วิเทศวิถี : อาเซียนกับเมียนมา ปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ไข

อาเซียนกับเมียนมา
ปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ไข

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนผ่านระบบทางไกลเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา แม้ในแถลงการณ์ของบรูไนในฐานะประธานอาเซียนจะระบุว่า เป็นการพูดคุยเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 38 และ 39 รวมถึงการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 36-28 ตุลาคมนี้ แต่ทุกคนก็ทราบดีว่าประเด็นสำคัญในการหารือคือเรื่องที่ถูกเฝ้ามองเกี่ยวกับการว่า พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ในฐานะนายกรัฐมนตรีเมียนมาที่มาจากการยึดอำนาจ จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวกับผู้นำอาเซียนหรือไม่ หลังจากที่เมื่อเดือนเมษายนก่อนหน้านี้พลเอกมิน อ่อง ลาย ได้เคยไปนั่งร่วมประชุมสมัยพิเศษกับผู้นำอาเซียนเพื่อหารือถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา จนได้ข้อสรุปเป็นฉันทามติ 5 ข้อที่ถูกนำมาใช้อ้างอิงบ่อยครั้งหลังจากนั้น

การที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนตัดสินใจที่จะ “ไม่เชิญ” ผู้แทนทางการเมืองของเมียนมาให้มาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่ลบล้างหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน” ที่ถือเป็นจุดยืนสำคัญที่อาเซียนยึดมั่นมาโดยตลอด แต่นั่นก็เป็นการสะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า อาเซียนไม่อาจจะแบกรับผลกระทบที่เกิดขึ้นแทนเมียนมา หรือแบกรับผลกระทบที่เมียนมาจะทำให้เกิดขึ้นกับอาเซียนได้ เพราะในสายตาของหลายฝ่าย นับตั้งแต่ที่ประชุมผู้นำอาเซียนมีฉันทามติ 5 ข้อออกมาจนถึงขณะนี้ ดูเหมือนว่าแทบจะไม่มีความคืบหน้าใดๆ เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับกระบวนการปรองดองหรือการแก้ไขปัญหาในประเด็นหลักๆ อื่นใด นอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนชาวเมียนมา ซึ่งเท่ากับเป็นการบั่้นทอนความน่าเชื่อถือของอาเซียนว่าไม่อาจผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาในเมียนมาได้ตามมา

แน่นอนว่าท่าทีของประเทศสมาชิกอาเซียนอาจแตกต่างกัน โดยประเทศอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ผลักดันให้มีการใช้ไม้แข็งกับเมียนมาด้วยการไม่เชิญพลเอกมิน อ่อง ลาย มาเข้าประชุม และแสดงจุดยืนชัดเจนในเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ต้น เพราะมองว่าเมียนมาไม่ได้ร่วมมือกับอาเซียนอย่างเต็มที่ ขณะที่อีกหลายประเทศก็เห็นว่าควรมีท่าทีประนีประนอมมากกว่านั้น แต่ที่สุดแล้วบรูไนในฐานะประธานอาเซียนได้ตัดสินใจว่าจะไม่เชิญผู้แทนทางการเมืองของเมียนมาอย่างที่ได้ทราบกัน

หนึ่งในประเด็นที่ทำให้หลายชาติสมาชิกอาเซียนไม่พอใจกับท่าทีของเมียนมาคือความล่าช้าในการให้ นายเอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่สองของบรูไน ในฐานะผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเรื่องเมียนมา เดินทางเข้าไปพบปะกับทุกฝ่ายในเมียนมาตามคำร้องขอ ซึ่งรวมถึงผู้ที่ถูกทางการเมียนมาควบคุมตัวอย่าง นางออง ซาน ซูจี ด้านรัฐบาลทหารเมียนมาได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงในประเด็นดังกล่าวว่า ผู้แทนพิเศษฯ ได้ยื่นรายชื่อคนที่ต้องการพบรวมถึงสิ่งที่ต้องการทำระหว่างการเยือน แต่ข้อเสนอบางอย่างอยู่นอกเหนือการอนุญาตที่จะเป็นไปได้ตามกฎหมายที่มีอยู่และเป็นเรื่องยากที่จะทำได้

Advertisement

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าทำไมอาเซียนจึงเลือกที่จะทำเช่นนี้ เพราะสถานการณ์รวมถึงความรุนแรงและความสูญเสียจากการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงในเมียนมาก็เป็นปรากฎการณ์ที่โลกไม่อาจรับได้ การที่พลเอกมิน อ่อง ลาย มาปรากฎตัวในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนไม่เพียงแต่จะเป็นการแสดงความยอมรับสถานะของผู้นำรัฐบาลที่มาจากยึดอำนาจอย่างเป็นทางการของเมียนมา ที่แม้แต่อาเซียนหลายประเทศยังไม่ยอมรับและรับไม่ได้กับความรุนแรงเช่นนั้น ทั้งยังจะสร้างแรงกระเพื่อมไปยังการประชุมในกรอบอื่นๆ ระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้นำประเทศคู่เจรจาอีกมาก ที่แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจในเมียนมาอยู่แล้ว จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้นำประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่จะหารือกับผู้นำอาเซียน อาจเลือกที่จะไม่เข้าร่วมการหารือที่กำลังจะมีขึ้น หากเป็นการพูดคุยในเวทีเดียวกับที่พลเอกมิน อ่อง ลาย นั่งอยู่ ดังมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วจากที่ นายอันโตนิอู กุแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ปฏิเสธที่จะร่วมประชุมทางไกลกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เพราะ นายวันนา หม่อง ละวิน รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาในรัฐบาลทหารชุดปัจจุบันจะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย

แถลงการณ์ของบรูไนในฐานะประธานอาเซียนรับว่า สถานการณ์ในเมียนมามีผลกระทบกับความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงความเป็นเอกภาพ ความน่าเชื่อถือ ตลอดจนการเป็นแกนกลางของอาเซียนในฐานะองค์กรที่ยึดหลักกฎหมาย และว่ายังไม่มีความคืบหน้าที่เพียงพอในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้ออีกด้วย แต่ก็ย้ำว่าเมียนมาเป็นสมาชิกที่สำคัญของครอบครัวอาเซียน ทั้งยังรับฟังเหตุผลของเมียนมาว่าผู้แทนพิเศษฯ ควรหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มบุคคลที่กำลังอยู่ระหว่างการถูกดำเนินการตามกฎหมาย อย่างนางออง ซาน ซูจี และ ประธานาธิบดีวิน มินต์ รวมถึงผู้ที่ถูกประกาศว่าเป็นกลุ่มที่ผิดกฎหมาย รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยินดีที่เมียนมาก็ยังแสดงความพร้อมที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้แทนพิเศษฯ ต่อไป และเน้นย้ำความจำเป็นที่จะต้องมีความยืดหยุ่นในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความเชื่อมั่น รวมถึงความสำคัญของการเปิดให้มีการเข้าถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย

ด้านพลเอกมิน อ่อง ลาย ประกาศในเวลาต่อมาว่า เมียนมายึดมั่นในสันติภาพและประชาธิปไตย พร้อมระบุว่าอาเซียนควรจะพิจารณาถึงพฤติกรรมยั่วยุและการก่อความรุนแรงของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา และกล่าวโทษรัฐบาลเงารวมถึงชนกลุ่มน้อยติดอาวุธในเมียนมาว่ากำลังพยายามทำลายกระบวนการสันติภาพที่นำโดยอาเซียน ทั้งยังยืนยันว่าเมียนมาต้องการให้ผู้แทนพิเศษฯ เยือนเมียนมาตามที่ได้ตกลงกันไว้ แต่ความต้องการบางอย่างของนายเอรีวันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถต่อรองได้ ทั้งยังถือโอกาสนี้ประกาศนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกจับกุมรวมถึงผู้ที่ถูกออกหมายจับระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารกว่า 5,600 คน

ในส่วนของไทย นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเป็นโอกาสให้แต่ละประเทศสมาชิกได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเมียนมาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งได้ช่วยลดช่องว่างทางการสื่อสารใดๆ ที่อาจมีเกี่ยวกับความคาดหวังของอาเซียนต่อบทบาทของอาเซียน ในการอำนวยความสะดวกให้มีการปรองดองแห่งชาติโดยสันติในเมียนมา ผ่านการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน โดยคำนึงว่าเมียนมาเป็นประเทศสมาชิกของอาเซียนอย่างเท่าเทียมกันกับประเทศสมาชิกอื่นๆ

ไทยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่ผู้แทนพิเศษฯ และความพยายามของผู้แทนพิเศษฯ ในการดำเนินการตามอาณัติให้ประสบผลสำเร็จและเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้มีการแก้ไขปัญหาในเมียนมาอย่างสันติและยั่งยืน โดยเป็นกระบวนการที่เมียนมามีบทบาทนำและเป็นเจ้าของ ไทยเชื่อว่าความเป็นเอกภาพของอาเซียนมีความสำคัญต่อการที่อาเซียนจะมีเสียงที่เป็นหนึ่งเดียวกันและต่อความเป็นแกนกลางของอาเซียน และจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียนซึ่งสอดคล้องตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงและตัวบทของกฎบัตรของอาเซียน รวมทั้งความปรารถนาของผู้ก่อตั้งอาเซียนด้วย

บางคนและบางประเทศอาจมองว่าสิ่งที่อาเซียนทำในครั้งนี้แม้จะถือว่าน่าพอใจแต่ยังไม่เพียงพอ กระนั้นก็ดีทุกคนย่อมตระหนักว่าการแก้ไขปัญหาในเมียนมาไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่อาจทำได้โดยปราศจากความร่วมมือจากผู้มีอำนาจในเมียนมาในปัจจุบัน กระบวนการมีปฏิสัมพันธ์กับทางการเมียนมายังต้องดำเนินต่อไปอีกยาวนาน และหวังว่าหลังการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 38 และ 39 รวมถึงการประชุมสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจบลง การพูดคุยเพื่อให้ผู้แทนพิเศษฯ เยือนเมียนมาจะมีความคืบหน้าเกิดขึ้นและนำไปสู่การเยือนของนายเอรีวันได้ในที่สุด จะได้เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการในการมีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาเพื่อหาทางให้เกิดความปรองดองในประเทศขึ้นต่อไป

พ้นจากเรื่องเมียนมาไปดูการเนื้อหาของการประชุมผู้นำอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นซึ่งมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นความร่วมมือเพื่อการฟื้นตัวของอาเซียนหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย ตั้งแต่ความร่วมมือเพื่อรับมือกับโรคระบาดด้วยการตั้งศูนย์โรคอุบัติใหม่และการพัฒนาและวิจัยวัคซีนของอาเซียน ไปจนถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างการจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวอาเซียนหลังโควิด-19 แผนงานเพื่อขับเคลื่อนอาเซียนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และแผนยุทศาสตร์อาเซียนในการรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image