ย้อนอดีตมองอนาคต สัมพันธ์ “อาเซียน-จีน-สหรัฐ”

ย้อนอดีตมองอนาคต
สัมพันธ์ “อาเซียน-จีน-สหรัฐ”

///

หมายเหตุ “มติชน”เมื่อไม่นานมานี้ระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “เสวนาวิชาการซีรีส์ไทยกับโลกและประเทศเพื่อนบ้าน : อาเซียนในยุคที่จีนกับสหรัฐขัดแย้งแข่งขันกันอย่างหนัก : มุมมองจากไทย” เพื่อวิเคราะห์ถึงบทบาทและจุดยืนของอาเซียนท่ามกลางการแข่งขันระหว่าง 2 มหาอำนาจใหญ่ของโลกอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ผ่านมุมมองของ นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูต และ นายกวี จงกิจถาวร นักหนังสือพิมพ์อาวุโส

///

AFP

๐สมาคมอาเซียนในยุคสงครามเย็น

Advertisement

ทูตสุรพงษ์ – สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 โดยมีประเทศก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และไทย ส่วนหนึ่งที่ประเทศสมาชิกอาเซียนในช่วงเวลานั้นรวมตัวกันจนก่อตั้งสมาคมอาเซียนได้เป็นเพราะจุดร่วมในการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ที่มีเหมือนกัน นับได้ว่าอาเซียนเป็นผลผลิตของสงครามเย็น อาเซียนในยุคสงครามเย็นมีอายุ 24 ปี หลังจากปี 2534 จะเป็นยุคหลังสงครามเย็น นโยบายของอาเซียนในยุคนั้นสนับสนุนสหรัฐ กลัวภัยคอมมิวนิสต์จึงมีความเอกภาพ อีกทั้งในช่วงการก่อตั้งอาเซียนมีผู้นำที่ฉลาด อย่างนายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทยในขณะนั้น และประธานาธิบดีซูฮาร์โตของอินโดนีเซีย

ในช่วงก่อตั้งอาเซียนไม่มีอุปสรรคภายใน เพราะมีเป้าหมายร่วมในเรื่องเดียวกัน ส่วนในประเทศไทยฝ่ายนโยบายของรัฐคือทหาร ซึ่งไม่ได้สนใจอะไรเรื่องการก่อตั้งอาเซียน ส่วนฝ่ายปฏิบัติคือกระทรวงการต่างประเทศ และคนที่เป็นมันสมองในการก่อตั้งอาเซียนคือนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีแนวคิดว่าเราควรมีองค์กรความร่วมมือ แต่เกิดการรัฐประหารก่อน ต่อมาเมื่อจอมพลป.พิบูลสงครามขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจึงได้ยุบแนวคิดนี้ ก่อนหน้านี้ภูมิภาคนี้เคยมีองค์กรความร่วมมือเช่นนี้แล้วคือสมาคมอาสา (Association of South East Asia) แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเกิดข้อพิพาทระหว่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นสมาชิกของอาสา ก่อนที่จะให้ไทยซึ่งเป็นสมาชิกอาสาเหมือนกันเป็นตัวกลางเชื่อมสัมพันธ์และช่วยแก้ปัญหาระหว่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์

ต่อมาหลังจากการก่อตั้งได้สักพักอาเซียนเริ่มกำหนดแนวทาง อย่างอินโดนีเซียไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดแต่ค่อนข้างเอนเอียงไปทางสหรัฐ นอกจากนี้ในยุคสงครามเย็นแต่ละประเทศก็มีความวุ่นวายภายในประเทศที่แตกต่างกันไป แต่ผู้นำในยุคนั้นมีวิสัยทัศน์และมีเป้าหมายร่วมกันคือการต่อต้านคอมมิวนิสต์ เมื่อเจอกรณีของเวียดนามทำให้ชาติสมาชิกอาเซียนในขณะนั้นมีความกลมเกลียวมากขึ้นไป

Advertisement

นายกวี – ปัจจัยภายนอกส่งผลต่อการรวมตัวของชาติอาเซียน และอาเซียนต้องรักษาความเป็นแกนกลาง ส่วนไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่ออาเซียนมีแต่ทำให้นโยบายเข้มข้นขึ้น ท่าทีไทยต่ออาเซียนที่มีความต่อเนื่อง โดยบทบาทของประเทศไทยคือการแก้ปัญหาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอาเซียน ไทยโชคดีที่มีทั้งจีนและสหรัฐช่วยเหลือ นอกจากนี้ความขัดแย้งของอาเซียนเป็นความขัดแย้งแบบพี่น้องกัน และการเรียกร้องของไทยเป็นการเรียกร้องแบบที่ไม่เป็นข่าว โดยไทยมีบทบาทในเชิงลึกเยอะ

ทูตสุรพงษ์ – ชาติอาเซียนไม่มีนโยบายของอาเซียนร่วมกัน มีเพียงนโยบายที่เกิดจากการต่อรอง เรื่องนี้ทำให้ไทยเสียเปรียบ กรณีเมียนมา เมียนมาไม่เคยจะยุติความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยมีเพียงหยุดยิงชั่วคราว และผลประโยชน์ของอาเซียนมาจากการเจรจาต่อรอง

๐บทบาทสหรัฐ-จีนกับอาเซียน

ทูตสุรพงษ์ – อาเซียนมีความสัมพันธ์กับสหรัฐมานานก่อนที่จีนจะเข้ามา สหรัฐช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศอาเซียนมาตลอด ตอนที่สหรัฐแพ้สงครามเวียดนาม สหรัฐจึงไม่สามารถมามีบทบาทในอาเซียนได้อีก โดยจะเล่าแบ่งเป็นภาคๆ ภาคที่1 ยุคสงครามเย็น เป็นความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ ภาคที่ 2 สหรัฐแพ้สงครามแล้วหายไป 30 ปี แต่มีซอฟต์พาวเวอร์ของสหรัฐในภูมิภาคอาเซียนแทน ส่วนบทบาททางทหาร สหรัฐหันไปสนใจภูมิภาคตะวันออกกลางแทน และสหรัฐมีบทบาทในเอเชียตะวันออกแต่ไม่มีในอาเซียน ส่งผลให้ประเทศอาเซียนเกิดความข้องใจในตัวสหรัฐ ในขณะที่ประเทศเมียนมาไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและรอดมาได้ด้วยลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ ในช่วง 30 ปีที่สหรัฐหายไป จีนก็เข้ามามีบทบาทแทน จีนมีอาวุธคือเงินและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ไว้ดำเนินนโยบายกับประเทศกำลังพัฒนา ในยุคหลังสงครามเย็นสนใจนโยบายภายในประเทศมากกว่านโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ และสหรัฐเริ่มมองว่าอาเซียนไม่ได้สำคัญเท่ายุคสงครามเย็น

ต่อมาในปลายยุคสงครามเย็นประธานาธิบดีบารัค โอบามารู้ว่า สหรัฐเพิกเฉยภูมิภาคนี้ไปจึงกลับมาถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาคนี้อีกครั้ง โดยสหรัฐมองภาพรวมไทยและอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ใหญ่ สุดท้ายภาค3 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ของสหรัฐ กลับมาสนใจภูมิภาคอาเซียนอีกครั้ง หลังจากเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐอยากกลับมาสร้างความมั่นใจ กระทั่งในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเน้นว่าภูมิภาคนี้มีความสำคัญกับนโยบายสหรัฐ

ส่วนบทบาทของจีน เริ่มต้นที่ภาคที่1สมัยปฏิวัติเหมา ช่วงกลางยุคสงครามเย็น จีนมีปัญหากับเวียดนามแต่ยังไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอาเซียน ต่อมาภาคที่ 2 มีสงครามกัมพูชา-เวียดนาม โดยสหรัฐกับจีนใช้อาเซียนเป็นเครื่องมือกำจัดสหภาพโซเวียต สุดท้ายภาค 3 ยังไม่มีทิศทางที่แน่ชัดระหว่างอาเซียนกับจีน ความสัมพันธ์นี้ขับเคลื่อนด้วยเหตุการณ์ระดับโลก ด้วยเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนวิธีการเข้าช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาของจีนคือ จีนจะให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนโดยที่ไม่สนใจว่ารัฐบาลนั้นจะคอรัปชันหรือเป็นอย่างไร ต่างจากชาติตะวันตกที่ให้ความสำคัญในเรื่องรัฐบาล จึงทำให้ผู้นำประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศยากจนต่างๆ ชอบจีน

ยืนยันว่าอาเซียนทุกประเทศมีความกังวลกับจีน ไม่อยากถลำเข้าจีนไป โดยแต่ละชาติอาเซียนมีผลประโยชน์กับจีนแตกต่างกัน ในอนาคตถ้าอาเซียนอยู่ในจุดต้องเลือกข้างจีนหรือสหรัฐอาจแตกสลายได้ อาเซียนต้องหลีกเลี่ยงการซูฮกจีนหรือการแตกหักกับจีน สรุปคือผลประโยชน์ของอาเซียนจะมาจากการที่สหรัฐและจีนร่วมมือกัน และต้องไม่ให้เลือกข้าง ส่วนกัมพูชาตอนนี้เหมือนเป็นเมืองขึ้นของจีน และลาวมีปัญหาเรื่องเขื่อน แต่จะไทยจะทำอย่างไรไม่ให้ซูฮกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป

นายกวี – ในปีหน้านายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชาจะเข้ามามีบทบาทมากในอาเซียนเพราะกัมพูชาจะเป็นประธานอาเซียนและจะดึงจีนเข้ามา อาเซียนจะต้องไม่เลือกข้างแต่เอียงข้างได้ สำหรับไทยจะเป็นตัวสำคัญในการชี้นำอาเซียนว่าจะไปทางสหรัฐหรือจีน

แม้สหรัฐสนใจอาเซียนน้อย สหรัฐกำลังสนใจ 3 ประเทศคือเวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ แต่ไม่มีไทยเพราะไทยไม่ได้สำคัญกับสหรัฐเท่ากับสมัยสงครามเย็น อย่างไรก็ตามการฝึกทหารคอบบร้าโกลด์ จะทำให้ความสัมพันธ์ไทยสหรัฐจะเข้มข้นขึ้น ส่วนความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐก็ต้องพยายามให้เข้มข้นขึ้นและต้องมีความต่อเนื่องมากขึ้น โดยทัศนะต่ออาเซียนของทั้งจีนและสหรัฐแตกต่างกัน

๐อนาคตและความอยู่รอดของอาเซียน

ทูตสุรพงษ์ – จากประวัติศาสตร์ในอดีตจะพบว่าไทยมักลืมอะไรง่ายๆ และขาดการสรุปบทเรียน ในอนาคตถ้าประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศใดประพฤติตนผิดกฎกติกาจะไม่ดีต่อองค์กร เราต้องเคารพกฎกติกาที่มี นอกจากนี้อาเซียนใช้ฉันทามติคือประเทศสมาชิกทุกประเทศต้องเห็นด้วยจึงจะลงมือทำได้ ไม่ได้ใช้การโหวตจึงทำให้มีความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ ช้ามาก หากยังไม่เปลี่ยนจะไม่มีความก้าวหน้า และต้องมีบทลงโทษให้กับประเทศสมาชิกที่ละเมิดกฎบัตรด้วย ส่วนการปกครองควรเป็นในทิศทางเดียวกัน และจำนวนสมาชิกที่มากกว่าไม่มีผลต่ออำนาจต่อรอง เราเห็นได้จากประเทศในสแกนดิเนเวียที่มีประชากรไม่มากแต่มีอำนาจต่อรองมาก

นายกวี – อาเซียนอยู่รอดได้ด้วยการปรับตัวเอง และอาจมีการแก้กฎในไม่กี่ปีหน้า นอกจากนี้อาเซียนควรรับประเทศประชาธิปไตยใหม่อย่างติมอร์ตะวันออกเข้ามาแต่ก็ยังไม่รับ การเปลี่ยนแปลงในอาเซียนช้ามาก อาเซียนมีระบบการปกครองหลากหลาย ฉะนั้นจะเอาอาเซียนจะไปเทียบกับสหภาพยุโรป (อียู) ไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image