กรมการกงสุลรับ รางวัลเลิศรัฐปี’64 ผลงาน COE ออนไลน์

กรมการกงสุลรับ
รางวัลเลิศรัฐปี’64
ผลงาน COE ออนไลน์

 

หมายเหตุ “มติชน”นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล อธิบดีกรมการกงสุล เล่าให้ฟังถึงรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 ที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพิ่งได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เมื่อไม่นานมานี้จากผลงาน “การจัดทำระบบลงทะเบียนออนไลน์สำหรับการขอรับหนังสือรับรองการเดินทางเข้าราชอาณาจักร (ระบบ COE ออนไลน์)” และงานอื่นๆ ที่กรมการกงสุลกำลังพัฒนาระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริการประชาชนให้เป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว

 

ฉัตรชัย วิริยเวชกุล

 

Advertisement

๐อยากให้พูดถึงผลงานล่าสุดที่ทำให้กรมการกงสุลได้รับรางวัลเลิศรัฐอีกครั้ง

ต้องขอบคุณ ก.พ.ร.ที่ได้ริเริ่มโครงการรางวัลเลิศรัฐขึ้น เพราะเป็นโอกาสให้ส่วนราชการที่ดำเนินงานด้านการบริการประชาชนและงานด้านการจัดการ มีโอกาสได้สะท้อนผลงานให้ประชาชนได้เห็น และยังเป็นโอกาสให้หน่วยงานอื่นๆ ได้เห็นตัวอย่างที่จะนำไปเปรียบเทียบเพื่อพัฒนาหน่วยงานของตนเองได้ จึงถือว่ารางวัลเลิศรัฐมีคุณค่าใน 2 ประการที่สำคัญ ในปีนี้กรมการกงสุลได้รับรางวัลสาขาบริการภาครัฐดีเด่น ประเภทยกระดับบริการที่ตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นรางวัลการบริการที่ตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 จากระบบ COE ออนไลน์

COE ออนไลน์คือการจัดทำระบบจัดทำหนังสือรับรองในการเข้ามาในราชอาณาจักรไทยหลังเริ่มมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติประมาณเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ที่กำหนดให้มีมาตรการคัดกรองและควบคุมการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยมอบหมายให้ กต.เป็นผู้ดำเนินการออกใบรับรองให้ผู้มีคุณสมบัติที่จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

Advertisement

COE เปรียบเสมือนวาล์วเปิดปิดหรือหรี่ ในการให้คนจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ในช่วงที่มาตรการด้านสาธารณสุขต้องการควบคุมระแวดระวังไม่ให้มีการนำเชื้อโควิดจากต่างประเทศเข้ามา ศบค. ก็จะกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติผู้ที่เข้ามาให้เข้มข้น การออก COE ก็จะจำกัดออกให้ไม่มาก ดังที่จะเห็นจากในช่วงต้นปีถึงกลางปีที่แล้ว ที่เราควบคุมไม่ให้คนเข้ามามาก แต่เมื่อรัฐบาลต้องการผ่อนคลาย COE ก็มีเงื่อนไขลดลง

ในตอนต้น กระทรวงการต่างประเทศได้ให้สถานเอกอัครราชทูต (สอท.) และสถานกงสุลใหญ่ (สกญ.) ออก COE เป็นเอกสาร โดยผู้เดินทางต้องมายื่นขอที่ สอท. และ สกญ. ซึ่งไม่สะดวกทั้งในแง่ของค่าใช้จ่าย การเดินทาง ซึ่งเสียทั้งเวลาและเสี่ยงต่อการติดโรคในการมายังสถานที่ชุมชน เราเลยพัฒนาระบบ COE ออนไลน์ขึ้น ซึ่งผู้เดินทางสามารถแจ้งข้อมูลที่จำเป็นและส่งเอกสารที่ต้องใช้ประกอบเข้ามาทางออนไลน์ ขณะที่ สอท. และ สกญ. มีหน้าที่ตรวจสอบว่าผู้เดินทางมีคุณสมบัติครบตามที่กำหนดหรือไม่ จากนั้นผู้เดินทางก็สามารถพิมพ์เอกสารและนำมาแสดงที่สนามบินเมื่อเดินทางได้เลย ซึ่งจากปีที่แล้วจนถึงปีนี้มีผู้ได้รับอนุมัติเดินทางเข้าประเทศจากระบบ COE ออนไลน์ ทั้งคนไทยและคนต่างชาติแล้วกว่า 450,000 คน

ถือเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่กรมได้รับรางวัลเลิศรัฐนี้ หลังจากที่ปีที่แล้วกองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล ได้รับรางวัลร่วมกับกรมการปกครอง สำนักบริหารการทะเบียน จากผลงานการจัดทำแบบฟอร์มเอกสารราชการ 2 ภาษา เป็นรางวัลประเภทนวัตกรรมการบริการ

การทำ COE เป็นมาตการที่กำหนดโดย ศบค. ซึ่งต้องการควบคุมและสร้างความปลอดภัยให้กับคนในประเทศ ขณะนี้เรามีความพร้อมมากขึ้น เรียนรู้ที่จะอยู่กับโรค และมีนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงได้มาทบทวนมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสะดวกกับคนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยให้มากขึ้น ทางกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอต่อสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ว่าควรมีการปรับเปลี่ยนการใช้ COE เป็นระบบการลงทะเบียนแบบอื่นๆ ที่สะดวกยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งกรมได้หารือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จัดทำระบบเช็คลิสต์ขึ้นมาแทน

ภายใต้ระบบใหม่ที่กำลังพัฒนาขึ้น ผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยจะสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเองว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องรอการอนุมัติ เพียงจัดส่งข้อมูลออนไลน์ล่วงหน้าว่ามีการจองโรงแรมตามที่กำหนดหรือไม่ มีใบรับรองการฉีดวัคซีนซึ่งจะกลายเป็นเอกสารสำคัญในการเดินทางเข้ามาในไทยหรือไม่ ที่เหลือก็เป็นองค์ประกอบอื่นๆ อย่างใบประกันสุขภาพ และในอนาคตหากสถานการณ์ดีขึ้นก็จะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป ทั้งหมดก็เพื่อสร้างความสะดวก การวางแผนเดินทางก็จะคล่องตัวขึ้น และจะมาทดแทน COE ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา และน่าจะนำมาใช้ได้ใน 1-2 เดือนข้างหน้า

COE หรือระบบใหม่ๆ เกิดขึ้นตามความต้องการของหน่วยงานควบคุมดูแล โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขว่าต้องการตรวจสอบมากน้อยขนาดไหน กระทรวงการต่างประเทศก็จะสร้างระบบคัดกรองคนที่เดินทางเข้าประเทศไทยให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์นั้น โดยเฉพาะปัจจุบันเราไม่ได้ต้องการควบคุมจำนวนคนเข้าประเทศ แต่ต้องคัดกรองคนที่เข้ามาไม่ให้นำโรคเข้ามา ซึ่งระบบก็ต้องสะท้อนวัตถุประสงค์นั้น

 

 

๐กรมมีการพัฒนางานในด้านอื่นๆ อย่างไรอีก

กรมการกงสุลมุ่งพัฒนาและนำเอานวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาการบริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 เรามีแผนที่จะเสนอเรื่อง E-Visa เป็นผลงานของกรมในการโครงการรางวัลเลิศรัฐต่อไป ทั้งนี้ไทยเริ่มนำ E-Visa มาใช้เมื่อปี 2562 ซึ่งเริ่มจากให้ใช้ในการสมัครทำวีซ่าและจ่ายเงินแบบออนไลน์ แต่ยังต้องนำเล่มหนังสือเดินทางมาติดสติ๊กเกอร์วีซ่าที่ สอท. หรือ สกญ. แต่ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา จะมี สอท. และ สกญ. 21 แห่งใน 9 ประเทศ ที่จะเป็น Stickerless E-Visa แบบสมบูรณ์ คือหลังได้รับอนุมัติแล้วไม่ต้องนำเล่มหนังสือเดินทางมาติดสติกเกอร์ แต่จะมีอีเมล์ส่งไปเป็นหลักฐานเพื่อนำมาใช้ประกอบการดินทางได้เลย และข้อมูลเดียวกันนี้จะมีที่กรมการกงสุลและสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) อยู่แล้ว โดยประเทศที่อยู่ในโครงการนำร่องคือ สอท. และ สกญ. ทุกแห่งในจีน อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศในสแกนดิเนเวีย ทั้งมีแผนที่อาจจะเพิ่มจาก 21 แห่งขึ้นอีก 4-5 แห่งภายในสิ้นปีนี้ด้วย หลังจากเปิดใช้งาน Stickerless E-Visa เมื่อวันที่ 27 กันยายน ผ่านไปวันแรกวันเดียวมีคนต่างชาติใช้ระบบนี้เข้ามาอย่างราบรื่นแล้ว 316 คน

หลังจากที่กรมการกงสุลได้จัดทำระบบคิวเพื่อนัดทำหนังสือเดินทางออนไลน์ไปแล้ว ก็เพิ่งวางระบบคิวออนไลน์สำหรับงานบริการรับรองเอกสาร เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบและไม่แออัดในการรับบริการ ซึ่งได้เริ่มเปิดให้จองคิวแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่กรมการกงสุลกับสำนักงานหนังสือเดินทาง MRT คลองเตย และยังมีแผนที่จะทำระบบโปรแกรมออนไลน์ในการช่วยเหลือคนไทยต่อไปในอนาคตจากเดิมที่ใช้การติดต่อทางเอกสาร สื่อสารแบบเป็นโทรเลข มาเป็นระบบคล้าย ๆ กับข้อมูลลูกค้าที่สามารถจัดการข้อมูลได้มีประสิทธิภาพกว่า เพื่อจะได้มีการลดการใช้กระดาษ และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ประเมินแนวโน้ม เพื่อให้การจัดการข้อมูลของคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ในส่วนของหนังสือเดินทาง ปัจจุบันเราเข้าสู่อี-พาสปอร์ตรุ่นที่ 3 แล้ว ไทยเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่นำเอานวัตกรรมการเก็บข้อมูลไบโอเมตริกส์เช่นนี้มาใช้ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งในตอนนั้นนอกจากเราก็มีฝรั่งเศสอีกประเทศหนึ่ง

ทิศทางการทำงานของเรามุ่งไปที่การนำเอานวัตกรรมมาเสริม เราพยายามจะนำทุกอย่างมาเข้าระบบไอทีให้หมด เพราะปัจจุบันใช้แต่ข้าราชการและลูกจ้างเพื่อบริการประชาชนนั้นไม่เพียงพอและไม่ทันการ จะต้องมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเสริมให้การทำงานของกรมมีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย เพื่อมุ่งไปสู่คำขวัญ “การทูตเพื่อประชาชน ทุกแห่งหนเราดูแล”

๐การดูแลคนไทยในต่างประเทศขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ความเร่งด่วนของภารกิจนำคนไทยที่ตกค้างและจำเป็นต้องกลับประเทศขณะนี้หมดแล้ว ในตอนนั้นเราช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง จัดเครื่องบินเช่าเหมาลำบินกลับไทย คนไทยในมาเลเซียก็ให้เดินทางข้ามพรมแดน และยังให้ความช่วยเหลือในการจัดหายา หน้ากากอนามัย และถุงยังชีพให้กับคนไทยในต่างประเทศด้วย ส่วนคนไทยในต่างประเทศสถานการณ์ขณะนี้กลับสู่สภาวะปกติ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีถิ่นพำนักในประเทศนั้นๆ

ขณะนี้คนไทยเริ่มเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง เริ่มมีกรณีการกลับไปทำงานและการล่อลวงคนไปทำงานกลับมาใหม่ ก็ต้องแจ้งเตือนให้มีความระมัดระวัง แต่โดยรวมถือว่าน้อยลงเพราะข้อจำกัดเรื่องการเดินทางที่หลายประเทศยังไม่อนุญาตให้คนเดินทางไป คนที่อยู่ก็จะเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง มีครอบครัว มีวีซ่าระยะยาว หรือไปติดต่อธุรกิจ ที่ไปท่องเที่ยวหรือไปทำงานระยะสั้นยังมีน้อย

หลายประเทศที่นำเข้าแรงงานพอเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-9 ก็ปิดประเทศ โอกาสของแรงงานไทยในต่างประเทศจะชะลอตัว เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็น่าจะมีการดึงแรงงานออกไป เรามองได้ว่าเป็นทั้งโอกาสและเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง ปัจจุบันก็มีที่ไปเก็บผลไม้ที่สแกนดิเนเวีย แต่เป็นการเดินทางไปภายใต้ความตกลงรัฐต่อรัฐ ถ้าเป็นเอกชนจัดก็อาจจะมีความเสี่ยงมากในสถานการณ์ขณะนี้

ระยะหลังก็มีรายงานบ่อยๆ จาก สอท. สกญ. ในตะวันออกกลาง กรณีการชักชวนทางออนไลน์ให้คนไทยหญิงไทยไปทำงานบางประเภท ซึ่งเงื่อนไขต่างๆ ดูดีไปหมด แต่เป็นงานที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย จึงอยากจะขอแจ้งเตือนให้ระมัดระวัง ใช้วิจารณญาน อะไรที่มันดูดีเกินจริง มันก็มักจะไม่เป็นจริง (If it is too good to be true it is eventually not true)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image