โกลบอลโฟกัส : อับดุลราซัก กูร์นา จากผู้ลี้ภัยสู่นักเขียนโนเบล

ภาพเอพี

อับดุลราซัก กูร์นา จากผู้ลี้ภัยสู่นักเขียนโนเบล

ชื่อ “อับดุลราซัก กูร์นา” ไม่เป็นที่รู้จักกันมากมายนักนอกประเทศอังกฤษ จนกระทั่ง คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบล เลือกให้เขาเป็นผู้เหมาะสมได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 2021 นี้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา
กูร์นา ไม่ใช่ชาวอังกฤษ แต่ใช้ชีวิตอยู่ใน แคนเทอร์บิวรี ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษมาตั้งแต่อายุ 18 ปี หลังจากเดินทางมาถึงในฐานะผู้ลี้ภัยในราวต้นทศวรรษ 1960 เขาทำงานเขียนและงานวิชาการอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคนท์ โดยเป็นอาจารย์สอนวิชาวรรณกรรมอังกฤษและวรรณกรรมหลังยุคล่าอาณานิคม อยู่จนกระทั่งเกษียณอายุเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา
ประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะผู้ลี้ภัย คือสิ่งที่เขาถ่ายทอดเอาไว้เป็นแก่นของงานเขียนนวนิยาย 10 เล่ม ทั้งที่เป็นการบอกเล่า จำแนกแยกแยะและตั้งคำถาม ในหลากหลายประเด็นเกี่ยวเนื่องกับผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ กับผลพวงนานาของลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่ง กูร์นา เชื่อว่า ยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงยิ่งต่อทั้งโลกในเวลานี้
นวนิยายของกูร์นาที่สร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักกันในแวดวงวรรณกรรมในอังกฤษ และได้รับเสียงยกย่องชื่นชมจากนักวิจารณ์ มีอาทิ “By the Sea,” “Admiring Silence,” “Memory of Departure,” “Pilgrims Way,” รวมทั้ง “Paradise.” ที่ได้รับเสียงชื่นชมสูงมาก และเป็นหนึ่งในหนังสือที่เข้ารอบสุดท้าย “บุคเคอร์ไพรซ์” รางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมของประเทศอังกฤษ
นวนิยายเล่มล่าสุดของกูร์นา คือ “Afterlives,” ก็ยังคงแก่นเดิมเอาไว้ ด้วยการบอกเล่า ตั้งคำถามและสำรวจตรวจสอบต่อเรื่องราวเมื่อครั้งที่ประเทศ เยอรมัน ออกล่าอาณานิคมในแถบแอฟริกาตะวันออกเมื่อต้นศตวรรษที่ 20
นักวิจารณ์บางคนชื่นชอบการใช้ภาษาของกูร์นา หลายคนบอกว่าพรรณนาความของเขางดงาม ลื่นไหลราวบทกวี
คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบล ยกย่องผลงานกูร์นาเอาไว้ในแง่ของ “ความมุ่งมั่นและเห็นอกเห็นใจ” ในการเจาะลึกเข้าไปสำรวจตรวจสอบและตั้งคำถามถึง “ผลกระทบของลัทธิอาณานิคม” และ “ชะตากรรมของบรรดาผู้ลี้ภัยที่ต้องเผชิญกับความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมและพื้นทวีป”
ครั้งหนึ่ง อเลกซานดรา พริงเกิล บรรณาธิการประจำตัวกูร์นา ระบุว่า กูร์นาคือ “หนึ่งในนักเขียนแอฟริกันยิ่งใหญ่ที่สุดที่มีชีวิตอยู่” เธอย้ำด้วยว่า การที่ไม่ค่อยมีใครใส่ใจ สนใจในตัวกูร์นา ทำให้เธอรู้สึก “อยากตาย” ยังไงยังงั้น
ความรู้สึกของ พริงเกิล คงดีขึ้นมากเมื่อ กูร์นา กลายเป็น “คนผิวดำ” คนที่ 4 เท่านั้นที่ได้รับรางวัลทรงเกียรติอย่างโนเบลวรรณกรรมตลอดประวัติศาสตร์ยาวนาน 120 ปีของรางวัลนี้!

******

อับดุลราซัก กูร์นา เกิดและเติบโต ในราวปลายทศวรรษ 1950 ต่อเนื่องกับต้นทศวรรษ 60 ที่ แซนซิบาร์ ดินแดนหมู่เกาะนอกชายฝั่งด้านตะวันออกของประเทศแทนซาเนีย ซึ่งเคยรู้จักกันในชื่อ “หมู่เกาะเครื่องเทศ” ในยุคอาณานิคม
แซนซิบาร์ เป็นส่วนหนึ่งของแทนซาเนียก็จริง แต่ก็เป็นดินแดนที่มีอำนาจปกครองตนเอง
เกาะ 3 เกาะ กับอีก 1 แนวปะการังนี้ เคยเป็น “ดินแดนใต้อาณัติ” ของอังกฤษ เป็นศูนย์กลางทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าขายกับโลกอาหรับ ทำให้ดินแดนเกาะแห่งนี้กลายเป็น “เมลติง พอท” แหล่งที่หลอมรวมผู้คนจากทุกสารทิศอยู่ด้วยกัน
แซนซิบาร์ เป็นอิสระจากอังกฤษ ในปี 1963 แต่เพียงปีเดียว ก็เกิดการรัฐประหาร โค่นล้มระบอบการปกครองของ สุลต่านจัมชิด ขึ้น
กูร์นา บอกเล่าเรื่องราวของการรัฐประหารครั้งนั้นเอาไว้ในปี 2001 ว่า
“ผู้คนหลายพันถูกสังหาร ชุมชนต่างๆ จำนวนมากถูกขับไล่ และมีหลายร้อยหลายพันคนที่ถูกจับกุมคุมขัง ในท่ามกลางความโกลาหลและการก่อกวนรังควานที่เกิดขึ้นตามมา ผู้ปกครองที่คุมแค้นอาฆาตกุมชะตาชีวิตของพวกเรา”
ในฐานะชนกลุ่มน้อยเชื้อสายอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลาม กูร์นา กับพี่ชาย ตัดสินใจหลบหนีความหวาดผวาและความตายมายังอังกฤษ
ความจำเป็นที่ทำให้ผู้คนต้องพลัดถิ่น ต้องหลบหนีออกจากถิ่นเกิด ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ สถานการณ์ใหม่ ละล้าละลังกับความกังขา ว่าจะได้รับการต้อนรับหรือ ต้อนรับอย่างไร กลายเป็นสิ่งที่ติดตรึงอยู่ในใจของ กูร์นา และเขาถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ลงไว้ในนวนิยายหลายเรื่องได้อย่างน่าทึ่ง
“เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ในชีวิตของเรา ของคนที่จำเป็นต้องก่อร่างสร้างชีวิตใหม่ในดินแดนที่แตกต่างออกไปจากถิ่นเกิด มีมิติหลากหลายอยู่ในนั้น พวกเขาจดจำอะไรได้บ้าง? พวกเขารับมือกับสิ่งที่อยู่ในความทรงจำอย่างไร? พวกเขาจะรับมือกับสิ่งใหม่ที่เพิ่งพบพานอย่างไร? หรือ จริงๆ แล้ว พวกเขาได้รับการต้อนรับอย่างไร?” กูร์นาบอก
โดยประสบการณ์ส่วนตัว กูร์นา ยืนยันว่า อังกฤษในปลายทศวรรษ 60 มีความเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ลี้ภัยอย่างตัวเขาอยู่มากอย่างยิ่ง
“มากถึงขนาดพวกเขาสามารถตะคอก คำที่ไม่เหมาะสมบางคำที่ทุกวันนี้เราถือกันว่า หยาบคาย ใส่หน้าคุณได้สบายๆ แล้วทัศนะที่เป็นศัตรูที่ว่านี้ก็มีอยู่ทั่วไป ไม่มีทางที่คุณจะขึ้นรถโดยสารได้โดยที่ไม่เจออะไรที่ทำให้คุณถึงกับผงะ”
กูร์นา ยืนยันว่า ทุกวันนี้ อังกฤษก็ยังคงมีทัศนะต่อบรรดาผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยทั้งหลายแทบไม่ต่างอะไรกับอาชญากรอยู่ดี
เขาพูดถึง ปรีติ ปาเตล รัฐมนตรีมหาดไทยของอังกฤษ ที่รับผิดชอบเรื่องผู้ลี้ภัยเอาไว้ว่า ที่น่าแปลกก็คือ อาจบางที ตัวนางปาเตลเอง หรือไม่ก็พ่อแม่ของนาง อาจเผชิญหน้ากับการคุกคามแบบเดียวกันนี้มาแล้ว
“บางที การให้ความเห็นอกเห็นใจบ้างสักเล็กน้อย ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรนักหรอกนะ” กูร์นาย้ำ

******

Advertisement

กูร์นา บอกว่า เขาไม่เคยตั้งใจจะเป็นนักเขียน ไม่เคยคิดว่าตัวเองต้องเป็นนักเขียนหรืออะไรทำนองนั้น
“งานเขียน เป็นเรื่องที่เป็นไปตามโอกาสมากกว่า ไม่ใช่แบบว่าเป็นความคิดฝัน หรือเป็นความตั้งใจว่าต้องเป็นนักเขียนหรืออะไรทำนองนั้น”
กูร์นา บอกว่า สภาพการณ์ต่างหากที่ผลักดันให้เขาลงมือเขียน
“งานเขียน เกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ตัวผมอยู่ในนั้นเท่านั้น สถานการณ์อย่างความยากจน, ความคิดถึงบ้านเกิด, การเป็นคนไร้ทักษะฝีมือ ไร้การศึกษา คือสภาพแวดล้อมที่ทำให้จู่ๆ วันหนึ่ง คุณก็ลงมือเขียนอะไรพวกนี้ลงไป แล้วก็ไม่ใช่ว่า ผมตั้งใจจะเขียนให้เป็นนิยาย แต่มันก็มีมาเรื่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“แล้ววันหนึ่งมันก็เริ่้มกลายเป็น การเขียน อย่างจริงจัง เพราะคุณต้องคิด ต้องมีโครง ต้องมีรูปร่าง และอะไรต่อมิอะไร ขึ้นตามมา”
กูร์นา ยอมรับว่า มีคนไม่น้อยรู้จักเขาในฐานะนักเขียน แต่สิ่งสุดท้ายที่เขาคิดถึงว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง ก็คือ การได้รับรางวัล โนเบลวรรณกรรม
เขายอมรับตรงไปตรงมาว่า ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับเงินรางวัล มูลค่า 37 ล้านบาท ที่ได้จากการเป็นนักเขียนรางวัลโนเบลดี
“มีบางคนถาม แต่ผมไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับมัน ไม่มีความคิดอะไรแม้แต่นิดเดียว ผมคงต้องใช้เวลาคิดถึงบางสิ่งบางอย่างสักหน่อย”
แต่ถึงอย่างไร มันก็ไม่ได้เป็นปัญหาที่เลวร้ายไม่ใช่หรือ?

******

อับดุลราซัก กูร์นา เชื่อว่าสถานการณ์โลกทุกวันนี้เป็นผลพวง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมหน้าซึ่งเกิดขึ้นในยุคล่าอาณานิคม ยุคจักรวรรดินิยม
ยุคล่าอาณานิคมสิ้นสุดลงแล้วก็จริง แต่ผลกระทบลึกซึ้งของมันยังคงแผ่อิทธิพลอยู่ในทุกที่ ทุกหนแห่ง
“โลกทุกวันนี้ รุนแรงกว่าเมื่อครั้งที่เคยเป็นในยุคทศวรรษ 1960 อยู่มาก ดังนั้นบรรดาประเทศที่ปลอดภัย ปลอดจากเหตุการณ์ทั้งหลายจึงเผชิญกับแรงกดดันใหญ่หลวงกว่าเมื่อครั้งกระโน้น” เขาบอก “เราต้องรับมือกับประเด็น (เรื่องผู้ลี้ภัย) ในหนทางที่เมตตากรุณาให้มากที่สุด”
กูร์นา ร้องขอต่อชาติในยุโรป ให้มองผู้ลี้ภัยจากแอฟริกาเสียใหม่ ในฐานะ “คนที่มีอะไรจะให้” มากกว่าคนที่หวังเพียงจะพึ่งพา
“หลายคนที่เดินทางมา มาเพราะความจำเป็น แต่ในเวลาเดียวกัน พูดกันตรงไปตรงมาก็คือ พวกเขารู้สึกว่า มีอะไรจะมามอบให้เหมือนกัน
“พวกเขาไม่ได้มามือเปล่า หลายคนมีพรสวรรค์ เป็นคนที่เปี่ยมพลัง ซึ่งต้องการมอบอะไรบางสิ่งบางอย่างให้เหมือนกัน”
กูร์นา บอกว่า เขายังคงยึดโยงตัวเองอยู่กับแทนซาเนีย และแซนซิบาร์ อย่างแนบแน่น
“ครอบครัวผมยังมีชีวิตอยู่ พวกเขายังคงใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น
“ผมกลับไปเสมอเมื่อทำได้ ผมยังคงเชื่อมโยงอยู่กับที่นั่น
“ผมมาจากที่นั่น ผมอยู่ที่นี่ก็จริง แต่ในใจผมใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image