สภาธุรกิจไทย-ลาว ผนึกสถานทูตไทย มช. และ ปตท. จัดสัมมนาด้านการค้าและการลงทุนของไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

สภาธุรกิจไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง บมจ. ปตท. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยศูนย์อาเซียนศึกษา จัดการสัมมนาด้านการค้าและการลงทุนของไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นเวลาสองวันคือ วันที่ 24 – 25 กันยายน ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมกันหารือถึงปัญหาและอุปสรรคของผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกิจในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม รวมทั้งหาแนวทางในการแก้ไขเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย โดยมีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาจำนวน 135 ท่าน ซึ่งล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และนักวิชาการจากภาคการศึกษาที่จะมาร่วมทำเวิร์กช็อปเป็นเวลา 2 วันเพื่อหารือและรับทราบปัญหาของนักธุรกิจไทยที่ดำเนินธุรกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งหาแนวทางและข้อสรุปร่วมกันในการแก้ไขปัญหา

นายวิทวัส ศรีวิหค รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ประธานเปิดงานสัมมนาการค้าและการลงทุนของไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้กล่าวถึงโอกาสและความท้าทายของธุรกิจไทยในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงว่า ประเทศไทยมีชัยภูมิที่มีศักยภาพและยังได้เปรียบในการเป็นจุดศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนโดยเฉพาะอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา ไทยลงทุนในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงคิดเป็น 6.373 ล้านดอลล่าร์ และในปีนี้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปีที่แล้ว นอกจากนี้ ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงยังมีแรงงานราคาต่ำกว่าประเทศไทย ซึ่งเป็นโอกาสของการขยายการลงทุนของนักลงทุนไทย ทั้งนี้นายวิทวัส ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการไทยมุ่งจับชีพจรของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เรียนรู้เรื่องการเมือง วัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อท้องถิ่น เรียนรู้ภาษา ศึกษากฎหมาย กติกา ข้อบังคับ และแนวปฏิบัติในการค้าการลงทุน โดยเน้นการทำธุรกิจแบบยั่งยืน นอกจากนี้ ยังแนะนำกลยุทธ์ในการเจาะตลาดอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถศักยภาพแรงงาน การเจาะตลาดใหม่ การพัฒนาคุณภาพสินค้า และการเชื่อมโยงเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง

โดยในการสัมมนาครั้งนี้ได้มีการจัดเสวนาพิเศษในหลาย ๆ หัวข้อที่น่าสนใจ โดยหัวข้อหนึ่งในนั้นเป็นการเสวนาพิเศษโดยตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ นายนภดล เทพพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ นายพิษณุ สุวรรณชฎ เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และนางจีรนันท์ วงษ์มงคล อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงพนมเปญ เกี่ยวกับ “แนวทาง ปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” ซึ่งผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ได้ให้ความเห็นที่ตรงกันว่าประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนามนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงประเทศกำลังขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว รวมทั้งกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจากคนรุ่นหนุ่มสาว ประเทศไทยมีความได้เปรียบในแง่ของความใกล้ชิดและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอี จึงควรมองถึงการค้าการลงทุนในประเทศเหล่านี้และมุ่งสร้างความสัมพันธ์หรือคอนเนคชั่นรวมทั้งปรับทัศนคติของตน โดยศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อธุรกิจ ที่สำคัญคือขอให้ผู้ประกอบการไทยนึกถึงสถานทูตไทยในแต่ละประเทศว่าเป็นแหล่งข้อมูลในการตัดสินใจเบื้องต้น ซึ่งทางสถานทูตยินดีที่จะให้ข้อมูลและการสนับสนุนด้านคำแนะนำต่าง ๆ

Advertisement

นายนภดล เทพพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ กล่าวเสริมว่า การสัมมนาครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย โดยได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนไทยทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและที่อยู่ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และสมาคมนักธุรกิจไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นทีมประเทศไทยที่เดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยเราได้นำโมเดลความสำเร็จของประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น จีน มาวิเคราะห์เพื่อหาโมเดลอันเป็นรูปธรรมเฉพาะของไทยที่จะสนับสนุนการค้าและการลงทุนของไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นความร่วมมือกันทั้งหมดทั้งภาครัฐและเอกชนสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งผลสรุปของการสัมมนานั้นเราเห็นพ้องกันว่าจำเป็นจะต้องมีศูนย์ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs โดยมีพี่เลี้ยงเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมาแล้ว อาทิ ปตท. เอสซีจี ฯลฯ แต่ทั้งนี้โมเดลที่ได้อาจต้องปรับใช้ในแต่ละประเทศตามความแตกต่างทางสภาพแวดล้อมและข้อบังคับต่าง ๆ และหวังว่าจะมีการจัดสัมมนาเช่นนี้ในครั้งต่อ ๆ ไป โดยอาจจะลงไปเน้นเพิ่มเติมในส่วนที่ยังเป็นช่องโหว่เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อความเจริญ มั่งคั่งและยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยและของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป

ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บมจ. ปตท. ซึ่งเป็นผู้ร่วมสนับสนุนการสัมมนาครั้งนี้ กล่าวว่า การสัมมนาดังกล่าวถือเป็นกลไกในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการและหารูปแบบการเชื่อมโยงการค้าการลงทุน (Trade and Investment Connection) ร่วมกันในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีคณะทำงานด้านการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ (D4) ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้ดูแลและส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งเป็นประเทศที่มีความสำคัญยิ่งต่อการค้าการลงทุนของไทย ซึ่งจากการสัมมนาทั้งสองวันนี้ทำให้เราได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริงจากผู้ปฏิบัติจริงในพื้นที่ที่จะนำมาใช้งานได้

นายจตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว, ประธานคณะทำงานไทย-ลาว และผู้จัดการธนาคารกรุงไทย สาขานครหลวงเวียงจันทน์ ทางสภาธุรกิจไทย-ลาว กล่าวถึงความเป็นมาของการสัมมนาว่า ทางสภาธุรกิจไทย-ลาว ได้เตรียมการสัมมนานี้มาตั้งแต่ปี 2557 และน่าจะเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง และเป็นครั้งแรกของการร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนไทย โดยมีภาคการศึกษาคือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ทำงานทางด้านวิชาการเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลออกมา เราก้าวไปถึงระดับที่เรารู้ว่าปัญหาร่วมกันของการสนับสนุนการค้าและการลงทุนของไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงคืออะไร สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือหาโมเดลใหม่ให้ได้ว่าจะต้องมีองค์กรที่มีบทบาทชัดเจนในการสนับสนุนการค้าการลงทุนของไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และควรจะมีหน่วยงานใดบ้างที่จะเกี่ยวข้องในบทบาทนี้

การสัมมนาด้านการค้าและการลงทุนของไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงนั้น ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยศูนย์อาเซียนศึกษาเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบโครงการและประสานงานโดยตรงกับสภาธุรกิจไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและสถานเอกอัครราชทูตไทยรวมทั้งผู้สนับสนุนหลักคือ บมจ. ปตท. โดยทางศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ทำงานด้านวิชาการ โดยเฉพาะการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมมนาครั้งนี้เพื่อนำไปเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนต่อไป โดยเฉพาะผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักลงทุนไทยที่กำลังสนใจในการทำการค้าและลงทุนในประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image