3 นักวิทย์คว้าโนเบลฟิสิกส์ร่วม จากการคิดค้นแบบจำลองเสริมความเข้าใจภาวะโลกร้อน

ภาพผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2021 ประกอบไปด้วยนายชูกูโระ มานาเบะ, นายเคลาส์ ฮัสเซิลมานน์ และ นายจอร์โจ ปาริซี ที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สวีเดน ในกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม (เอเอฟพี)

3 นักวิทย์คว้าโนเบลฟิสิกส์ร่วม จากการคิดค้นแบบจำลองเสริมความเข้าใจภาวะโลกร้อน

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบล จากกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปีนี้ ให้กับนักวิทยาศาสตร์ 3 คนจาก ญี่ปุ่น, เยอรมนีและอิตาลี ประกอบด้วย นายชูกูโระ มานาเบะ, นายเคลาส์ ฮัสเซิลมานน์ และ นายจอร์โจ ปาริซี ได้รับรางวัลร่วมกัน

ทั้งนี้ นายมานาเบะ วัย 90 ปี และ ฮัสเซิลมานน์ วัย 89 ปีได้รับรางวัลร่วมกันครึ่งหนึ่งจากผลงานการค้นพบ แบบจำลองเชิงกายภาพของภูมิอากาศโลก ทั้งในแง่ของความหลากหลายและในเชิงปริมาณ ทั้งยังเชื่อถือได้เมื่อนำไปใช้ในการคาดการณ์ภาวะโลกร้อน

คณะกรรมการฯระบุว่า ผลงานของคนทั้งสองถือเป็นการปูรากฐานสำคัญให้กับองค์ความรู้ของเราเกี่ยวกับบรรยากาศของโลก และ สามารถตระหนัก ทำความเข้าใจได้ว่ามนุษย์มีอิทธิพลของบรรยากาศของโลกอย่างไร

ทั้งนี้ นายมานาเบะใช้องค์ความรู้ดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นว่า การที่ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมีมากขึ้นจะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นได้อย่างไรมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างแบบจำลองเพื่อคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกมาจนถึงทุกวันนี้

Advertisement

หลังจากนั้นอีก 10 ปีต่อมา นายฮัสเซิลมานน์ ค้นพบวิธีการสร้างแบบจำลองใหม่ที่เชื่อมโยงสภาพอากาศเข้ากับภูมิอากาศ ซึ่งช่วยอธิบายให้เข้าใจเพิ่มเติมได้ว่าทำไม วิธีการสร้างแบบจำลองให้ผลลัพธ์ที่เชื่อถือได้แม้ว่าธรรมชาติและภูมิอากาศจะมีความปั่นป่วนอยู่ตลอดเวลาก็ตาม นอกจากนั้นยังได้พัฒนาวิธีการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อแสดงให้เห็นสัญญาณจำเพาะที่แสดงถึงอิทธิพลของมนุษย์ต่อภูมิอากาศ

อีกครึ่งหนึ่งของรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปีนี้ มอบให้กับ จอร์โจ ปาริซี นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลี ซึ่งเป็นผู้ค้นพบ การมีบทบาทและผลกระทบซึ่งกันและกันของความไร้ระเบียบและความผันผวนของระบบเชิงกายภาพของสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ระดับอะตอมเรื่อยไปจนถึงระดับดาวเคราะห์ต่างๆ โดยอาศัยการสร้างแบบจำลองเชิงกายภาพและแบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์ ซึ่งช่วยให้สามารถเข้าใจต่อระบบที่ซับซ้อนในหลายขอบเขตที่แตกต่างกันออกไป เช่น คณิตศาสตร์, ชีววิทยา, ประสาทวิทยา และแมชีน เลิร์นนิง
นายปาริซี กล่าวหลังได้รับทราบถึงการได้รับรางวัลนี้ เตือนว่า สังคมโลกมีเวลาไม่มากแล้วสำหรับการตัดสินใจดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
“เป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างยิ่งสำหรับเราทั้งหลายที่ต้องตัดสินใจอย่างแรงกล้าและเคลื่อนไหวตามการตัดสินใจนั้นอย่างรวดเร็วเพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เห็นได้ชัดแล้วว่าเราจำเป็นต้องลงมือทำในตอนนี้สำหรับคนในรุ่นต่อไปในอนาคต” นายปาริซีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image