คอลัมน์ไฮไลต์โลก: โนเบล! เซย์โน กีดกันเพศ-เชื้อชาติ

แฟ้มภาพเอเอฟพี

คอลัมน์ไฮไลต์โลก: โนเบล! เซย์โน กีดกันเพศ-เชื้อชาติ

ปิดฤดูกาลไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการประกาศผลรางวัลโนเบลประจำปีนี้ แต่ยังมีควันหลงจาก โกรัน ฮันส์สัน หัวหน้าราชบัณฑิตสถานวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ซึ่งเป็นคณะกรรมการตัดสินผลรางวัลระดับโลกเวทีนี้ ที่ออกมากล่าวย้ำว่า จะไม่มีการกำหนดโควต้าเรื่องเพศ หรือ เชื้อชาติ มาเป็นอุปสรรคในการพิจารณาผู้สมควรได้รับรางวัลโนเบลแต่อย่างใด

โดยฮันส์สันย้ำว่า การตัดสินผลรางวัลนี้จะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ อัลเฟรด โนเบล นักเคมีชาวสวีเดน ผู้ประสงค์ให้ตั้งรางวัลเชิดชูเกียรตินี้ขึ้น เพื่อมอบให้แก่ผู้ที่มีผลงานวิจัยหรือการค้นพบอันโดดเด่น หรือสร้างคุณประโยชน์ให้แก่มวลมนุษยชาติมากที่สุดทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมต่อไป

อย่างไรก็ดีฮันส์สันชี้ว่าเป็นสิ่งที่น่าเศร้าที่ยังมีผู้หญิงจำนวนน้อยที่พิชิตรางวัลโนเบลได้ สะท้อนให้เห็นสภาพที่ไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ในสังคม โดยเฉพาะในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งตรงจุดนี้เป็นสิ่งที่เราและสังคมต้องช่วยกันทำให้มากกว่านี้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีผู้หญิงได้รับโอกาสมากขึ้น

สำหรับรางวัลโนเบลประจำปีนี้ มาเรีย เรสซา นักข่าวฟิลิปปินส์ เป็นผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียวที่คว้ารางวัลโนเบลในสาขาสันติภาพไปครองร่วมกับ ดมิตรี มูราตอฟ นักข่าวรัสเซีย

Advertisement

ส่งผลให้นับตั้งแต่เริ่มมีการมอบรางวัลโนเบลประจำปีขึ้นเป็นครั้งแรกนับจากปีค.ศ.1901 เป็นต้นมา ได้มีรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ ตกเป็นของผู้หญิงเพียง 59 รางวัลเท่านั้น

ขณะที่นับจากที่เริ่มมีการมอบรางวัลโนเบลมาตั้งแต่ปี 1901 ถึงปี 2021 มีผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ รวมกันแล้ว 975 ราย (แยกเป็นบุคคล 947 ราย, 28 องค์กร)

ผู้พิชิตรางวัลโนเบลที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 17 ปี ได้แก่ มาลาลา ยูซัฟไซ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางการศึกษาชาวปากีสถาน ซึ่งคว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไปครองในปี 2014

Advertisement

ส่วนผู้พิชิตรางวัลโนเบลที่มีอายุมากที่สุดคือ 97 ปี ได้แก่ จอห์น บี. กูดอีนาฟ นักฟิสิกส์และนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 2019

มีรางวัลโนเบล 59 รางวัลที่ตกเป็นของผู้หญิง 58 ราย และมี 6 รางวัล ที่ผู้ชนะปฏิเสธที่จะรับรางวัล ในจำนวนนี้มี 4 รางวัลที่ผู้ชนะถูกประเทศของตัวเองบีบคั้นให้ต้องปฏิเสธการรับรางวัลไป

ในปี 2020 เอ็มมานูแอล ชาร์ปองติเยร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส และ เจนนิเฟอร์ เดาด์นา นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน เป็นผู้หญิงสองคนแรก ที่คว้ารางวัลโนเบลสาขาเคมีไปครองร่วมกัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่รางวัลด้านวิทยาศาสตร์ตกเป็นของผู้หญิงสองคน โดยไม่มีผู้ชายร่วมครองรางวัลด้วย

นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงที่มีผลงานโดดเด่น จนพิชิตรางวัลโนเบลไปได้ รวมถึง ฟรองซัวส์ บาร์เร-ซีนุสซี นักวิทยาไวรัส คว้ารางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี 2008 โทนี มอร์ริสัน คว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1993 และมารี คูรี สตรีคนแรกที่คว้ารางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1903 และยังเป็นผู้หญิงคนแรกและเป็นเพียงคนเดียวที่คว้าโนเบลไปมากกว่า 1 รางวัล หลังพิชิตรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 1911

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image