สกู๊ปหน้า 1 : ‘โมลนูพิราเวียร์’ ความหวังสู้โควิด
ทุกประเทศทั่วโลก เริ่มต้นการทำสงครามกับโรคระบาดใหญ่อย่างโควิด-19 ด้วยความพยายามยับยั้งและควบคุมการแพร่ระบาด โดยอาศัยมาตรการเข้มข้นสุดขีด ทำให้การติดเชื้อลดลงให้เป็นศูนย์ให้ได้
ต้นแบบของการต่อสู้ดังกล่าวคือ การล็อกดาวน์อู่ฮั่น ในมณฑลหูเป่ย์ ของจีน ยาวนานจนปลอดการติดเชื้อในที่สุด
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแนวทางการต่อสู้ดังกล่าวก็คือ เป็นวิธีการต่อสู้กับโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมสูงมาก
หลายประเทศไม่สามารถทนรับกับผลสะเทือนชนิดทำให้เศรษฐกิจแทบหยุดชะงักโดยสิ้นเชิงได้ หันมาตั้งเป้าหมายในการต่อสู้เสียใหม่ คือดำเนินมาตรการยับยั้งและควบคุมในระดับพอประมาณ ให้สามารถลดทอนอันตรายใหญ่หลวงที่สุดของการระบาดลงให้ได้มากที่สุด
เปิดช่องว่างให้เศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้ หายใจหายคอได้โล่งมากขึ้น
วัตถุประสงค์ไม่ใช่ทำให้อัตราการติดเชื้อเป็นศูนย์อีกต่อไป แต่ตั้งเป้าให้มีจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อให้ลดลงเหลือน้อยที่สุด อย่างน้อยต้องไม่เกินขีดความสามารถที่ระบบสาธารณสุขของประเทศจะรับได้
ในเมื่อไม่สามารถยับยั้งการติดเชื้อได้ ก็ต้องหาหนทางอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อลดอัตราการเข้าโรงพยาบาล ลดอัตราการป่วยหนักลงให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดภาวะ “โอเวอร์โหลด” ขึ้นกับระบบแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ
ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะชวนสลดใจ คนไข้ล้นโรงพยาบาล แพทย์ต้องเลือกว่าจะช่วยชีวิตใคร หรือเกิดสภาพคนป่วย คนตายถูกทอดทิ้งไว้ตามริมทาง ไร้คนเหลียวแล
พัฒนาการทางการแพทย์และเภสัชกรรมหลายอย่างกำลังเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับแนวโน้มดังกล่าวนั้น เช่น ชุดตรวจหาเชื้อด้วยตัวเอง (แอนติเจน เทสต์ คิท-เอทีเค) เป็นต้น
แต่ที่ถือว่าเป็น “ความหวังใหม่” อย่างแท้จริง ก็คือความสำเร็จของ “โมลนูพิราเวียร์” ยาเม็ดสำหรับรักษาโควิด-19 ตัวแรกของโลกที่พัฒนาโดย “ริดจ์แบค ไบโอเธราพิวติค” ร่วมกับ “เมอร์ค” บริษัทยายักษ์ใหญ่ระดับโลกสัญชาติอเมริกัน
เมอร์ค แถลงเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ในการทดลองใช้โมลนูพิราเวียร์กับกลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ใหญ่ 775 คน ติดเชื้อโควิด-19 แล้วแสดงอาการตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงอาการปานกลาง แต่ถือเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากเป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่นรวมอยู่ด้วยทั้งหมด อาทิ โรคอ้วน, โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ
หลังจากให้รับประทานยาโมลนูพิราเวียร์ภายใน 5 วันนับตั้งแต่เริ่มแสดงอาการ ผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับยาเพียงแค่ 7.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่มีผู้ใดเสียชีวิต
เมื่อเทียบกับกลุ่มตัวอย่างควบคุม ที่ได้รับยาหลอก หรือพลาเซโบ ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ถึง 14.1 เปอร์เซ็นต์ และมีผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกอีก 8 คน
ศักยภาพในการป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อมีอาการหนัก จนถึงกับต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ถึงครึ่งหนึ่งคือความหวังใหม่ในการต่อสู้กับโควิด-19 อย่างแท้จริง หากได้รับความเห็นชอบให้ใช้ได้จากสำนักงานอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐอเมริกา
โมลนูพิราเวียร์ไม่ใช่ยารักษาโควิด-19 ตัวแรกที่คิดค้นกันขึ้นมาในช่วงเกือบ 2 ปีของการแพร่ระบาด แต่ยาอื่นๆ ที่ผ่านความเห็นชอบของเอฟดีเอให้ใช้กันในสหรัฐอเมริกาอย่าง ?เรมเดซิเวียร์? ล้วนแล้วแต่ต้องให้ยาผ่านทางท่อสายยาง จำเป็นต้องดำเนินการกันในโรงพยาบาลและกลายเป็นภาระต้องแบกรับของระบบสาธารณสุข
ขณะที่โมลนูพิราเวียร์เป็นยาเม็ด รับประทานได้เองที่บ้านตามคำสั่งแพทย์ ใช้รับประทานต่อเนื่องกัน 5 วัน สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวง
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อทั้งหลาย รวมทั้ง นพ.แอนโธนี ฟาวซี หัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจรับมือโควิดของสหรัฐอเมริกา อยากเห็นยาเม็ดชนิดที่รับประทานเองที่บ้าน สำหรับผู้ติดเชื้อที่เริ่มแสดงอาการ แบบเดียวกับที่เราใช้ยาทามิฟลู รักษาไข้หวัดใหญ่มานานแล้ว
ฟาวซีชี้ว่า ยาเม็ดอย่างโมลนูพิราเวียร์ของเมอร์ค คือ “หัวใจสำคัญ” ในการควบคุมการแพร่ระบาดระลอกต่อๆ ไปในอนาคต สามารถลดผลกระทบของการแพร่ระบาดลงได้มหาศาล
เพราะอาจทำให้มาตรการอย่างล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว รวมทั้งการอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปในอีกไม่ช้าไม่นานนั่นเอง
ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยถึงการนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์มาใช้ในประเทศไทย ได้เจรจากับบริษัท เมอร์ค จำกัด กำลังอยู่ระหว่างการยื่นขอขึ้นทะเบียนใช้ในกรณีฉุกเฉินกับ อย.สหรัฐ (FDA) หากขึ้นทะเบียนแล้วจะเป็นยาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ดตัวแรก จากนั้นบริษัท เมอร์คตั้งเป้าจะผลิตยาโมลนูพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ให้ได้ 10 ล้านคนภายในสิ้นปี 2564 บริษัท เมอร์ค ทำสัญญากับการฐานการผลิตในประเทศอินเดีย เพื่อให้ได้ยาในราคาถูกและขายให้กับประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง
รวมถึงประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนธันวาคม บริษัท เมอร์ค เตรียมเข้ามาศึกษาทดลองกับไทย ในรูปแบบ MOVe-AHEAD STUDY เป็นการศึกษาการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ เพื่อป้องกันโควิด-19 ในผู้ที่สัมผัสหรือผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการขออนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน (Ethic Committee)
นับเป็นยาที่เป็นความหวังในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ตัวล่าสุดที่โลกกำลังต้องการ