สถานทูตไทยในอังกฤษจัดสัมมนาธุรกิจ ส่งเสริมการค้าการลงทุน 2 ชาติเพื่อขับเคลื่อน BCG

สถานทูตไทยในอังกฤษจัดสัมมนาธุรกิจ ส่งเสริมการค้าการลงทุน 2 ชาติเพื่อขับเคลื่อน BCG

 

นายพิษณุ สุวรรณะชฏ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้เป็นประธานในงานสัมมนาทางธุรกิจ “RTE Roundtable Discussion on Thailand’s Bio-Circular-Green (BCG) Economy and Opportunities for UK Businesses” ณ มิตราสมาคม สถานเอกอัครราชทูต โดยเป็นการจัดร่วมกับองค์กร Public Policy Projects (PPP) ซึ่งเป็นองค์กรด้านนโยบายสาธารณะและวิชาการชั้นนำของสหราชอาณาจักร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

การสัมมนาดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่รัฐบาลไทยได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ เพื่อนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่งยิ่งขึ้นภายหลังการสิ้นสุดของวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของไทย ให้แก่ผู้แทนระดับสูงภาครัฐ และนักธุรกิจและนักลงทุนชั้นนำของสหราชอาณาจักรที่มีศักยภาพและความสนใจในการขยายการค้าการลงทุนในไทย โดยมีนางแคลร์ เพอร์รี โอนีล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงธุรกิจ พลังงาน และยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม ที่ดูแลนโยบายด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหราชอาณาจักร เป็นผู้ดำเนินรายการสัมมนาในรูปแบบ hybrid โดยเชิญผู้เข้าร่วมงานที่สถานเอกอัครราชทูต และผู้เข้าร่วมผ่านระบบการประชุมทางไกลรวมทั้งสิ้น 50 ราย

นายมาร์ก กานิเย่ ผู้แทนการค้าของนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรที่ดูแลการค้ากับไทย และนายสตีเฟน แฮมมอน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมสหราชอาณาจักร ได้เข้าร่วมเพื่อรับฟังการบรรยายจากฝ่ายไทยและให้ข้อคิดเห็นในครั้งนี้ด้วย

Advertisement

การสัมมนาแบ่งเป็น 3 ช่วงหลักนำโดยการบรรยายจากวิทยากรผู้แทนระดับสูงของหน่วยงานของไทย ได้แก่ 1. ภาพรวมแนวคิดด้านเศรษฐกิจ BCG ของไทยและแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดย ดร. เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 2. โอกาสการลงทุนเกี่ยวกับ BCG ในพื้นที่เขตระเบียบเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) โดย ดร. ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการสายงานการลงทุนและการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ 3. BCG กับตลาดการส่งออกของไทยโดย ม.ล. คฑาทอง ทองใหญ่ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ผู้เข้าร่วมการสัมมนาให้ความสนใจรับฟังการบรรยายเป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นและให้ข้อเสนอแนะแก่ฝ่ายไทยอย่างกว้างขวางในแต่ละหัวข้อ ตลอดจนได้สอบถามข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมเพื่อประกอบการประเมินโอกาสและความท้าทายสำหรับการลงทุนทางธุรกิจในไทยด้วย อาทิเช่น แผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สอดรับกับ BCG ของไทย การปรับปรุงกฎระเบียบด้านการลงทุนของต่างชาติ และการพัฒนาโครงข่ายดิจิทัลเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนสู่การเกษตรทันสมัย เป็นต้น

Advertisement

ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตพิษณุได้กล่าวเน้นย้ำว่า BCG Model เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคตให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาสและรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นหนทางการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 ของไทย ตลอดจนนำพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูงที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 (Build Back Better) และนโยบายปฏิวัติภาคคอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industrial Revolution) ของสหราชอาณาจักรเช่นกัน

โมเดล BCG มีอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการส่งเสริมความร่วมมือ 4 ด้านกับสหราชอาณาจักร ได้แก่ 1. เกษตรและอาหาร 2. สุขภาพและการแพทย์ 3. พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ และ 4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องว่าล้วนเป็นสาขาที่ภาคธุรกิจของสหราชอาณาจักรมีความเชี่ยวชาญและมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าสอดคล้องกับความต้องการด้านการลงทุนของไทยทั้งสิ้น โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ศักยภาพของ EEC ที่มีการปรับใช้โมเดล BCG ในแผนการพัฒนาพื้นที่และในการให้สิทธิพิเศษการลงทุนแล้ว ทั้งนี้ ไทยตั้งเป้าที่จะกระตุ้นการลงทุนของสหราชอาณาจักรใน EEC เพิ่มขึ้นเพื่อผลักดันให้จีดีพีเติบโตได้ร้อยละ 5 ต่อปีหลังจากนี้และให้ EEC ก้าวขึ้นเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจหลักให้แก่ประเทศไทย

การสัมมนาครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ผู้เข้าร่วมแสดงความสนใจอย่างมากกับโมเดล BCG ของไทยที่ได้รับทราบจากการสัมมนาครั้งนี้ โดยเฉพาะในด้านการออกแบบสินค้าเชิงสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ในภาคอุตสาหกรรม การสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีหลายผลิตภัณฑ์ของไทยได้มาตรฐานสากลและวางจำหน่ายในยุโรปบางประเทศแล้ว จึงสะท้อนถึงความก้าวหน้าของไทยในด้านดังกล่าวและศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตและตลาดนำเข้าสินค้าของไทย รวมทั้งยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจและความเชื่อมั่นต่อทิศทางการพัฒนาประเทศของไทยที่เข้ากับกระแสโลกในยุคหลังวิกฤตที่เอื้อต่อการมีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างภาคเอกชนของสองประเทศได้เป็นอย่างดี โดยมีเอกชนสหราชอาณาจักรที่เข้าร่วมส่วนหนึ่งได้แจ้งความสนใจที่จะขยายการลงทุนใน EEC

ผู้เข้าร่วมการสัมมนายินดีที่ไทยกับสหราชอาณาจักรบรรลุข้อตกลงการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Commission – JETCO) เมื่อต้นปีที่ผ่านมาและประกาศเจตจำนงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนให้ความสัมพันธ์ทางการค้าไทยกับสหราชอาณาจักรก้าวหน้าไปสู่การเจรจาความตกลงการค้าเสรีต่อไป

กิจกรรมครั้งนี้นับเป็นอีกบทบาทหนึ่งของสถานเอกอัครราชทูตในการดำเนินงานทางการทูตเพื่อเชื่อมโยงหน่วยงานผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของไทยเข้ากับผู้ประกอบการชั้นนำของสหราชอาณาจักร เพื่อเพิ่มพูนการลงทุนจากสหราชอาณาจักรไปยังประเทศไทยและเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดสหราชอาณาจักร โดยดำเนินงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตจะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้รับในการสัมมนาครั้งนี้ไปกำหนดแผนงานเพื่อจัดกิจกรรมต่อยอดเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรที่สอดคล้องกับวาระแห่งชาติของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นรูปธรรมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image