โกลบอลโฟกัส : “ค็อป26” วาระคน วาระโลก

(ภาพ-Ethan Swope/AP)

“ค็อป26” วาระคน วาระโลก

นับตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม เรื่อยไปนานกว่า 2 สัปดาห์ บรรดาผู้นำของนานาประเทศทั่วโลก เจ้าหน้าที่ระดับสูง เรื่อยไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสภาพภูมิอากาศ จะไปรวมตัวกันที่นครกลาสโกว์ สก็อตแลนด์ เพื่อประชุมหารือกันว่า จะทำอย่างไรกับสภาพภูมิอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงผันแปรอย่างรุนแรงอยู่ทั่วโลกในเวลานี้
การประชุมสุดยอดดังกล่าวเป็นการประชุมครั้งที่ 26 หลังจากที่นานาชาติร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งเรียกว่า “กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ “ยูเอ็นเอฟซีซีซี” เมื่อปี 1992 เพื่อกำหนดกฏข้อบังคับพื้นฐานและคาดหวังถึงความร่วมมือในระดับโลกเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นั่นเป็นครั้งแรกที่ประเทศส่วนใหญ่ของโลก “ยอมรับ” ในข้อเท็จจริงที่ว่า โลก จำเป็นต้องควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนที่เป็นตัวผลักดันให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น
“ค็อป26” เป็นคำย่อที่มาจากคำเต็มว่า “การประชุมภาคีครั้งที่ 26” (the 26th Conference of Parties) ของยูเอ็นเอฟซีซีซี “ภาคี” ที่ว่านี้ ก็คือ บรรดาประเทศทั้ง 196 ประเทศ ที่ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญานี้ บวกกับ สหภาพยุโรป (อียู) นั่นเอง
สหประชาชาติ มอบหมายให้ สหราชอาณาจักร (ยูเค) และ อิตาลี ทำหน้าที่เป็นชาติเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ขึ้นที่กลาสโกว์ ในสก็อตแลนด์ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม เรื่อยไปจนถึง 12 พฤศจิกายน หลังจากการประชุมถูกเลื่อนมานาน 1 ปีเต็ม สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
สิ่งที่บรรดาผู้เข้าร่วมประชุมยึดถือเป็นแกนในการพิจารณากำหนดความเคลื่อนไหวต่อไป ก็คือ รายงานล่าสุดของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ไอพีซีซี ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคม ปีนี้
รายงานที่เป็นผลจากการประมวลข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อนำมาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไอพีซีซี ครั้งล่าสุดนี้ ใช้ถ้อยคำที่เข้มข้นรุนแรงเป็นพิเศษเพื่อชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมของมนุษย์ได้ทำให้โลกที่เราใช้เป็นที่อยู่อาศัยยังชีวิตร้อนขึ้นอย่างชัดเจน ไร้ข้อถกเถียงอีกต่อไป ทั้งยังระบุว่า ภูมิอากาศของโลกในเวลานี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และรุนแรง เข้มข้นกว่าที่เคยคาดกันก่อนหน้านี้
กลายเป็นที่มาของภาวะอากาศสุดโต่งทั้งหลาย, น้ำท่วมเฉียบพลัน หนักหน่วง, คลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้นและถี่ยิบขึ้น, นำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก และ ก่อให้เกิดภาวะหลอมละลายของภูเขาและแพน้ำแข็งขั้วโลก ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก
ข้อมูลใหม่ที่ไอพีซีซีนำเสนอให้ทุกคนครุ่นคิดก็คือ ณ เวลานี้ ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยออกไปจากพื้นผิว ไปสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลกมากพอแล้วและจะอยู่นานเพียงพอที่จะทำให้โลกร้อนขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงราวกลางศตวรรษนี้ แม้ว่าทุกประเทศจะร่วมมือกันปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงพร้อมกันโดยเร็วและในทันที-สถานการณ์สมมุติที่ยากเหลือเกินที่จะเกิดขึ้นจริงได้-ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม โลกและคนบนโลก ยังคงมีโอกาสหลงเหลืออยู่บ้าง นั่นคือ ถ้าหากทุกประเทศสามารถรวมใจรวมพลังกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ที่เรียกกันว่า “เน็ตซีโร” ได้ภายในปี 2050 เราก็จะสามารถดึงให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลดลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 1.5 องศาเซลเซียสได้ในครึ่งหลังของคริสตศตวรรษ 21 นี้
ทำอย่างไรโลกถึงจะบรรลุถึงเป้าหมาย “เน็ตซีโร” ที่ว่านั้นได้ หรือให้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือภารกิจของ “ค็อป26” ครั้งนี้

******

การประชุมค็อป26 จะเริ่มต้นด้วยการประชุมระดับ “สุดยอด” คือการประชุมของบรรดาผู้นำประเทศที่เป็นภาคี ซึ่งคาดกันว่า จะมีผู้นำของชาติต่างๆ เข้าร่วมในการประชุมหนนี้ราว 120 ประเทศ เป้าหมายเพื่อกำหนดนโยบายหรือแนวทางเพื่อแสดงให้เห็นถึง “พันธะมุ่งมั่นในทางการเมือง” ในอันที่จะชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
ถัดจากนั้นจะเป็นการประชุมระดับคณะทำงาน ซึ่งปกติมักจะนำโดยรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ นำนโยบายและแนวทางที่ผู้นำกำหนดไว้มาเจรจา แลกเปลี่ยนและต่อรอง เพื่อกำหนดท่าที, ประกาศพันธะสัญญาใหม่ๆ และประกาศแนวคิดริเริ่มใหม่ๆ
ทั้งหมดนั้นจะยืนอยู่บนพื้นฐานของนโยบายของประเทศ, การหารือซึ่งกันและกันนานนับเดือนก่อนหน้าการประชุม เรื่อยไปจนถึงข้อเสนอที่กลุ่มประเทศต่างๆ หรือคณะทำงานของยูเอ็นและผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ จัดทำขึ้นไว้ก่อนหน้าการประชุม
นอกเหนือจากผู้นำและคณะทำงานภาครัฐแล้ว ยังมีองค์กรพัฒนาเอกชน โดยเฉพาะเอ็นจีโอที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม กับบรรดาผู้นำกิจการธุรกิจสำคัญๆ ทั้งหลายเข้าร่วมอยู่ในการประชุมครั้งนี้ มุ่งเป้าการแลกเปลี่ยนหารือประเด็นของสาธารณชน และแนวคิดริเริ่มเพื่อแสดงบทบาทของภาคธุรกิจเอกชนในการจัดการกับปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะในส่วนของผลกระทบที่ภาวะโลกร้อนมีต่อทั้ง รัฐที่มีสภาพเป็นเกาะ, ป่าไม้ หรือ เกษตรกรรม เป็นต้น
ส่วนที่สำคัญในค็อป26 ก็คือ การนำเสนอรายงานของประเทศต่างๆ ว่าด้วย “แผนปฏิบัติการด้านภูมิอากาศแห่งชาติ” ซึ่งทุกประเทศต้องนำเสนอต่อที่ประชุมทุกๆ 5 ปี ตามข้อกำหนดในความตกลงปารีส 2015
รายงานดังกล่าว ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “เอ็นดีซี” เป็นการบอกเล่าถึงการดำเนินการตามแผนที่เคยนำเสนอไว้เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา และการประกาศเป้าหมายของแต่ละชาติในอีก 5 ปีถัดไปซึ่งหมายถึงปี 2030 ว่าจะเป็นอย่างไรและมีส่วนช่วยเหลือต่อการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนมากน้อยเพียงใด
ความตกลงปารีส กำหนดให้ต้องนำเสนอรายงานเอ็นดีซี ก็จริง แต่เปิดทางให้มีการลดหย่อนเบี่ยงเบนจากเป้าหมายที่แต่ละประเทศวางไว้ได้ ทำให้ เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2015 จึง “อ่อนแอเกินไป” จนไม่สามารถจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิของโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ได้
ครั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของ ค็อป26 ก็คือ การเร่งรัดเป้าหมายเหล่านี้ให้พุ่งเป้าไปสู่ “เน็ตซีโร” ภายในปี 2050 นี้ให้ได้
อีกประเด็นสำคัญที่จะเป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จหรือล้มเหลวของค็อป26 ก็คือ การเพิ่มความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนต่อบรรดาประเทศยากจน เพื่อให้สามารถปรับตัวเองไปสู่การเป็นชาติที่ใช้พลังงานสะอาดและปรับตัวให้สามารถอยู่รอดภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
ความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้ชาติมั่งคั่งทั้งหลายที่เป็น “ตัวการ” หลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ ได้แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงให้กับชาติยากจน หรือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่มีส่วนน้อยมากในการทำให้โลกนี้ร้อนขึ้น
ชาติเศรษฐีเคยตกลงรับปากไว้เมื่อปี 2009 ว่า จะจัดตั้งเงินกองทุนเพื่อการนี้ให้ได้ถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 ซึ่งไม่ได้มีปรากฏให้เห็นจนกระทั่งถึงบัดนี้
สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ซึ่งในประวัติศาสตร์เป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกใหญ่ที่สุด เตรียมประกาศพันธะเพิ่มเงินกองทุนโลกร้อนดังกล่าวในการประชุมครั้งนี้ ในขณะที่บรรดา ธนาคาร, กิจการธุรกิจ, บริษัทประกันภัยและภาคเอกชนทั้งหลายก็จะถูกเรียกร้องให้ “ทำหน้าที่ในส่วนของตนเอง” ให้มากขึ้นกว่าเดิมในการประชุมครั้งนี้เช่นเดียวกัน
เป้าหมายอื่นๆ มีอาทิ การดำเนินการตามพันธะว่าด้วยการค่อยๆ ลดการใช้ถ่านหิน, การแสวงหาทางออกเพื่อการอนุรักษ์, ฟื้นฟู หรือสร้างสรรค์พื้นที่เก็บกักคาร์บอนในธรรมชาติ อย่างเช่นป่าไม้, การทำความตกลงเพื่อให้สามารถบังคับใช้ ระบบซื้อขายคาร์บอน ตามที่กำหนดเป็นเค้าโครงไว้ในความตกลงปารีสเป็นต้น
คำถามสำคัญในเวลานี้ก็คือ มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่ค็อป26 จะประสบความสำเร็จในเป้าหมายเหล่านี้?
ผู็เชี่ยวชาญหลายคน แม้แต่ในสหประชาชาติเอง ไม่ได้คาดหวังมากมายนักกับการประชุมหนนี้ สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ, สถานการณ์ด้านพลังงาน ที่ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนขึ้นในประเทศอย่างจีน และในสหภาพยุโรปเอง กลายเป็นความท้าทายใหม่ที่คาดไม่ถึง ในขณะที่อีกหลายชาติ อย่างเช่นรัสเซีย กับออสเตรเลีย ยังดูเหมือนไม่เต็มใจที่จะประกาศพันธะที่เข้มแข็งมากกว่าที่เคยประกาศเอาไว้ ในขณะที่อินเดียก็ยังไม่ประกาศพันธะใดๆ ออกมา
ในขณะที่ จีน เอง ยังไม่นำเสนอรายงานเอ็นดีซีของตนด้วยซ้ำไป!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image