WHO ชี้เฝ้าระวัง โควิด-19 สายพันธุ์ ‘มิว’ หวั่นต้านทานวัคซีน-หลบหลีกภูมิคุ้มกัน

WHO ชี้เฝ้าระวัง โควิด-19 สายพันธุ์ ‘มิว’ หวั่นต้านทานวัคซีน-หลบหลีกภูมิคุ้มกัน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 1 กันยายน ระบุว่า องค์การอนามัยโลก (ฮู) เปิดเผยว่ากำลังอยู่ระหว่างสังเกตการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “มิว” (Mu) ที่มีความเสี่ยงที่จะมีความต้านทานต่อวัคซีนหลายชนิด และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าว

รายงานระบุว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์มิว หรือที่นักวิทยาศาสตร์รู้จักในชื่อ B.1.621 ค้นพบครั้งแรกที่ประเทศโคลัมเบีย เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก เปิดเผยในรายงานประจำสัปดาห์ระบุว่า ได้จัดให้ สายพันธุ์มิว เป็นโควิด-19 “สายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง” (variant of interest)

โดยองค์การอนามัยโลก ระบุด้วยว่า โควิด-19 สายพันธุ์มิว มีการกลายพันธุ์ที่บ่งชี้ได้ถึงความเสี่ยงในการต้านทานต่อวัคซีนหลายชนิด และมีความเสี่ยงที่จะหลบหลีกภูมิต้านทานได้ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจไวรัสสายพันธุ์มิวนี้ให้ดียิ่งขึ้น

การยกระดับมิวขึ้นสู่ระดับวีโอไอครั้งนี้ ทำให้ อนามัยโลกจำเป็นต้องเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ประกอบด้วยเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าวิตก (วีโอซี) อยู่ 4 ตัว คือ เชื้อ อัลฟ่า (บี.1.1.7-อังกฤษ), เบต้า (บี.1.351-แอฟริกาใต้), แกมม่า (พี.1-บราซิล) และ เดลต้า (บี.1.617.2-อินเดีย) และมี วีโอไออีก 5 ตัว คือ เอต้า (บี.1.525), ไอโอต้า (บี.1.526-สหรัฐ), แคปป้า (บี.1.617.1-อินเดีย), แลมบ์ด้า (ซี.37-เปรู) และ มิว (บี.1.621-โคลอมเบีย) นั่นเอง

Advertisement

ทั้งนี้ในเวลานี้ พบเชื้อกลายพันธุ์มิว ระบาดอยู่ในหลายประเทศในภาคพื้นอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก โดยในทวีปอเมริกานอกจากจะพบในโคลอมเบียแล้ว ยังพบในเม็กซิโก, กือราเซา, สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนใต้ของรัฐฟลอริดา, ส่วนในยุโรปมีระบาดใน เนเธอร์แลนด์, เดนมาร์ก และเยอรมนี รวมทั้งล่าสุด เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบผู้สูงอายุในเนิร์สซิงโฮมที่เมืองซาเวนเทมใกล้กับกรุงบรัสเซลส์เสียชีวิตรวดเดียว 7 รายจากการติดเชื้อกลายพันธุ์นี้ และทำให้ ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป (อียูซีดีซี) ยกระดับมิวให้เป็นวีโอไอ มาแล้วก่อนหน้าที่องค์การอนามัยโลกจะยกระดับในครั้งนี้

ทั้งนี้ ในรายงานผลการศึกษาเพื่อวิเคราะห์การกลายพันธุ์ของมิว โดย แคเธอรีน เลตัน-โดนาโต และ คณะ เผยแพร่เมื่อ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่า มิว มีกลุ่มการกลายพันธุ์ที่แตกต่างออกไปจากการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่แล้ว ซึ่งมักวนเป็นวงกลมจำกัดอยู่เฉพาะในสายพันธุกรรมที่กำหนดคุณลักษณะของโปรตีนหนามหรือสไปค์ โปรตีน ทั้งนี้เมื่อจำแนกพันธุกรรมของ มิว ออกมา พบว่า นอกจากจะมีการกลายพันธุ์ในพื้นที่สไปค์โปรตีนมากถึง 8 ตำแหน่ง 10 จุด แล้ว ยังพบการกลายพันธุ์ในพื้นที่อื่นๆ ของเซลล์ของมิวอีกมากถึง 11 ตำแหน่งอีกด้วย

ตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่สำคัญ ซึ่งอาจทำให้มิวสามารถเลี่ยงหนีจากภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการติดเชื้อ หรือ จากการฉีดวัคซีนได้ก็คือ การกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง E484K พร้อมกับ N501Y และ การลบโปรตีนบางตัวทิ้งที่ตำแหน่ง del69/70 ซึ่งส่งผลให้เชื้อมีความสามารถในการต่อต้านแอนติบอดียับยั้งเชื้อ ที่พบในพลาสมาของผู้ที่หายป่วยจากโควิดได้

Advertisement

การกลายพันธุ์ที่น่าวิตกของมิวอีกประการเกิดขึ้นกับส่วนที่เป็นสารพันธุกรรมซึ่งถูกใช้เป็นตัวอ้างอิงในการตรวจสอบหาเชื้อด้วยวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมของโควิด ที่เราเรียกกันว่า อาร์ที-พีซีอาร์ ซึ่งทีมวิจัยเชื่อว่า การกลายพันธุ์ในตำแหน่งจะส่งผลกระทบต่อผลการตรวจหาเชื้อ ทำให้เกิดความผิดพลาดในการตรวจหาเชื้อได้โดยอาจทำให้จำนวนเคสเพิ่มขึ้นแบบผิดๆ ที่อาจทำให้คิดว่าเป็นผลจากการติดเชื้อกลายพันธุ์อื่นได้ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image