ธนาคารโลกชี้ภาวะโลกร้อนทำคน 200 ล้านทิ้งบ้านเรือนภายใน 30 ปี

ธนาคารโลกชี้ภาวะโลกร้อนทำคน 200 ล้านทิ้งบ้านเรือนภายใน 30 ปี

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอาจผลักดันให้ผู้คนมากกว่า 200 ล้านคนทั่วโลกต้องทิ้งบ้านเรือนของตนเองในอีก 30 ปีข้างหน้า และทำให้เกิดปัญหาของการอพยพรุนแรงในหลายพื้นที่ เว้นแต่จะมีการลงมืออย่างเร่งด่วนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดช่องว่างด้านการพัฒนา

รายงานดังกล่าวของธนาคารโลกยังได้ตรวจสอบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก อาทิ การขาดแคลนน้ำ การลดปริมาณลงของพืชผลทางการเกษตร และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ว่าอาจทำให้คนอีกหลายล้านต้องกลายสภาพเป็น “ผู้อพยพเนื่องจากสภาพอากาศ” ภายในปี 2050 ขึ้นกับสถานการณ์ความเป็นไปได้ที่ต่างกัน 3 สถานการณ์

ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงและมีการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม จะมีผู้คนมากถึง 216 ล้านคน ที่จะต้องอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานภายในประเทศของตนเองในภูมิภาคต่างๆ ประกอบด้วย ลาตินอเมริกา อเมริกาเหนือ ซับ-ซาฮาราของแอฟริกา ยุโรปตะวันออก เอเชียกลาง เอเชียใต้ สุดท้ายคือเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

ขณะที่ในกรณีที่สถานการณ์เป็นมิตรมากที่สุดคือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย และมีการพัฒนาที่รวมทุกฝ่ายเข้าด้วยกันและการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็ยังมีคนมากถึง 44 ล้านคน ที่ถูกบีบให้ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือน

Advertisement

พื้นที่ซึ่งมีความเปราะบางมากที่สุดในกรณีที่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดขึ้นคือซับ-ซาฮาราของแอฟริกา เพราะสภาพอันแห้งแล้งเป็นทะเลทราย มีชายฝั่งที่เสียหายได้ง่าย และประชากรส่วนใหญ่ดำรงชีวิตโดยพึ่งพิงการทำเกษตรเป็นหลัก ที่จะเห็นตัวเลขผู้อพยพในประเทศพุ่งสูงถึง 86 ล้านคน

ขณะที่ในอเมริกาเหนือจะมีจำนวนประชากรเคลื่อนย้ายคิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุดที่ราว 9% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือราว 19 ล้านคน จากปัญหาหลักคือการขาดแคลนน้ำ ส่วนในเอเชียใต้ บังกลาเทศจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและการปราศจากพืชผลทางการเกษตร และเป็นพื้นที่ที่จะมีเกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรเนื่องจากสภาพอากาศสูงที่สุด

อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวไม่ได้มองถึงผลกระทบในระยะสั้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก อาทิ ผลกระทบจากคลื่นความร้อน และยังไม่ได้พูดถึงผู้อพยพเนื่องจากสภาพอากาศแบบข้ามพรมแดน

Advertisement

นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่า ขณะนี้โลกไม่ได้มุ่งหน้าไปยังทิศทางของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เลวร้ายที่สุด แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบปานกลาง กระนั้นก็ดีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจำนวนมากก็เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image