คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ประชากรสูงวัยญี่ปุ่นพุ่งเป็นประวัติการณ์ ไหลเข้าตลาดแรงงานก็เพิ่ม!

แฟ้มภาพ AFP

คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ประชากรสูงวัยญี่ปุ่นพุ่งเป็นประวัติการณ์ ไหลเข้าตลาดแรงงานก็เพิ่ม!

อุเมโนะ สุมิยามะ และ โคอุเมะ โคดามะ คุณยายทวดแฝดชาวญี่ปุ่น ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนปีค.ศ.1913 เพิ่งได้รับการรับรองจากกินเนสเวิลด์ เรคคอร์ดสไปเมื่อต้นเดือนนี้ ในฐานะเป็นคู่แฝดเหมือนที่มีอายุยืนมากที่สุดในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยถึงวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา คุณยายทวดแฝดทั้งสองมีอายุ 107 ปี กับอีก 300 วัน

ทำลายสถิติของ “คิน นาริตะ” และ “กิน คานิเอะ” ฝาแฝดหญิงร่วมชาติ แชมป์เก่าผู้ทำสถิติโลกไว้ก่อนหน้านี้ที่อายุ 107 ปีกับอีก 175 วัน

และยังเป็นการตอกย้ำสถานะของญี่ปุ่นที่ครองความเป็นประเทศที่ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยสูงที่สุดในโลกอีกด้วย

จากข้อมูลล่าสุดด้านประชากรกลุ่มผู้สูงวัย ที่กระทรวงกิจการภายในประเทศของญี่ปุ่นเปิดเผยออกมาก่อนหน้าวันผู้สูงอายุของญี่ปุ่น ซึ่งตรงกับวันที่ 20 กันยายน ระบุว่า ปีนี้ญี่ปุ่นมีประชากรผมสีดอกเลาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ที่ 36.4 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นจากเมื่อปีก่อน 220,000 คน หรือมีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 29.1% ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่ามากที่สุดในหมู่ 201 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก

Advertisement

ประชากรผู้สูงอายุเพศชายของญี่ปุ่น มีทั้งสิ้น 15.83 ล้านคน คิดเป็น 26% ของประชากรชายญี่ปุ่นทั้งหมด ส่วนผู้สูงอายุเพศหญิงมีทั้งสิ้น 20.57 ล้านคน คิดเป็น 32% ของประชากรหญิงญี่ปุ่นทั้งหมด

สถาบันวิจัยด้านประชากรและความมั่นคงทางสังคมแห่งชาติของญี่ปุ่นระบุว่า กลุ่มผู้สูงอายุในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับจากทศวรรษ 1950 และคาดว่าประชากรผู้สูงอายุของญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นถึง 35.3% ในปีค.ศ.2040 เมื่อกลุ่มคนในยุค “เบบี้บูมเมอร์ รุ่น 2” หรือผู้ที่เกิดช่วงต้นทศวรรษ 1970 จะมีอายุครบ 65 ปีหรือมากกว่านั้น

ข้อมูลของทางการยังเผยให้เห็นว่าผู้สูงอายุญี่ปุ่นยังอยู่ในตลาดแรงงานอีกมาก โดยปี 2020 เป็นปีที่จำนวนผู้สูงอายุที่ยังมีงานทำอยู่ เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 9.06 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 17 ติดต่อกัน หรือคิดเป็น 13.6% ของแรงงานชาวญี่ปุ่นทั้งหมดที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป และคิดเป็น 25.1% ของกลุ่มประชากรผู้สูงอายุทั้งประเทศ

Advertisement

โดยในตลาดแรงงานผู้สูงอายุทั้งหมด เป็นผู้ใช้แรงงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมค้าส่ง-ค้าปลีกมากที่สุดจำนวน 1.28 ล้านคน ตามด้วยภาคการเกษตรและป่าไม้ 1.06 ล้านคน และอุตสาหกรรมบริการ 1.04 ล้านคน

นอกจากนี้ยังมีแรงงานผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีงานประจำอีก 3.9 ล้านคน คิดเป็น 76.5% ของแรงงานผู้สูงอายุทั้งหมด ที่ยังไม่ได้รวมผู้ทำงานในระดับบริหารหรือเป็นเจ้าของธุรกิจเอาไว้ด้วย เทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน ญี่ปุ่นมีแรงงานผู้สูงอายุราว 1.63 ล้านคน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image