1 เดือนหลังคาบูลแตก อัฟกันเจอวิกฤตเศรษฐกิจหนัก

REUTERS

1 เดือนหลังคาบูลแตก อัฟกันเจอวิกฤตเศรษฐกิจหนัก

ครบ 1 เดือนหลังจากทาลิบันยึดกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน การปกครองของรัฐบาลทาลิบันชุดใหม่ต้องเผชิญกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับการรับมือกับปัญหาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจ

อัฟกานิสถานเผชิญกับสงครามต่อเนื่องยาวนานกว่า 4 ทศวรรษ ไม่เพียงแต่ทำให้ชาวอัฟกานิสถานเสียชีวิตไปหลายหมื่นคน สถานการณความมั่นคงส่วนใหญ่ดูจะดีขึ้นกว่าเดิมบ้าง แต่เศรษฐกิจของอัฟกานิสถานยังคงเสียหายอย่างหนัก แม้ว่าจะมีการทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในอัฟกานิสถานในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็ตาม

อัฟกานิสถานยังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งและความอดอยากหิวโหย ยิ่งฤดูหนาวที่ใกล้เข้ามายิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ดังกล่าวให้เลวร้ายลงไปอีก แม้แต่โครงการอาหารโลกภายใต้สหประชาชาติซึ่งช่วยจัดหาอาหารให้กับชาวอัฟกันยังแสดงความหวั่นวิตกว่าอาหารที่มีอยู่อาจจะหมดไปภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะทำให้ชาวอัฟกันถึง 14 ล้านคนเสี่ยงที่จะอดตาย

ประชาชนชาวอัฟกันส่วนใหญ่ไม่มีเงินสดสำหรับนำไปจับจ่ายซื้อข้าวของที่จำเป็น เพราะที่ผ่านมางบประมาณกว่า 80% ของอัฟกานิสถานมาจากเงินบริจาคจากต่างชาติ ขณะที่งานของชาวอัฟกานิสถานผูกติดกับต่างชาติหรือองค์การระหว่างประเทศที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เป็นหลัก

Advertisement

ขณะที่ชาติตะวันตกพุ่งเป้าไปที่รัฐบาลทาลิบันชุดใหม่จะรักษาสัญญาที่ให้ไว้ในเรื่องต่างๆ อาทิ สิทธิสตรีหรือการปล่อยให้กลุ่มมติดอาวุธอย่างอัลเคด้าเข้ามาพักพิงในอัฟกานิสถานหรือไม่ แต่สำหรับชาวอัฟกันจำนวนมาก สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขานั้นเรียบง่ายอย่างยิ่ง นั่นคือการเอาชีวิตให้รอด

อับดุลลาห์ ชาวคาบูลรายหนึ่งบอกว่า คนอัฟกันทุกคนและเด็กๆ ต่างหิวโหย พวกเขามีเพียงแป้งถุงหนึ่งกับน้ำมันเท่านั้น ขณะที่คนจำนวนมากยังพากันไปเข้าคิวหน้าธนาคารเพื่อรอถอนเงิน ซึ่งถูกจำกัดไว้เพียง 200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 20,000 อัฟกานีต่อสัปดาห์เท่านั้น

ในตลาดที่เกิดขึ้นกระทันหัน จะเห็นผู้คนพากันนำข้าวของเครื่องใช้ในบ้านออกมาขายแลกเงินสด เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในกรุงคาบูล แม้จะไม่มีผู้ซื้อมากเท่าใดนักก็ตามที

Advertisement

แม้จะมีเงินช่วยเหลือหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐจากต่างชาติ แต่เศรษฐกิจของอัฟกานิสถานยังคงประสบภาวะชะงักงัน เพราะเส้นทางการเติบโตของเศรษฐกิจไม่มีความมั่นคง สวนทางกับการเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอของประชากร ขณะที่งานก็หาได้ยาก และเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมากไม่ได้รับเงินเดือนอย่างน้อยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม

ถึงแม้คนส่วนใหญ่จะยินดีที่การสู้รบยุติลง แต่ความโล่งใจก็ถูกแทนที่ด้วยความโกรธเคืองจากสภาพเศรษฐกิจที่ใกล้จะล่มสลายลงไปทุกขณะ แม้ความมั่นคงจะดีขึ้น แต่ชาวบ้านกลับไม่ได้อะไร ในทางตรงกันข้ามสถานการณ์สำหรับการดำรงชีวิตของพวกเขา เลวร้ายลงเรื่อยๆ ทุกวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image