สกู็ปหน้า 1 : วิกฤตเอเวอร์แกรนด์ สะเทือนเศรษฐกิจโลก

สกู็ปหน้า 1 : วิกฤตเอเวอร์แกรนด์ สะเทือนเศรษฐกิจโลก

“ไชนา เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป” คือกลุ่มบริษัทที่เติบโตมาจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อตั้งโดย “สวี่ เจียยิ่น” หรือที่ทั่วโลกรู้จักกันในชื่อจีนกวางตุ้งว่า “ฮุย คา หยาน” จนกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่อันดับ 2 ของจีน

ตัว สวี่ เจียยิ่น เอง ครั้งหนึ่งเคยร่ำรวยกลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้านอันดับต้นๆ ของประเทศ ชนิดเคยเบียดเอา “แจ๊ก หม่า” ตกบัลลังก์มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศมาแล้ว

สวี่ เจียยิ่น ก่อตั้งเอเวอร์แกรนด์เมื่อปี 1996 สร้างความมั่งคั่้งจากโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยอาศัยช่วงเวลาที่ทางการจีนสนับสนุนให้มีโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย พัฒนาชุมชนเมืองขึ้นทั่วประเทศ

นักวิเคราะห์ต่างประเทศเรียกวิธีการของ เอเวอร์แกรนด์ว่า “บอร์โรว์-ทู-บิลด์” คืออาศัยเงินกู้เป็นหลักในการทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อจำหน่ายใน “ราคาที่บวกกำไรต่ำ” เพื่อให้ขายได้เร็วและมาก นำเงินดังกล่าวมาชำระหนี้เงินกู้แล้วเริ่มต้นใหม่ต่อไป

Advertisement

เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา เอเวอร์แกรนด์มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 335,000 ล้านดอลลาร์ ทำยอดขายอยู่ที่ 110,000 ล้านดอลลาร์ มีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยู่ในมือมากกว่า 1,300 โครงการ กระจายกันอยู่ในเมืองต่างๆ 280 เมืองทั่วประเทศ ว่าจ้างพนักงานประจำมากถึง 200,000 คน นอกเหนือจากนั้นยังเป็นบริษัทที่ก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศมากถึง 3.8 ล้านตำแหน่งต่อปี ทั้งในรูปของคนงานก่อสร้าง, บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง, บริษัทตกแต่งภายใน, กิจการเหล็ก, สี ฯลฯ

ในช่วงหลายปีหลังมานี้ เมื่อธุรกิจอสังหาลดความร้อนแรงลง เอเวอร์แกรนด์ขยายตัวออกนอกแวดวงอสังหาริมทรัพย์ โดยใช้วิธีซื้อกิจการบ้าง เช่น เข้าไปซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลกว่างโจว เอฟซี ลงทุนมหาศาลจนทำให้กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์
เอฟซี กลายเป็นสโมสรชั้นนำของจีน, เข้าไปทำกิจการบรรจุขวดน้ำแร่, เปิดกิจการประกันภัย, กิจการสวนสนุก ที่อ้างว่าจะใหญ่โตกว่าดิสนีย์ เรื่อยไปจนถึงการก่อตั้งบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
มองจากภายนอก เอเวอร์แกรนด์ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ไม่มีใครรู้ว่าเอเวอร์แกรนด์ใช้เครดิตมหาศาลของตนกู้เงินเพื่อขยายกิจการออกไปมากน้อยเท่าใดกันแน่

ปัญหาของเอเวอร์แกรนด์เริ่มต้นเมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลจีนเล็งเห็นว่าสภาพฟองสบู่ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เริ่มฟูฟ่องอีกครั้ง หนี้สินที่เกิดจากการปล่อยกู้ให้กับภาคอสังหาขยายตัวเป็นภูเขาเลากา และหันมาประกาศมาตรการจำกัดสินเชื่อ เข้มงวดกับการให้สินเชื่อเพื่อลดความร้อนแรงลง

Advertisement

ผลลัพธ์ก็คือ เกิดการชะลอตัวในภาคอสังหาอย่างชัดเจน ความต้องการที่อยู่อาศัยลดลง ในขณะเดียวกันโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายก็เริ่มขายไม่ออก เนื่องจากราคาสูงเกินขีดความสามารถของผู้ซื้อในยุคที่เศรษฐกิจหยุดชะงักเพราะการแพร่ระบาด

ความเข้มงวดระลอกใหม่ของทางการจีนทำให้ช่องทางกู้เงินของเอเวอร์แกรนด์ลดน้อยถอยลงไปด้วย ทางออกที่ทำกันก็คือการออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนทดแทน กระแสเงินสดเริ่มติดขัด สภาพคล่องเริ่มไม่คล่องอย่างที่เคยเป็นมา แล้วก็กลายเป็นปัญหา เมื่อไม่มีเงินจ่ายผู้รับเหมาหรืออื่นๆ โครงการก็เริ่มไม่เสร็จทันตามเวลา

ข้อมูลของแบงก์ ออฟ อเมริกา ระบุว่า เมื่อถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เอเวอร์แกรนด์ขายห้องชุดไปมากถึง 200,000 ยูนิต แต่ไม่สามารถส่งมอบห้องได้แม้แต่ยูนิตเดียวเดือนสิงหาคมปรากฏข้อมูลเป็นที่แน่ชัดว่าเอเวอร์แกรนด์มีหนี้สินอยู่มหาศาลถึง 1.97 ล้านล้านหยวน หรือราว 306,300 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 2 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน

ปริมาณหนี้ของเอเวอร์แกรนด์สูงกว่าหนี้สาธารณะของรัสเซียทั้งประเทศเมื่อปี 2019ด้วยซ้ำไปที่เป็นปัญหามากขึ้นก็คือ สภาพคล่องของบริษัทไม่อยู่ในสภาพที่จะชำระได้แม้แต่ดอกเบี้ยของหนี้เหล่านั้นตามกำหนดด้วยซ้ำไป เอเวอร์แกรนด์ยอมรับเรื่องนี้โดยตรงกับตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ที่บริษัทเข้าไปจดทะเบียนเมื่อปี 2009 และบอกไว้ด้วยซ้ำไปว่า เป็นไปได้ที่อาจเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้น

เอเวอร์แกรนด์ดิ้นรนหาทางชำระหนี้ด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ในโครงการในราคาถูกเพื่อกระตุ้นยอดขาย, นำหุ้นเดิมบางส่วนออกขาย (secondary share sale), นำกิจการในส่วนที่เป็นการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์เข้าตลาด หั่นบางส่วนของกิจการรถยนต์ไฟฟ้าออกขายก่อนที่จะแถลงยอมรับเมื่อ 14 กันยายนที่
ผ่านมา ว่าแผนระดมเงินเหล่านี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงซึ่งนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ธนาคารและสถาบันการเงิน 2 รายเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา วันเดียวกับที่ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงระนาว อันเป็นผลมาจากความกังวลว่ากรณีเอเวอร์ แกรนด์ของจีนจะกลายเป็นเหมือนกรณีของเลห์แมนบราเธอร์ส ธนาคารวาณิชธนกิจใหญ่ที่สุด 1 ใน 5 ธนาคารของสหรัฐอเมริกา ที่ล้มทั้งยืนเมื่อปี 2008 แล้วก่อให้เกิดวิกฤตที่เรียกกันว่า วิกฤตซับไพรม์ หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่สะเทือนไปทั่วโลกตามมา

เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา เอเวอร์แกรนด์ก็ผิดนัดชำระหนี้ดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์ รวมมูลค่า 88.5 ล้านดอลลาร์อีกครั้ง และยังไม่มีทีท่าว่าจะมีเงินชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้สกุลดอลลาร์อีก 47.5 ล้านดอลลาร์ ในวันที่ 29 กันยายนนี้แต่อย่างใด แม้ว่าจะยังมีระยะเวลาผ่อนผันอีก 30 วัน แต่มีแนวโน้มสูงมากที่เอเวอร์แกรนด์จะล้มละลายไม่มีปัญญาชำระหนี้ที่มีอยู่ได้

คำถามใหญ่ก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นตามมา? สภาพความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นตลาดเงินทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนเริ่มเชื่อมั่นมากขึ้นว่า กรณีเอเวอร์แกรนด์จะไม่ส่งผลมหาศาลถึงขนาดก่อวิกฤตการณ์ขึ้นในระบบการเงินโลกเหมือนกรณีเลห์แมน

ในทางหนึ่งนั้น เป็นเพราะหนี้ส่วนใหญ่ของเอเวอร์แกรนด์เป็นหนี้ภายในประเทศ มีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่นำออกขายไปยังต่างประเทศ และหลักทรัพย์ของเอเวอร์แกรนด์ยังเป็นที่ดินเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่หลักทรัพย์ทางการเงิน

ในอีกทางหนึ่งนั้น เชื่อกันว่าทางการจีนมีการเตรียมการที่จะบริหารจัดการกรณีนี้อยู่พร้อมแล้ว กรณีเอเวอร์แกรนด์จะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหนจึงขึ้นอยู่กับการจัดการของรัฐบาลจีนเป็นสำคัญ

นักวิเคราะห์เชื่อกันว่าจีนมีทางออก 3 ทางด้วยกันในกรณีนี้
ทางหนึ่งคือปล่อยให้ล้มละลาย ซึ่งหากจัดการไม่ดีเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาวิกฤตศรัทธาต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ลามต่อไปยังภาคการเงิน การธนาคาร ที่จะกลายเป็นวิกฤตสินเชื่อขึ้นในระบบเพราะห่วงหนี้สูญ จนทำให้เกิดการล้มละลายต่อเนื่องเป็นลูกระนาด เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่ามีบริษัทเอกชนจีนอีกกี่มากน้อยที่ตกอยู่ในสภาพคล้ายคลึงกับเอเวอร์แกรนด์

และอาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสังคมขึ้นได้จากบรรดานักลงทุนรายย่อยที่เทเงินออมทั้งชีวิตลงทุนไปกับเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งมีจำนวนหลายล้านคน ทางหนึ่งคือ เข้าไปอุ้ม อัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปชำระหนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่รัฐบาลจีนไม่ต้องการใช้ เพราะจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนให้เกิดพฤติกรรมทำนองเดียวกันซ้ำซาก ด้วยความคิดที่ว่า สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลืออยู่ดี

ทางสุดท้ายที่มีผู้พูดถึงกันว่าเป็นทางออกที่เป็นไปได้ก็คือ การให้หน่วยงานรัฐในระดับมณฑลเข้าเทกโอเวอร์กิจการในส่วนของมณฑลนั้นๆ ของเอเวอร์แกรนด์ ร่วมกับ กิจการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจในราคาถูก นำสินทรัพย์ที่ซื้อมาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยราคาถูก ลดความเหลื่อมล้ำไปในตัว ในขณะที่ช่วยให้เอเวอร์แกรนด์ สามารถนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้ได้
วิธีนี้จะช่วยจำกัดปัญหาให้อยู่แต่เฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ ไม่ลามเป็นวงกว้าง แต่จะส่งผลให้ธุรกิจอสังหาที่มีส่วนแบ่งจีดีพีสูงถึง 29 เปอร์เซ็นต์ทรุดตัว เติบโตช้าลงในอนาคต แต่วิธีนี้ยุ่งยากซับซ้อนอย่างมาก จนแม้แต่ทางการจีนยังยืนยันว่าจะใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น

กรณีเอเวอร์แกรนด์อาจไม่สร้างผลสะเทือนเหมือนกับกรณีของเลห์แมน แต่วิกฤตระดับนี้สามารถซ้ำเติมให้เศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงไปได้เช่นกัน

ซึ่งนั่นหมายถึงผลกระทบต่อเนื่องไปยังทุกประเทศที่ทำมาค้าขายอยู่กับจีนในเวลานี้ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image