คอลัมน์โกลบอลโฟกัส : รู้จักเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ “มิว” และ “ซี.1.2”

รู้จักเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ “มิว” และ “ซี.1.2”

เชื้อไวรัสทุกชนิด รวมทั้ง โคโรนาไวรัส ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงในพันธุกรรมอยู่ตลอดเวลา เพราะการทำสำเนาลำดับพันธุกรรมของไวรัส มักเกิดความผิดพลาดขึ้นทุกครั้งที่มันแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนในร่างกายของคนเรา
เป็นความผิดพลาดแบบ “สุ่ม” ที่เกิดขึ้นมากบ้าง น้อยบ้าง แต่เกิดขึ้นแทบทุกครั้ง
ทุกครั้งที่นักวิทยาศาสตร์พบการกลายพันธุ์ขึ้น สิ่งแรกที่ทำก็คือ การนำเอาเชื้อกลายพันธุ์นั้นไปเทียบเคียงในเชิงพันธุกรรมกับเชื้อที่รู้จักกันก่อนหน้านี้และมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับเชื้อใหม่มากที่สุด เพื่อตรวจสอบหา “ความต่าง” ในทางพันธุกรรมระหว่างเชื้อทั้ง 2 อย่าง
“เชื้อกลายพันธุ์ใหม่” หรือ “แวเรียนท์” จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ “ความต่าง” ในทางพันธุกรรมระหว่างเชื้อใหม่กับเชื้อเดิมนั้น มีความแตกต่างกันในปริมาณ “สูงมาก”
การตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมไวรัสที่จำแนกไว้จะเกิดขึ้นตามมา เพื่อดูว่า การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของไวรัสมากมายแค่ไหน ควร “แจ้งเตือน” ต่อองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) หรือไม่
ดับเบิลยูเอชโอ แบ่งความร้ายแรงของเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ออกเป็น 2 ระดับ
ระดับแรกคือ เชื้อกลายพันธุ์ที่ต้อง “จับตา” หรือ “เฝ้าระวัง” ภาษาอังกฤษเรียกว่า “แวเรียนท์ ออฟ อินเทอเรสต์” (วีโอไอ) อันเป็นสถานะของเชื้อกลายพันธุ์ที่ ดับเบิลยูเอชโอ กำหนดไว้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในจุดที่ “อาจจะ” ส่งผลกระทบต่อคุณลักษณะสำคัญของไวรัส อาทิ แพร่ระบาดได้เร็วขึ้น, ก่อให้เกิดอาการหนักมากขึ้น, สามารถหลีกเลี่ยงจากภูมิคุ้มกัน(และวัคซีน) หรือ การตรวจวินิจฉัย หรือ การรักษาเยียวยา ได้
การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น “อาจ” ส่งผลให้เกิด “ผลกระทบในเชิงระบาดวิทยา” กล่าวคือ ทำให้เชื้อกลายพันธุ์นั้นๆ กลายเป็นความเสี่ยงต่อสาธารณสุขของโลก
ระดับที่สอง ซึ่งร้ายแรงที่สุด ก็คือ การเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าวิตก (แวเรียนท์ ออฟ คอนเซิร์น-วีโอซี) ที่ดับเบิลยูเอชโอ กำหนดไว้ว่า คือ วีโอไอ ที่ “พิสูจน์แล้ว” ว่า มีการกลายพันธุ์ที่เปลี่ยนคุณลักษณะสำคัญของไวรัสจนส่งผลในทางระบาดวิทยาและกลายเป็นความเสี่ยงขึ้นจริงๆ
เมื่อ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ดับเบิลยูเอชโอ ประกาศให้ เชื้อกลายพันธุ์ใหม่ “บี.1.621” ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศโคลอมเบีย ให้เป็น “วีโอไอ” และให้เรียกชื่อตามตัวอักษรกรีกลำดับที่ 12 ว่า “มิว”
เป็น “วีโอไอ” ตัวแรกของดับเบิลยูเอชโอ นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา!

******

ดับเบิลยูเอชโอ ระบุเหตุผลเอาไว้ในการประกาศให้ มิว เป็น วีโอไอ ว่า เป็นเพราะเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้ มี “กลุ่มการกลายพันธุ์ที่บ่งชี้ถึงคุณสมบัติที่มีศักยภาพในการเลี่ยงภูมิคุ้มกัน”
ซึ่งพูดง่ายๆ อีกทางหนึ่งได้ว่า มิว มีการกลายพันธุ์ที่อาจ หลบเลี่ยงหรือต้านภูมิคุ้มกันที่วัคซีนสร้างขึ้นให้เราได้นั่นเอง
มิว ตรวจพบครั้งแรกในประเทศโคลอมเบีย เมื่อ มกราคม 2021 มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า บี.1.621 หลังจากนั้นก็แพร่ไปทั่วประเทศ และมีการตรวจพบในประเทศต่างๆ อีก 43 ประเทศทั่วโลกในเวลานี้ รวมทั้งในอังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา เรื่อยมาจนถึงญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
กระนั้น ปริมาณการติดเชื้อจริงๆ ของมิวทั่วโลกก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ประเมินกันว่าอยู่ที่แค่เพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการติดเชื้อทั้งหมดของโลกเท่านั้น
คำถามสำคัญก็คือ มิว สามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่า หรือสามารถก่อให้เกิดอาการป่วยหนักกล่า เชื้อกลายพันธุ์ เดลต้า หรือไม่?
ในทางวิชาการ มิว มีการกลายพันธุ์ที่เรียกว่า “P681H” ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในเชื้อกลายพันธุ์ “อัลฟ่า” (บี.1.1.7-อังกฤษ) ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่ทำให้ อัลฟ่า สามารถแพร่ระบาดได้เร็วขึ้นกว่าเดิม แต่งานวิจัยเกี่ยวกับการกลายพันธุ์นี้ยังคงเป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้น ทำให้เรายังไม่แน่ใจว่า P681H ส่งผลให้ มิว ระบาดได้เร็วขึ้นกว่าเดิมหรือไม่
มิว ยังมีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง E484K และ K417N ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ที่ทำให้มีความสามารถหลีกเลี่ยง ภูมิคุ้มกัน ที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการเคยติดเชื้อสายพันธุ์อื่น หรือ จากการได้รับวัคซีน หลักฐานที่บ่งชี้ถึงความสามารถดังกล่าวนี้หนักแน่นกว่า เนื่องจาก การกลายพันธุ์แบบเดียวกันนี้เคยพบในเชื้อกลายพันธุ์ “เบต้า” (บี.1.351-แอฟริกาใต้) ที่มีการศึกษาวิจัยมาก่อนหน้านี้
ดังนั้น มีความเป็นได้ที่ มิว จะสามารถทำให้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพลงได้เหมือนกับที่เบต้าทำได้
นอกจากนั้น มิว ยังมีการกลายพันธุ์อื่นๆ อีก รวมทั้ง R346K และ Y144T อันเป็นตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน ผลกระทบยังไม่ล่วงรู้ จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์วิจัยกันต่อไป
ผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้นที่น่าสนใจก็คือ ห้องปฏิบัติการทดลองแห่งหนึ่งในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ที่ทดลองนำเอา วัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัท ไฟเซอร์-ไบออนเทค มาทดสอบกับมิวเปรียบเทียบกับเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ
ผลการทดลองพบว่า วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพลดลงในการจัดการกับมิว แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ดี สามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้
ข้อที่น่าสังเกตอีกประการก็คือ ที่ผ่านมา มีเชื้อกลายพันธุ์ที่ ดับเบิลยูเอชโอ จัดให้อยู่ในระดับ “วีโอไอ” รวมทั้งสิ้น 4 ตัว คือ เอต้า (บี.1.525-พบในหลายประเทศ), ไอโอต้า (บี.1.526-สหรัฐอเมริกา), คัปป้า (บี.1.617.1-อินเดีย) และ แลมบ์ด้า (ซี.37-เปรู) ยังไม่มีตัวไหนที่ถูกยกระดับขึ้นเป็น วีโอซี เลยแม้แต่ตัวเดียว
ก็ได้แต่คาดหวังว่า มิว ก็คงจะเป็นเช่นเดียวกัน

******

Advertisement

ไล่เรี่ยกับที่ มิว ถูกยกระดับขึ้นเป็น วีโอไอ ทีมนักวิจัยจากแอฟริกาใต้ นโดย ศาสตราจารย์ โวล์ฟกัง พรีเซอร์ ก็เผยแพร่งานวิจัยที่ยังไม่ผ่านการตรวจทานจากเพื่อนร่วมวิชาชีพ ที่แสดงให้เห็นว่า โลกมี เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ใหม่อีกตัวหนึ่งแล้ว
เชื้อกลายพันธุ์ดังกล่าว ได้รับชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “ซี.1.2”
ทีมวิจัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ เครือข่ายเฝ้าระวังทางพันธุกรรม (เอ็นจีเอส) ในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันแรกๆ ของโลกที่บุกเบิกการประสานงานและการจัดทำระบบเฝ้าระวังทางพันธุกรรมของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ด้วยการจำแนกพันธุกรรม
เมื่อตอนปลายปี 2020 ที่ผ่านมา เอ็นจีเอส คือผู้ตรวจพบ เชื้อกลายพันธุ์ “เบต้า” (บี.1.351) ทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ตรวจพบพันธุกรรมของ “เดลต้า” (บี.1.617.2) ในทันทีที่แพร่ระบาดมาถึงแอฟริกาใต้อีกด้วย
ซี.1.2 ตรวจสอบพบครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา และในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนสิงหาคมนี้ ทีมวิจัยพบว่า ซี.1.2 แพร่ระบาดออกไปจนสามารถตรวจพบได้ในทุกจังหวัดของประเทศ
อย่างไรก็ตาม การตรวจพบดังกล่าวยังไม่ถือว่าบ่อยครั้งนัก และ แม้หลักฐานทางพันธุกรรมจะแสดงให้เห็นว่า ซี.1.2 ระบาดเพิ่มมากขึ้นเล็กน้อยในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ปริมาณยังคงจำกัดอยู่ในระดับต่ำ
ในเวลาต่อมา ซี.1.2 เริ่มพบว่าระบาดในประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากแอฟริกาใต้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจนถึงขณะนี้ ยังคงไม่แน่ชัดว่า ในที่สุดแล้ว เชื้อกลายพันธุ์นี้จะกลายเป็นเชื้อที่ระบาดออกไปทั่วโลกหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เอ็นจีเอส ตัดสินใจแจ้งเตือนถึงการตรวจพบเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ ทั้งต่อองค์การอนามัยโลก และ ต่อ สำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติแอฟริกาใต้ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 2 เดือนหลังจากการตรวจพบครั้งแรก
ด้วยเหตุที่ว่า ซี.1.2 นี้ มีการกลายพันธุ์ในลำดับพันธุกรรมที่เคยพบเห็นกันมาก่อนในเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ ทั้ง เบต้า, แลมบ์ด้า และ เดลต้า แวเรียนท์ นอกเหนือจากการกลายพันธุ์ใหม่ที่เป็นการกลายพันธุ์จำเพาะของตัวมันเองอีกจำนวนหนึ่ง
การวิเคราะห์การกลายพันธุ์ที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมของไวรัส ยังคงดำเนินอยู่ในเวลานี้ แต่การที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งเดียวกันกับ เชื้อกลายพันธุ์เดลต้าและเบต้า ที่นอกจากจะแพร่ระบาดเร็วมากแล้วยังพบว่า ทำให้วัคซีนด้อยประสิทธิภาพลงอีกด้วย ก็เพียงพอต่อการแจ้งเตือนแล้ว
ริชาร์ด เลสเซลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ หนึ่งในทีมวิจัยของเอ็นจีเอส ตั้งข้อสังเกตุเอาไว้ว่า จากรูปแบบการกลายพันธุ์ที่ตรวจสอบ ซี.1.2 อาจมีคุณสมบัติที่สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดียิ่งกว่าเชื้อ เดลต้า ด้วยซ้ำไป
นายแพทย์ ซาอิน ชากลา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ จากมหาวิทยาลัยแม็คมาสเตอร์ ในเมืองแฮมิลตัน แคนาดา บอกว่า การปรากฏขึ้นของ เชื้อกลายพันธุ์ที่ “ส่อเค้า” อันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ อย่าง “มิว” และ “ซี.1.2” เป็นเสมือนหนึ่งคำเตือน หรือสัญญาณอันตราย ต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
และแสดงให้เห็นว่า “ความเสมอภาคทางวัคซีน” ของโลก นั้นมีนัยสำคัญอย่างไร
เพราะยิ่งให้โอกาส โควิด-19 ได้แพร่ระบาดในที่ใดที่หนึ่งของโลกต่อไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะเกิดการกลายพันธุ์อันตราย ซึ่งในที่สุดสามารถเอาชนะวัคซีนที่มีทุกตัวได้ ก็ยิ่งมีมากขึ้น
ไม่มีประเทศไหนปลอดภัยได้ จนกว่าทุกประเทศจะปลอดภัยทั้งหมด
//////////////////////////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image