อียูชื่นชมความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า ภายใต้การนำของ ‘ซูจี’

AFP PHOTO / Jewel SAMAD

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน สหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกมาแสดงความชื่นชมความก้าวหน้าของกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า ภายใต้การนำของนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศพม่า พร้อมประกาศจะไม่มีการนำเรื่องแก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของพม่าเข้าที่ประชุมสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี

ข่าวระบุว่า ในการประชุมกลุ่มความร่วมมือของพม่า ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (ยูเอ็นจีเอ) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นางเฟเดริกา โมเกรินี หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกมายกย่องกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการเพื่อสันติภาพของพม่า ภายใต้การนำของนางออง ซาน ซูจี ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วยว่า พม่ามีความคืบหน้าในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างมาก ตั้งแต่เรื่องของนักโทษการเมือง ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมากของรัฐบาลพม่า โดยรัฐบาลพม่าได้มีมาตรการทำให้สิทธิมนุษยชนในพม่าดีขึ้นและทำให้กระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นมาได้อีกครั้ง ขณะที่นักโทษการเมืองก็ได้รับการปล่อยตัว

นางโมเกรินีกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีก้าวย่างที่สำคัญในการกำจัดซึ่งความเกลียดชังระหว่างกัน ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและมุสลิมโรฮีนจา ในรัฐยะไข่ ที่มีนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการยูเอ็นเป็นผู้ดูแล ซึ่งทางอียูเข้าใจถึงสถานการณ์อันซับซ้อนในรัฐยะไข่ดี พร้อมกับกล่าวกับนางซูจีว่า รู้ว่านางซูจีต้องทำงานอย่างยากลำบากเพื่อหาวิธีการที่ยั่งยืนสำหรับชุมชนของทั้งสองฝ่าย

ด้วยกระบวนการที่คืบหน้าเหล่านี้ จึงจะเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่อียูจะไม่นำเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า เข้าที่ประชุมสมัชชายูเอ็น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image