คอลัมน์ วิเทศวิถี : 5 วันใน ‘ยูเอ็น’ ของพล.อ.ประยุทธ์

การเดินทางมาร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (ยูเอ็นจีเอ) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องครั้งที่ 2 ของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นประชุมยูเอ็นจีเอสมัยที่ 71 ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผ่านพ้นไปอีกครั้งหนึ่งด้วยบรรยากาศที่แตกต่างไปจากคราวก่อนพอสมควร

ประการแรก ด้วยเพราะไม่ใช่ครั้งแรกของการเดินทางมาร่วมประชุมยูเอ็นจีเอของ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นความเข้าใจและคุ้นกับลักษณะของเวทีต่างๆ ที่บรรดาประมุขและผู้นำประเทศจะต้องไปปรากฏตัวจึงทำให้การมาปฏิบัติภารกิจของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ดูมีความผ่อนคลายขึ้นมาก เห็นได้จากการขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในเวทีต่างๆ ที่เป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะการทำหน้าที่ประธานการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่ม 77 ที่มีเลขาธิการยูเอ็นและประธานสมัชชาสหประชาชาติเข้าร่วมด้วย พล.อ.ประยุทธ์ก็สามารถดำเนินการประชุมให้ผ่านพ้นไปได้แบบไม่ต้องลุ้นเสียด้วยซ้ำ

ประการที่สอง ด้วยสถานะทางการเมืองของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ในเวลานี้ ที่ได้รับการประทับรับรองจากการที่ประชาชนลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงคำถามพ่วง ทำให้การดำเนินการของรัฐบาลตามโรดแมปที่ได้ประกาศไว้มีน้ำหนักมากขึ้น เพราะทุกฝ่ายเห็นแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเดินไปตามกรอบเวลาที่ได้เคยประกาศไว้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ใช้โอกาสในการขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในยูเอ็นจีเอย้ำถึงกรอบเวลาในการเลือกตั้งของไทยที่จะให้มีขึ้นภายในปี 2560 อีกครั้งหนึ่ง

พล.อ.ประยุทธ์ระบุด้วยตนเองในถ้อยแถลงว่า “การออกเสียงประชามติสะท้อนถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย โดยตระหนักถึงเสียงสะท้อนจากประชาคมระหว่างประเทศ รัฐบาลเข้ามาเพื่อดูแลสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและความมั่นคง และเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองดำเนินไปสู่สภาวะปกติสุขแล้ว รัฐบาลก็ผ่อนคลายมาตรการชั่วคราวที่ไม่จำเป็น เช่น การประกาศยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ยังได้เน้นการแก้ไขปัญหาเรื้อรังที่รอการแก้ไข โดยเป็นการแก้ไขที่ต้นตอซึ่งวางรากฐานเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและส่งเสริมธรรมาภิบาล เพื่อให้ประเทศและประชาชนไทยเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคมโลกอย่างยั่งยืนต่อไป”

Advertisement

ขณะเดียวกันกระแสต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ดูเหมือนจะฮึกเหิมเมื่อการประชุมยูเอ็นจีเอปีก่อนซึ่งเป็นครั้งแรกของการเข้าร่วมประชุมก็ดูจะคลายความร้อนแรงลงไปมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อว่าก็เป็นผลสืบเนื่องจากการลงประชามติที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน ภาพข่าวส่วนใหญ่จึงปรากฏแต่คนไทยที่มาให้กำลังใจวันที่ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางมาถึง และการพบปะของ พล.อ.ประยุทธ์กับคนไทยจากหลายรัฐในวันที่ 22 กันยายนที่เป็นวาระทางการ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะพบกับภาคธุรกิจของสหรัฐในช่วงเย็นวันเดียวกัน

อย่างไรก็ดีใช่ว่าฝ่ายต้านจะไม่มี เพราะเดิมทราบว่ามีการแจ้งขอกับทางการนิวยอร์กว่าจะมีม็อบต้าน พล.อ.ประยุทธ์มาชุมนุมที่หน้าโรงแรมพลาซา แอทธินี ซึ่งเป็นที่พักของคณะในวันที่ 22 กันยายน เอาเข้าจริงในวันดังกล่าวก็ไม่เห็นผู้มาชุมนุม แต่ปรากฏเพียงในเว็บไซต์ประชาไทและข่าวของจอม เพชรประดับ ว่าในวันที่ 20 กันยายน มีคนไทย 4 คนมาถือป้ายต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์แล้วนำภาพไปเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ก่อนจะสลายตัวไปแบบเงียบๆ ชนิดที่คนที่อยู่ในโรงแรมยังไม่รู้เรื่องเสียด้วยซ้ำ ผิดกับม็อบต่อต้านประธานาธิบดีบราซิล นายมิเชล เตเมร์ ซึ่งถูกบางฝ่ายมองว่าก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งแบบไม่เป็นไปตามระบบซึ่งพักอยู่ในโรงแรมเดียวกันที่ขนกันมาประท้วงกันต่อเนื่องหลายวันและตีฆ้องร้องป่าวกันราวกับจัดกิจกรรมรับน้องก็ไม่ปาน ทำให้มีสื่อมาติดตามทำข่าวการประท้วงดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

หันกลับมาดูเรื่องที่เป็นสาระสำคัญของการเดินทางมาเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ ประเด็นหลักๆ คือการมาประกาศวิสัยทัศน์ของผู้นำไทยหลังจาก 1 ปีของการประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือเอสดีจีส์ผ่านพ้นมาแล้ว ซึ่งไทยมองว่าเอสดีจีส์เป็นการปรับกระบวนทัศน์ด้านการพัฒนาครั้งสำคัญของยูเอ็น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทุกเรื่องมีความเชื่อมโยงกันโดยทั้งหมดนั้นต้องยึด “คน” เป็นศูนย์กลาง ประเด็นต่างๆ ไม่ว่าเรื่องสันติภาพ ความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และการพัฒนา ล้วนแต่มีส่วนเชื่อมโยงถึงกันทั้งสิ้น ขณะที่ไทยซึ่งมีประสบการณ์ตรงจากการความสำเร็จของการนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือเอสอีพีมาใช้ ก็มองว่าเอสอีพีเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะสามารถเกื้อหนุนให้เอสดีจีส์ประสบผลสำเร็จได้

Advertisement

การถ่ายทอดประสบการณ์และการนำมาใช้ได้จริงของเอสอีพียังถูกพูดย้ำในหลายกรอบของการประชุมที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้าร่วม โดยเฉพาะในการเป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม 77 ในวาระที่ 3 หัวข้อ “การใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ได้มีการเปิดเวทีเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว และที่สุดแล้วที่ประชุมได้เห็นชอบให้นำผลสรุปการหารือครั้งนี้บรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของร่างปฏิญญารัฐมนตรีกลุ่ม 77 ซึ่งมีการรับรองในช่วงบ่ายวันที่ 23 กันยายน ว่า “รัฐมนตรีกลุ่ม 77 ตระหนักว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนการอนุวัตรและบรรลุเป้าหมายเอสดีจีส์ และความเป็นสากลของปรัชญานี้เป็นที่ประจักษ์ชัดด้วยการที่ประเทศสมาชิกกลุ่ม 77 จำนวนมากประสบความสำเร็จในการประยุกต์ปรัชญานี้ใช้ในโครงการด้านการพัฒนาอันหลากหลาย”

นั่นหมายถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกับในเวทีการหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับเลขาธิการยูเอ็นและประธานสมัชชาสหประชาชาติที่นายบัน คี มุน ได้กล่าวในที่ประชุมว่าบทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นที่ประจักษ์ชัดในสายตาประชาคมโลก

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือการที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้าร่วมในเวทีการประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านผู้ลี้ภัย ซึ่งประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐเป็นผู้ริเริ่มจัดขึ้น โดยผู้นำไทยเป็นเพียงผู้นำชาติเดียวในอาเซียนที่ได้รับเชิญให้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงและร่วมการประชุมดังกล่าวร่วมกับผู้แทนจาก 52 ประเทศรวมถึงองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งเพียงแค่นี้ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยแล้ว

เรื่อง “ผู้ลี้ภัย” อาจเป็นเหมือนปัญหาใหม่ของโลกในขณะนี้ แต่ประเทศไทยอยู่ในสถานะของประเทศที่ผ่านประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวมาก่อนหลายชาติ ตั้งแต่ปัญหาในเวียดนาม กัมพูชามาจนถึงพม่า ไทยเป็นประเทศที่ให้ที่พักพิงกับผู้อพยพหลบหนีภัยสู้รบมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ในระหว่างการประชุมดังกล่าว ประธานาธิบดีโอบามาได้กล่าวถ้อยแถลงซึ่งมีการแสดงความชื่นชมหลายประเทศรวมถึงไทยที่ได้ให้การดูแลด้านการศึกษาและการสร้างงานให้กับผู้พลัดถิ่นเหล่านี้ ปัจจุบันยังมีผู้หนีภัยสู้รบอยู่ในที่พักพิง 9 แห่ง ครอบคลุม 4 จังหวัดของไทยจำนวนกว่า 103,000 คน โดยไทยได้จัดทำโครงการเพื่อสร้างทักษะด้านต่างๆ ภายใต้โครงการ Train the Trainer อาทิ เกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างองค์ความรู้ควบคู่กับการฝึกทักษะในการเผยแพร่ ถ่ายทอด และต่อยอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้แพร่หลายออกไป ซึ่งไม่เพียงสร้างประโยชน์ให้ในปัจจุบัน แต่ยังส่งผลดีต่อเนื่องไปหากในอนาคตคนเหล่านี้เดินทางกลับประเทศด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ยังได้เข้าร่วมกิจกรรมระดับสูงว่าด้วยการมีผลใช้บังคับของความตกลงปารีส โดยได้ยื่นสัตยาบันสารเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสของไทยให้กับนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากที่ประเทศไทยได้เห็นชอบให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2558 ที่ประชุมได้บรรลุความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่แต่ความตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อรัฐภาคีอย่างน้อย 55 ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อยร้อยละ 55 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลกมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารเพื่อเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสดังกล่าว

ในงานที่จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมยูเอ็นจีเอนี้ทำให้ความตกลงปารีสใกล้จะมีผลบังคับใช้เข้ามาทุกขณะ โดยล่าสุดประเทศที่ให้สัตยาบันแล้วทั้งหมดมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันร้อยละ 47.76 และมีประเทศที่ประกาศว่าจะให้สัตยาบันภายในปีนี้อีก 10 กว่าประเทศ ซึ่งอาจทำให้ความตกลงปารีสสามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในปีนี้ด้วยเช่นกัน

ช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันของ พล.อ.ประยุทธ์ที่นครนิวยอร์ก จึงถือได้ว่าใช้ไปอย่างคุ้มค่าและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image