 แรงระเบิดเทียบได้เท่ากับระเบิดทีเอ็นที 3.5 กิโลตัน น้อยกว่าระเบิดที่สหรัฐทิ้งใส่ญี่ปุ่นเมื่อปี 1945 เสียด้วยซ้ำ

ตอนที่สหรัฐอเมริกายังบ้าอาวุธนิวเคลียร์อยู่และเคยทดลองเอช-บอมบ์ใต้ดิน “ลึกมาก” ที่อลาสก้าเมื่อปี 1971 นั้น วัดแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 6.8 ตามมาตราริกเตอร์เลยทีเดียว

นั่นเป็นที่มาของการประเมินเบื้องต้นว่า ถ้า “มิสเตอร์คิม” แกไม่จงใจ “แหกตา” คนทั้งโลกว่าทำเอช-บอมบ์ได้ แกก็คงถูกนักวิทยาศาสตร์เกาหลีเหนือเอง “แหกตา” เอาโดยใช้การทดลอง “บูสต์ ฟิสชั่น บอมบ์” มาทำให้เชื่อว่าเป็นเทอร์โมนิวเคลียร์บอมบ์

บางคนถึงกับบอกว่า ถึงเป็นบูสต์ ฟิสชั่น บอมบ์ ก็อาจจะแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการทดลองด้วยซ้ำไป

แต่…ครับยังมีแต่ตามมา

เจฟฟรีย์ลูอิส ผู้อำนวยการโครงการไม่เผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออก ของสถาบันศึกษานานาชาติมอนเทอร์เรย์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เตือนเอาไว้ว่า การประเมินอานุภาพอาวุธนิวเคลียร์จากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินนั้น “มีค่าความผิดพลาดสูงมาก”

ความข้อนี้ตรงกับความคิดเห็นของ “นักวิทยาศาสตร์” ที่เชื่อว่าจะยืนยันให้แน่นอนได้จริงก็มีหลักฐานมากกว่านี้ หลักฐานที่ว่านั้นก็คือ ตัวอย่างของ “อนุภาค” ที่เกิดขึ้นจากการทดลองระเบิด แล้วปนเปื้อนขึ้นสู่อากาศ อนุภาคที่เรียกว่า “เรดิโอนิวไคลด์” เหล่านี้แหละจะบ่งชี้ได้ชัดเจนอย่างยิ่งว่า เกาหลีเหนือทดลองอะไรกันแน่

คาดว่าอีกราว 2-3 วัน ตัวอย่างอากาศปนเปื้อนดังกล่าวจะมาถึงสถานีตรวจจับการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ในรัสเซียหรือไม่ก็ในญี่ปุ่น

ที่น่าสนใจก็คือ ไม่กี่ชั่วโมงหลังการทดลองของเกาหลีเหนือ สหรัฐอเมริกา สั่งการให้เครื่องบิน “ดับเบิลยูซี-135 คอนสแตนท์ ฟีนิกซ์” ที่เชี่ยวชาญในการตรวจจับและยืนยันการทดลองระเบิดนิวเคลียร์จนเรียกขานกันว่า “เดอะ สนิฟเฟอร์” บินขึ้นจากฐานทัพอากาศ ออฟฟัท ในรัฐเนบราสกาผ่านแคนาดาไปยังญี่ปุ่นทันที

“เดอะ สนิฟเฟอร์” เป็นเครื่องบินใช้เฉพาะเพื่อเก็บตัวอย่างอากาศ มาตรวจวิเคราะห์หาสารกัมมันตภาพรังสี ก๊าซ และเศษชิ้นส่วนจากการระเบิด เพื่อยืนยันชนิดของระเบิดได้

ถึงตอนนั้นก็คงได้รู้กันว่าระเบิดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือคราวนี้ เป็นเทอร์โมนิวเคลียร์จริงหรือโม้กันแน่!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image