คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : “‘ของเล่น'” -คิม จอง อึน (จบ)

AFP PHOTO / JUNG YEON-JE

หลังจากเกริ่นทำความเข้าใจกันยืดยาว (กว่าที่คาดเอาไว้) ก็ถึงเวลาพิจารณากันว่า คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือมี  “ของเล่น” อะไรอยู่ในมือบ้าง และหาคำตอบกันว่า ทำไมหลายๆ คนถึงได้เป็นกังวลกันนักกับการทดลองอาวุธนิวเคลียร์หนหลังสุดเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ที่เกาหลีเหนือมีอยู่ในครอบครองเวลานี้ มีจุดเริ่มต้นย้อนหลังไปไกลไม่น้อย ข้อมูลทั่วไปมักระบุเอาไว้กว้างๆ ว่าเกาหลีเหนือเริ่มพัฒนานิวเคลียร์อย่างจริงจังตั้งแต่ราวทศวรรษ 1950 แต่ “องค์ความรู้” ทางนิวเคลียร์ (ไม่จำเพาะเรื่องระเบิด) สามารถสืบค้นย้อนหลังไปได้ไกลกว่านั้น ย้อนหลังไปได้ไกลถึงช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว

เรารู้กันในตอนนั้นว่า สหรัฐอเมริกามีโครงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ในชื่อรหัส แมนฮัตตัน โปรเจ็กต์ แต่ที่ไม่ค่อยรู้กันมากมายนักก็คือ ในช่วงเวลาไล่เรี่ยกันนั้น ไม่เพียงรัฐบาลนาซีเยอรมัน ก็มีโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองเท่านั้น สหภาพโซเวียตก็มี และที่สำคัญที่สุดก็คือ ญี่ปุ่นเองก็มีโครงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์อยู่ถึง 2 โครงการด้วยกัน

หนึ่งโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นดำเนินไปภายใต้การนำของ “เพื่อน” ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งของ แอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ คือ  ดร.โยชิโอะ นิชินา

Advertisement

โครงการที่ใช้ชื่อรหัสว่า “นิจิ” (ดวงอาทิตย์) นี้อยู่ในความร่วมมือกับทางการนาซีแบบ “หลวม” และ “ลักลั่น” ไม่น้อย เข้าใจว่านาซีเยอรมันเองก็ “หวง” ความรู้เรื่องนี้อยู่พอควร ตัวอย่างเช่น เมื่อร้องขอยูเรเนียมเพื่อใช้ในการทดลอง ทางฝ่ายเยอรมันก็จัดหามาให้เล็กน้อยแบบ “พอยาไส้” เป็นต้น

โครงการนิจินี้ไปไม่ถึงไหน ญี่ปุ่นก็เจอกับ “ลิตเติลบอย” และ “แฟตแมน” เสียก่อน

ตอนญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนนั้น ดร.โยชิโอะตัดสินใจหอบความรู้ความชำนาญด้านนิวเคลียร์ของตนเผ่นหนีออกนอกประเทศ

Advertisement

จุดหมายปลายทางของ ดร.ชาวญี่ปุ่นรายนี้คือ “เกาหลีเหนือ” ครับ

พื้นฐานความรู้ทางด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือจึงมีมานับแต่นั้น แต่ที่ถือเอาช่วงทศวรรษ 1950 เป็นจุดเริ่มต้นนั้นเป็นเพราะนั่นคือช่วงที่ เกาหลีเหนือหันมาจริงจังกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

อาวุธนิวเคลียร์นั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ของเกาหลีเหนือที่ประกาศออกมาในราวปี 1962 เมื่อรัฐบาลเปียงยางประกาศพันธกิจ “ออล-ฟอร์เทรสไซเซชั่น” คือการทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศของตัวเองเป็น “ป้อมปราการ” ที่ยังคงเป็น “แก่น” ความคิดทางทหารของเกาหลีเหนือมาตราบถึงทุกวันนี้

วัตถุประสงค์ในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือนั้น พิเคราะห์ได้เป็น 2 ทาง ทางหนึ่งคือ เกาหลีเหนือต้องการศักยภาพทางนิวเคลียร์เพื่อ “ยกระดับ” การเจรจาต่อรองกับสหรัฐอเมริกาให้อยู่ในระดับเท่าเทียมกัน หรือไม่ก็อีกทางหนึ่งคือ เกาหลีเหนือตั้งเป้าจะสร้างและสั่งสม “คลังอาวุธนิวเคลียร์” ของตนเองขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในยุทธศาสตร์ “ป้องปราม” สหรัฐอเมริกาเพราะมีญี่ปุ่นให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่หยกๆ

ระหว่างนั้นก็ใช้ศักยภาพทางนิวเคลียร์ของตัวเองเป็นเครื่องมือทางการทูตไปพลางๆ

นักสังเกตการณ์บางคนเรียกการทูตแบบนี้ว่า “ดิโพลเมซี บาย เอ็กซทอร์ชั่น” หรือ “การทูตโดยวิธีกรรโชก” ครับ!

เมื่อพูดถึง “โครงการนิวเคลียร์” นั้น เราหมายถึงการศึกษาและพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์จากนิวเคลียร์ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงถึง “อาวุธนิวเคลียร์” โดยตรง แต่ในหลายๆ กรณี รวมทั้งกรณีของเกาหลีเหนือ การพัฒนาทั้งสองทางนี้คืออย่างเดียวกัน ด้วยเหตุที่ว่า กระบวนการทั้งสองดำเนินไปเป็นขั้นตอนแบบเดียวกัน คือเริ่มด้วยกระบวนการเพิ่มความเข้มข้นให้กับยูเรเนียม

การจะนำไปใช้กับเตาปฏิกรณ์ปรมาณู หรือใช้กับระเบิดนิวเคลียร์ก็ขึ้นอยู่กับระดับของความเข้มข้นว่ามากน้อยแค่ไหน บวกกับความรู้ทางเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

กลางทศวรรษ 1960 เกาหลีเหนือสร้างคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ขึ้นที่ ยองเบียน เพื่อใช้เป็นศูนย์ศึกษาวิจัยนิวเคลียร์ และเป็นสถานที่ฝึกอบรมนักศึกษาและ “สเปเชียลิสต์” ทางด้านนี้ออกมาโดยอาศัยนักศึกษาที่ส่งไปร่ำเรียนด้านนี้จากสหภาพโซเวียต ตามโครงการความร่วมมือระหว่างกัน

ในปี 1965 มีการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์เพื่อการวิจัยขึ้นที่ศูนย์นิวเคลียร์แห่งนี้ตามแบบอย่างของเตารุ่น “ไออาร์ที-2เอ็ม” ของโซเวียต

ในทศวรรษ 1970 การศึกษาวิจัยนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือมุ่งเน้นไปที่วัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นกระบวนการตั้งแต่การทำเหมือง, ถลุง, ทำให้บริสุทธิ์ (หรือเข้มข้น) ไปจนถึงการนำมาใช้และการกำจัดทิ้ง ในปี 1974 เกาหลีเหนือปรับปรุงเตาปฏิกรณ์ “ไออาร์ที-2เอ็ม” ของตนให้ทันสมัยขึ้นเพิ่มความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็น 8 เมกะวัตต์ เพิ่มความเข้มข้นจาก 10 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปอีก และต่อมาก็สร้าง “เตาปฏิกรณ์แห่งที่ 2” ขนาด 5 เมกะวัตต์ขึ้นอีก

ประเด็นสำคัญก็คือ เกาหลีเหนือมีแหล่งยูเรเนียมเป็นของตัวเอง เป็นยูเรเนียมคุณภาพสูงเสียด้วย ว่ากันว่ามีปริมาณมากถึง 4 ล้านตัน!

ความเข้มข้นของยูเรเนียมนั้น เขาดูกันที่สัดส่วนของไอโซโทบ ที่เรียกว่า “ยู-235 ไอโซโทบ” โดยที่ยูเรเนียมที่พบในธรรมชาติจะมียู-235 อยู่ในสัดส่วน 0.7 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้ จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นขึ้นให้อยู่ระหว่าง 3.5-5 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าจะนำไปใช้เป็นอาวุธนิวเคลียร์ต้องมีสัดส่วนของยู-235 สูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์

ของเล่นเกาหลีเหนือ

ในราวทศวรรษ 1980 ทางการเกาหลีเหนือเริ่มต้นพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ควบคู่ไปกับการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ มีการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งใหม่ที่แตชอน ขนาด 200 เมกะวัตต์ พร้อมๆ กับสถานที่เพื่อใช้เป็นแหล่ง “แปรรูป” ยูเรเนียมขึ้นที่ยองเบียน ปี 1985 เกาหลีเหนือสร้าง “เตาปฏิกรณ์ลับ” ขึ้นอีกเตาใกล้กับยองเบียน ตั้งอยู่ห่างจากเปียงยางไปทางเหนือราว 90 กิโลเมตร

ทั้งหมดนั่นนำไปสู่ข้อสรุปของ เจนส์ ดีเฟนซ์ วีคลี เมื่อเดือนกันยายน ปี 1989 ว่า เกาหลีเหนือสามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้ภายใน 5 ปี

การคาดการณ์ดังกล่าวดูเหมือนจะเร็วกว่าความเป็นจริงอยู่มาก เพราะเกาหลีเหนือเพิ่งออกมายอมรับเมื่อเดือนกันยายนนี้เองว่า เคยทดลองระเบิดนิวเคลียร์มาแล้ว 5 ครั้ง ครั้งแรกมีขึ้นในปี 2006 ต่อด้วยปี 2009 และในเดือนมกราคม 2013 กับหลังสุดในต้นเดือนกันยายน 2016 นี่เอง

ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ ในแต่ละครั้งที่มีการทดลอง อานุภาพของระเบิดก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย การทดลองเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น

ผู้เชี่ยวชาญประเมินเอาไว้ว่า อานุภาพของระเบิดเทียบเท่ากับอานุภาพของระเบิดทีเอ็นที ระหว่าง 10-30 กิโลตัน ซึ่งถือเป็นอานุภาพสูงสุดเท่าที่เกาหลีเหนือเคยมีการทดลองมา

ระเบิดนิวเคลียร์นั้นมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด สืบเนื่องจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นเมื่อจุดระเบิดนั้นแตกต่างกัน ชนิดแรกคือระเบิดนิวเคลียร์ทั่วไป ที่เรียกกันว่า “อะตอมิค บอมบ์” หรือ “เอ-บอมบ์” เป็นระเบิด

จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิสชั่นที่มีการแยกตัวของอะตอม อีกชนิดนิยม เรียกกันว่า “ระเบิดไฮโดรเจน” หรือ “เทอร์โมนิวเคลียร์” หรือ “เอช-บอมบ์” เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น หรือการ “รวมตัว” กันของอะตอม

นิวเคลียร์ฟิวชั่นทำได้ยากกว่า อาศัยเทคโนโลยีสูงกว่า และมีอานุภาพของระเบิดร้ายแรงกว่า

การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ 3 ครั้งแรก ไม่มีปัญหา

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเป็นระเบิดนิวเคลียร์ทั่วไป เกาหลีเหนือเองก็ยอมรับเช่นนั้น แต่อ้างว่าการทดลองเมื่อต้นเดือนกันยายนนี้ เกาหลีเหนืออ้างว่าเป็นการทดลอง “เอช-บอมบ์”

กระนั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังไม่เชื่อคำกล่าวอ้างดังกล่าว โดยพิจารณาจากขนาดของระเบิดที่วัดได้ว่า ยังไม่น่าจะเป็นระเบิดเอช-บอมบ์ อย่างที่เกาหลีเหนือพยายามอ้าง

ข้อที่ควรพิจารณาอีกอย่างก็คือ เกาหลีเหนือใช้อะไรเป็นตัวสร้างปฏิกิริยานิวเคลียร์ในระเบิดของตัวเอง เป็นพลูโตเนียม หรือยูเรเนียม กันแน่?

นักวิเคราะห์เชื่อกันว่าการทดลองระเบิดใน 2 ครั้งแรกนั้น เป็นระเบิดที่ใช้พลูโตเนียม แต่นับตั้งแต่การทดลองในปี 2013 ก็ไม่มีใครสามารถแน่ใจได้แล้ว อันที่จริงความต่างระหว่างผลลัพธ์จากการใช้พลูโตเนียมกับยูเรเนียมนั้น ยังไม่เป็นที่ชัดเจนนักว่ามีหรือไม่และมากน้อยเพียงใด

แต่ประเด็นอยู่ตรงที่เกาหลีเหนือมี “พลูโตเนียม” อยู่จำกัด แต่มี “ยูเรเนียม” อยู่มหาศาล

แต่การที่เกาหลีเหนือสามารถนำเอายูเรเนียมมาใช้ทำอาวุธได้จำเป็นต้องมีศักยภาพในการเพิ่มความเข้มข้นให้กับยูเรเนียมถึงระดับ 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป

นั่นหมายถึงก้าวกระโดดในเทคโนโลยีผลิตอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือนั่นเอง

ข้ออ้างอย่างหนึ่งของทางการเกาหลีเหนือในเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์ก็คือ ผู้เชี่ยวชาญของตนสามารถ “ย่อส่วน” อาวุธนิวเคลียร์ได้แล้ว

บรรดาผู้สันทัดกรณีเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหลายยังไม่ปักใจเชื่อข้ออ้างของเกาหลีเหนือในเรื่องนี้เช่นกัน แต่เรื่องนี้มีนัยสำคัญสูงมาก และเกี่ยวพันกับ “ศักยภาพด้านอาวุธนิวเคลียร์” ของเกาหลีเหนือโดยตรง

เหตุผลก็คือ ความสามารถในการย่อส่วนระเบิดนิวเคลียร์ได้ จะทำให้เกาหลีเหนือสามารถติดตั้งระเบิดนิวเคลียร์เข้าไว้แทนที่หัวรบทั่วไปในขีปนาวุธข้ามทวีปของตนได้ ซึ่งหมายความว่า คิม จอง อึน สามารถทำลายชาติอื่นตามความต้องการได้ ด้วยการนั่ง “กดปุ่ม” อยู่ที่เปียงยางได้

แทนที่จะขนระเบิดนิวเคลียร์ขึ้นเครื่องบินแล้วบินไปทิ้งลงสู่เป้าหมายเหมือนที่สหรัฐอเมริกาใช้เมื่อตอนโจมตีประเทศญี่ปุ่น

คิม จอง อึน สามารถกดปุ่มโจมตีประเทศไหนได้บ้าง ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของ “ขีปนาวุธ” ที่เกาหลีเหนือมีอยู่ในเวลานี้ครับ

ปลายทศวรรษ 1980 ไล่ๆ กับที่เริ่มต้นโครงการอาวุธนิวเคลียร์ เกาหลีเหนือก็เริ่มต้นโครงการขีปนาวุธขึ้น เริ่มต้นจาก “โนดอง” ที่เป็นขีปนาวุธพิสัยใกล้ ไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร อาศัยพื้นฐานการออกแบบจาก “สกั๊ด” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของโซเวียต แต่เกาหลีเหนือได้มาจากอียิปต์ “โนดอง” ใหญ่กว่าสกั๊ดราว 50 เปอร์เซ็นต์ และเครื่องยนต์ทรงพลังกว่า

ถัดมาเป็น “โนดอง-บี” หรือบางทีก็เรียกว่า “มูซูดาน” หรือไม่ก็ แตโปดอง-เอ็กซ์ เป็นขีปนาวุธพิสัยไกลใช้วิธีการยิงแบบขีปนวิธี พิสัยทำการนั้นแตกต่างกันออกไปตามแหล่งข่าว อิสราเอลบอกว่า 2,500 กิโลเมตร แต่สหรัฐอเมริการะบุว่า 3,200 กิโลเมตร บางแหล่งระบุว่าสามารถยิงระยะทางไกลสุดได้ถึง 4,000 กิโลเมตร

ครอบคลุมเป้าหมายตั้งแต่ โอกินาวา ของญี่ปุ่น ไปจนถึงฐานทัพทั้งหลายของสหรัฐอเมริกาในแปซิฟิกเลยทีเดียว

ขีปนาวุธอีกแบบของเกาหลีเหนือเรียกว่า “แตโปดอง-1” แต่รู้จักกันในเกาหลีเหนือในชื่อ “แป็กตูซาน” ถือเป็นขีปนาวุธที่ใช้จรวดหลายตอนแบบแรกของเกาหลีเหนือ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า จรวดตอนแรกของแตโปดอง-1 นั้น เอามาจากขีปนาวุธโนดอง ส่วนตอนที่ 2 นำมาจากฮวาซง-6 ที่เกาหลีเหนือพัฒนาขึ้นมาก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม พิสัยทำการของแตโปดอง-1 จำกัดอยู่เพียงแค่ 2,200 กิโลเมตร

เมื่อเดือนสิงหาคม 1998 เกาหลีเหนือเคยทดลองยิงแตโปดอง-1 แต่แทนที่จะใส่หัวรบเข้าไปในท่อนที่ 3 ของจรวด ก็ใส่ดาวเทียมขนาดเล็กไว้แทน เพื่อยิงขึ้นสู่วงโคจรระดับล่างรอบโลก

ขีปนาวุธร้ายแรงที่สุดของเกาหลีเหนือในเวลานี้ เป็น แตโปดอง-2 หรือแป็กตูซาน-2 ซึ่งจัดเป็นขีปนาวุธข้ามทวีป พิสัยทำการระหว่าง 5,000-15,000 กิโลเมตร ครอบคลุมถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเมินพิสัยของมันเอาไว้ว่าอยู่ที่เพียง 6,000 กิโลเมตรเท่านั้น

จุดอ่อน ซึ่งอาจเป็นจุดที่ทำให้ขีปนาวุธของเกาหลีเหนือเป็นอันตรายมากกว่าของประเทศอื่นๆ ก็คือ มักไม่ค่อยมีความแม่นยำ

ประเทศที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่จึงอาจตกเป็นเหยื่อของขีปนาวุธเกาหลีเหนือได้เหมือนกันครับ

ใครตกอยู่ในความเสี่ยงบ้างดูเอาจากแผนที่ของบีบีซีที่ลงประกอบไว้ได้เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image